กองทุน ปรับลด "พอร์ตหุ้น" ระยะสั้น ปิดเสี่ยง เงินเฟ้อพุ่ง -เฟดเร่งขึ้นดบ.

กองทุน ปรับลด "พอร์ตหุ้น" ระยะสั้น  ปิดเสี่ยง เงินเฟ้อพุ่ง -เฟดเร่งขึ้นดบ.

“หุ้นไทย”ดิ่งหนักตามตลาดโลกกังวลเงินเฟ้อ -เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ด้านกองทุน แห่ปรับพอร์ตลดน้ำหนักลงทุนหุ้นระยะสั้น "บลจ. ยูโอบี" ประเมิน ดัชนี 1,575 จุด น่าสนใจลงทุน "บลจ.กสิกรไทย"แจง เขย่าพอร์ตตามสถานการณ์ พร้อม ถือเงินสดเพิ่มขึ้น รอช้อนซื้อที่1,600 จุด

ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (9 พ.ค.65) ปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขาย โดยปิดตลาดที่ 1,604.49 จุด ลดลง 25.09 จุด หรือ 1.54 จุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง จากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาด จากอัตราเงินเฟ้อที่สูง 

นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,493.74 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 7,284.14 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 430.56 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 8,347.32 ล้านบาท

 

กองทุน ปรับลด \"พอร์ตหุ้น\" ระยะสั้น  ปิดเสี่ยง เงินเฟ้อพุ่ง -เฟดเร่งขึ้นดบ.

 

 

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยร่วงแรง25 จุด เหตุนักลงทุนแพนิคกังวลเงินเฟ้อเดือนพ.ค.พุ่งสูงสุดทำให้เฟดยังจำเป็นต้องดอกเบี้ยขึ้นแรง และคาดจะลดขนาดงบดุลต่อเนื่องกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจได้เห็นในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อไตรมาส 4 ปีนี้

สำหรับการลงทุนช่วงนี้แนะนำปรับพอร์ตลงทุนและถือเงินสดเพิ่มเป็น30%จากก่อนหน้าที่ไม่มีการแนะนำให้ถือเงินสด ซึ่งในช่วงที่ตลาดแพนิคปรับตัวลงแรงเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนได้ โดยแนะ ลงทุนหุ้นเปิดเมือง 30% หุ้นที่ได้ประโยชน์จากบอนด์ยิลด์ปรับตัวขึ้น 30% และอีก 10% ลงทุนหุ้นหุ้นขนาดกลางพื้นฐานดี และมีผลปันผลสูง

นายณัฐพล คำถาเครือ   ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า กล่าวว่า  ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงวานนี้  จากปแรงกดดันมาจากความกังวลในสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน, แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด, และสภาพคล่องในตลาดการเงินที่กำลังลดลงจากการลดขนาดงบดุลของเฟด

คาดว่า ดัชนีฯ ในเดือนพ.ค. มองกรอบ แนวรับ 1,580-1,600 จุด   และแนวต้าน 1,650-1,670  จุด ขณะที่ในวันนี้ ( 10พ.ค.) คาดจะแกว่งในกรอบ 1,590-1,620 จุด โดยอาจเห็นจังหวะฟื้นตัวในลักษณะ Technical Rebound หลังจากที่ทรุดตัวลงมาลึกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แนะนำเก็งกำไรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เช่น  บมจ. ไทยยูเนี่ยน  กรุ๊ป (TU) ,  บลจ.ซีเฟรชอินดัสตรี  (CFRESH) 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์นักกลยุทธ์การลงทุน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับฐานพร้อมกับตลาดหุ้นทั่วโลก แม้พื้นฐานไม่เปลี่ยน  จึงสะท้อนได้ว่าความต้องการลงทุน (risk appertite) ของนักลงทุนที่ต่ำมาก พร้อมที่จะขายได้เสมอ 

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนช่วงไตรมาส 2 นี้  ทางบลจ. ยูโอบี เน้นการปรับพอร์ตระยะสั้นในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นไทย เนื่องจาก ในระยะสั้นต้องระวังความเสี่ยงจากตลาดหุ้นโลกโดยรวม นโยบายการควบคุมโควิด และการเดินทางของประเทศในเอเชียต่างๆเป็นหลัก แต่เรายังมองหุ้นไทยน่าสนใจในเชิงพื้นฐาน  ซึ่งหากดัชนีปรับตัวลดลงหลุด 1,600 จุด  หรืออยู่ที่ระดับ 1,575 จุด   ยังมองเป็นโอกาสเข้าลงทุน

รวมถึงบริษัทได้ปรับธีมลงทุนหุ้น ทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศ ที่จากเน้นลงทุนหุ้นเติบโตสูง (Growth) ไปเป็นเน้นมูลค่า (Value) ต่อเนื่อง เพราะมองว่าการกลับไปลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นไม่ง่าย และอาจเห็นทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงในปี 2567 สำหรับกรอบดัชนีหุ้นไทยในกลางปีนี้ 1,570-1,670 จุด ส่วนปลายปีนี้คงไว้ที่1,620-1,770 จุด 

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ. กสิกรไทย กล่าวว่า  ในไตรมาส2ปี 2565 ตลาดยังขาดปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้นการลงทุน ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ วมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้ฟันด์โฟลว์น่าจะไหลเข้าน้อยกว่า ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก  ส่งผลดัชนีแกว่งตัวในกรอบ  1,600-1,650 จุด 

สำหรับที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเพิ่มการถือเงินสดมากขึ้น ซึ่งประเมินกว่าหากดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมาอยู่ที่  1,600 จุด มองว่าเป็นระดับที่เริ่มน่าสนใจเข้าลงทุน ซึ่งกลยุทธ์การลงทุน ของบริษัทจะทยอยปรับพอร์ตการลงทุนไปตามสถานการณ์มาตลอด ในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และสภาพคล่องทั่วโลกที่ลดลง

นายสมชัย อมรธรรมผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย และฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า  ตลาดหุ้นไทยและหุ้นโลก ผันผวนระยะสั้น จากหลายปัจจัยกดดัน ซึ่งในเดือน พ.ค. นี้  บริษัทมีการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นลงเล็กน้อย เน้นกระจายความเสี่ยงมากขึ้น โดยลดการกระจุกตัวการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่หันไปถือครองหุ้นโลกและหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูงเพิ่มขึ้น