ททท.หนุนรัฐปลุก "ปีท่องเที่ยวไทย 2566" สธ. ชงเลิก พรก.ฉุกเฉิน-ไทยแลนด์พาส

ททท.หนุนรัฐปลุก "ปีท่องเที่ยวไทย 2566"  สธ. ชงเลิก พรก.ฉุกเฉิน-ไทยแลนด์พาส

“ททท.” ชง “ศบศ.” วันนี้ หนุนประกาศ “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2566” กู้ยอดต่างชาติเที่ยวไทย เร่งฟื้นรายได้ 3 ล้านล้าน แตะ 80% ปีหน้า ขอขยายสิทธิ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” ส่วนต่อขยายเพิ่ม 1 ล้านสิทธิใหม่ ต่ออายุ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4-ทัวร์เที่ยวไทย” เดินทางถึง 30 ก.ย.

ด้าน “อนุทิน” เตรียมเสนอ ศบค. ยกเลิก "Thailand Pass" กลุ่มคนไทย หลังโควิด-19 ควบคุมได้ พร้อมพิจารณา สิ้น พ.ค.ต่อ พรก.ฉุกเฉินหรือไม่ ลุยฉีดวัคซีนเข็ม 3 ตามเป้า 60% ก่อนเป็นโรคประจำถิ่น

วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) จะมีการพิจารณาข้อเสนอจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นภาคท่องเที่ยวทั้งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย ขับเคลื่อนรายได้รวมการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย รับการแข่งขันศึกเปิดประเทศช่วงชิมขุมทรัพย์นักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 คลี่คลาย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.จะเสนอขอให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณานโยบายประกาศ “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2566” หรือ Visit Thailand Year 2023 เพิ่มอีก 1 ปี ต่อเนื่องจากที่รัฐบาลประกาศปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565 ก่อนหน้านี้ เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย สร้างแรงส่งหรือโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องจากปี 2565 ไปจนถึงปี 2566-2567

ส่วนเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2566 ยังคงเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงเป้าหมายฟื้นรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 80% ของรายได้รวมฯ 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยเป็นรายได้จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน คิดเป็นการฟื้นตัว 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562

ขณะที่ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565 ยังคงเป้าหมายฟื้นรายได้รวมจากการท่องเที่ยวที่ 50% ของรายได้รวมฯเมื่อปี 2562 โดยเป็นรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีแนวโน้มเดินทางเข้ามา 7-10 ล้านคน จากปัจจัยการเปิดด่านชายแดน นักท่องเที่ยวรัสเซียมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัว และรัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มเปิดประเทศ ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของต่างชาติเที่ยวไทย ยังคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจีนจะเปิดประเทศ อนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวต่างประเทศเมื่อไร

 

ทัวริสต์ 1-5 พ.ค.เฉียด 2 หมื่นคนต่อวัน

หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. เห็นชอบยกเลิกระบบ Test & Go ให้เหลือเพียง 2 รูปแบบ ได้แก่ กลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นไป ถือว่าเป็น "จุดเปลี่ยนของประเทศไทย" ที่มีการผ่อนคลายมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ เป็นการเปิดประเทศใกล้เคียงกับภาวะก่อนเจอโควิด-19 ระบาด

จากสถิติเมื่อวันที่ 1-5 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 1.9 หมื่นคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.ซึ่งสูงสุดที่ระดับ 1.2-1.3 หมื่นคนต่อวัน ทั้งยังได้รับรายงานจากสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศเกี่ยวกับสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี เช่น สำนักงานปารีส ระบุว่าดีมานด์การจองตั๋วเครื่องบินมาไทยของนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสสูงขึ้น 4 เท่า หลังมีประกาศยกเลิก Test & Go”

ทั้งนี้ ยืนยันว่าปัจจุบันยังจำเป็นต้องให้นักท่องเที่ยวลงทะเบียนผ่านระบบ “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) เพื่อคัดกรองว่าผู้ที่เดินทางเข้าไทยนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือไม่ รวมถึงการทำประกันตามที่รัฐบาลไทยกำหนด

ส่วนจะมีการพิจารณายกเลิกระบบไทยแลนด์พาสในเร็วๆ นี้หรือไม่นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะขอดูข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ ถ้าเกิดสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงต่อเนื่อง และมีข้อมูลชัดเจนอ้างอิงได้ว่าผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศไทย ก็น่าจะมีการพิจารณาผ่อนคลายหรือยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นตามลำดับ

 

ขอ 1 ล้านสิทธิใหม่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4”

ส่วนการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายมีจำนวนคนไทยเที่ยวไทยปีนี้ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 13 ล้านคน-ครั้ง หลังจากสถิติ 3 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางสะสมแล้ว 29 ล้านคน-ครั้ง ทาง ททท.จะเสนอขอให้ที่ประชุม ศบศ.พิจารณาขยายจำนวนสิทธิและระยะเวลาดำเนินโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” ส่วนต่อขยาย อีกจำนวน 1 ล้านสิทธิ (คืน) ใหม่ เพิ่มเติมจาก 2 ล้านสิทธิเดิมที่ประชาชนใช้สิทธิครบแล้วเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยจะใช้งบประมาณจากวงเงินเดิมของโครงการฯที่เหลืออยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท และยังคงสนับสนุนคูปองอาหารและแหล่งท่องเที่ยว 40% หรือสูงสุด 600 บาทต่อวัน (ทุกวัน) รวมทั้งการคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินเช่นเดิม

ส่วนการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะเสนอให้สามารถใช้สิทธิเดินทางวันสุดท้ายได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.2565 จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ เมื่อข้อเสนอดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจาก ศบศ. ก็จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เมื่อ ครม.อนุมัติ ก็สามารถเพิ่ม 1 ล้านสิทธิใหม่ในทันที ประชาชนสามารถเข้าไปใช้สิทธิได้เลย

 

ลุ้นเคาะต่ออายุ “ทัวร์เที่ยวไทย” ถึง 30 ก.ย.

นอกจากนี้ ททท.จะเสนอขอให้ ศบศ.ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ด้วย ให้สามารถใช้สิทธิเดินทางได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้เช่นกัน จากกำหนดเดิมสิ้นสุดวันเดินทางเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปตามที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวเรียกร้องขอให้ต่ออายุโครงการฯ หลังเหลือจำนวนสิทธิ 135,962 สิทธิ จากทั้งหมด 200,000 สิทธิ ตามข้อมูลปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา

 

เล็งยกเลิกไทยแลนด์พาสกลุ่มคนไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้อัตราเสียชีวิตและผู้ป่วยหนักแนวโน้มลดลง เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรค (คร.) คาดการณ์หากผ่านสงกรานต์มาระยะหนึ่งแล้วความร่วมมือประชาชนยังอยู่ระดับนี้ และอัตราการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 20% สอดคล้องกับนโยบาย 3 พอ คือแพทย์พอ ยาพอและเตียงพอก็จะค่อยๆ เดินสู่แนวทางสู่โรคประจำถิ่นให้ได้มากที่สุด

“อัตราผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาต่างประเทศน้อยกว่าในประเทศอย่างวันที่ 5 พ.ค. พบติดเชื้อ 9 ราย แต่ในประเทศพบ 9,000 ราย ต่างกัน 9 ต่อ 9,000 เทียบกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะติดตามต่อระยะสั้นๆ หากสถานการณ์ยังควบคุมได้ ก็จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น เน้นเศรษฐกิจ การตรวจ และการเปิดโรงเรียน โดยระบบสาธารณสุขมีความพร้อมรองรับ 3 พอ ให้ประชาชนใช้ชีวิตและทำมาหากินมากที่สุด” นายอนุทินกล่าว

สำหรับการเปิดประเทศมีการผ่อนคลายมากขึ้น การเข้าประเทศเหลือการให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง ในระยะต่อไปจะเริ่มมีการยกเลิกการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass ในกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้ามาในประเทศก่อน เพราะเป็นผู้ที่มีสิทธิเข้าประเทศไทยได้เสรี ไม่มีประกันสุขภาพก็ต้องให้เข้า เพราะมีสิทธิรักษาพยาบาลในประเทศอยู่แล้ว ส่วนชาวต่างชาติจะมีการพิจารณาในระยะต่อไป

 

ชงเลิก พรก.ฉุกเฉิน สิ้น พ.ค.

ส่วนกรณี พรก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในเดือน พ.ค.นี้ จำเป็นต้องต่อออกไปอีกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีกิจกรรมมากมาย จึงอยู่ที่ ศบค.พิจารณา แต่การที่ยังคง พรก.ฉุกเฉินไว้ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อน แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน แต่เมื่อมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นโดยสมบูรณ์ คือ ติดเชื้อไม่เสียชีวิต หายาได้ตามร้านขายยาทั่วไป ดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในส่วนของ พรก.ฉุกเฉิน ก็คงไม่จำเป็น เนื่องจากตอนแรกที่มี พรก.ฉุกเฉิน เพราะมีความจำเป็นในการควบคุมสถานการณ์ เนื่องจาก สธ. ไม่มีอำนาจดำเนินการบางอย่าง เช่น การสั่งกักตัว หรือ ปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ

ทั้งนี้ ถ้ายกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ประเทศไทยมีกลไกรองรับกรณีโรคระบาดไว้อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่ายกเลิก หรือ ไม่ยกเลิก การประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีจะขยายต่อ ก็ต้องผ่าน ศบค. ในส่วนทางด้านสาธารณสุขนั้น กระทรวงสาธารณสุขพร้อมอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ที่ต้องมีไว้ เพราะการเดินทาง การตรวจเชื้อ การแยกกัก การติดตาม การบังคับใช้กฎหมายในการปิดสถานประกอบการต่างๆ เราจะเอาหมอไปทำหน้าที่เป็นตำรวจไม่ได้ ต้องใช้เจ้าพนักงานที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้

 

เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ได้ 60%

ส่วนมาตรการที่จะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นให้ได้ตามเป้า 60% ตามเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน กล่าวว่า จะแจ้งประชาชนให้ทราบข้อมูลว่าการฉีดวัคซีนมีความสำคัญและจำเป็น มีผลดีต่อประชาชน โดยคนที่ฉีดเข็ม 2 แล้วควรเข้ารับเข็ม 3 และรับเข็ม 3 แล้วควรรับเข็ม 4

“กว่า 3 เดือนแล้วที่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 90% เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีน ชัดเจนว่าความอันตรายของโรคอยู่ที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ก็จะลดอันตราย และกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น ขอความร่วมมือประชาชนให้มาฉีดวัคซีนทุกเข็ม"