จัดว่าเด็ด เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพา จบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

จัดว่าเด็ด  เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพา จบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ปัญหาแรงงานขาดแคลน คือแรงผลักที่สำคัญต่อการคิดประดิษฐ์เครื่องมือทุนแรงและอำนวยความสะดวก ล่าสุดกรมวิชาการเกษตร ผลิตเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนแรงงานได้มากขึ้นอีกทั้งยังไม่ทำลายต้นและได้เมล็ดที่มีคุณภาพด้วย

มานพ  รักญาติ วิศวกรการเกษตร ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า   กาแฟพันธุ์โรบัสตาที่ปลูกกันมากในพื้นที่ภาคใต้ วิธีการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรจะใช้ที่รองรับผลกาแฟทำจากตาข่ายไนล่อนขนาด 1.20x1.50x0.50 เมตร (กว้างxยาวxสูง) รองรับผลกาแฟขณะทำการเก็บเกี่ยว ส่วนการเก็บเกี่ยวกาแฟพันธุ์อะราบิกาทางภาคเหนือ จะใช้ตะกร้าพลาสติก ขนาด 35x45x12 เซนติเมตร หรือบางพื้นที่จะมีการใช้ตะกร้าไผ่สานขนาดใกล้เคียงกันคล้องคอไว้ขณะทำการเก็บเกี่ยว

 

จัดว่าเด็ด  เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพา จบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จัดว่าเด็ด  เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพา จบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

การเก็บเกี่ยวผลกาแฟในประเทศไทย ปัจจุบันใช้แรงงานคนเก็บเป็นหลักทำให้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวมักจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแต่ละสวนมีความต้องการแรงงานพร้อมๆ กัน โดยการเก็บผลกาแฟด้วยแรงงานจะมีต้นทุนค่าเก็บประมาณ 5-8 บาทต่อกิโลกรัมผลสด ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงและยังไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรมาช่วยในการเก็บเกี่ยว

ทางผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาวิจัยเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟเพื่อนำมาใช้เก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมซึ่งจะเป็นทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวผลกาแฟในประเทศ และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลกาแฟได้

ต้นแบบเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพา ประกอบด้วย ก้านรูดผลกาแฟ 2 ก้าน ยาว 10 เซนติเมตร ด้านข้างก้านติดเส้นลวดสปริง 2 เส้น สำหรับรูดผลกาแฟออกจากต้น ก้านรูดผลกาแฟทำงานที่ความเร็วเชิงเส้น 4.18 เมตรต่อวินาที ถ่ายทอดกำลังด้วยเฟือง ต้นกำลังเป็นมอเตอร์กระแสตรง 12 โวลต์ 6 วัตต์ ใช้แบตเตอรี่ชนิดแห้งขนาดเล็ก 12 โวลต์ ให้กำลังไฟฟ้า พร้อมสายสะพาย โดยรอบตัวเครื่องติดริ้วพลาสติกเพื่อป้องกันผลกาแฟสดกระเด็นออกจากที่รองรับขณะทำการเก็บเกี่ยว

ส่วนการใช้งานเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟทั้งพันธุ์โรบัสตาและพันธุ์อะราบิกา ใช้ตาข่ายไนล่อนขนาด 1.20x1.50x0.50 เมตร รองรับผลกาแฟขณะเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่อง

 ผลการทดสอบการใช้งานเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟ พบว่า การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมีความรวดเร็วมากกว่าการใช้คนเก็บถึง 2 เท่า

จากการศึกษาผลกระทบของการใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพาที่พัฒนาขึ้น พบว่า กิ่งผลกาแฟที่เก็บด้วยเครื่องไม่ได้รับความเสียหายและยังมีขั้วผลยังติดอยู่ที่ก้านกิ่งผล ส่วนใบที่ติดกิ่งผลสุกบางส่วนจะร่วงหล่นปนกับผลกาแฟที่เก็บเกี่ยวได้ จากการเก็บข้อมูลการติดผลผลิตของกาแฟที่เก็บเกี่ยวด้วยเครื่องในฤดูกาลถัดไป พบว่า ต้นกาแฟที่เก็บเกี่ยวด้วยเครื่องแตกใบและออกผลเป็นปกติ

“ถ้าเกษตรกรจะนำเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพามาใช้งาน ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ เก็บเกี่ยวในช่วงที่ผลกาแฟสุกแก่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของต้น หรือผลกาแฟสุกแก่ทั้งต้น จะทำให้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็วเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวผลกาแฟของเกษตรกรชาวสวนกาแฟและช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลกาแฟได้”

          ชาวสวนกาแฟสนใจติดต่อสอบถามและขอต้นแบบเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟแบบพกพาได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ เลขที่ 235 หมู่3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100 โทร.08 7786 3862

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนรับต้นแบบนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อให้กระจายไปสู่เกษตรกรชาวสวนกาแฟแล้ว โดยมีราคาเครื่องละประมาณ 4,900 บาท

 

ปัจจุบันกาแฟที่ปลูกในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ หลักๆ คือ

  1. พันธุ์อะราบิกา ปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก และแพร่ อีกหนึ่งสายพันธุ์ คือ พันธุ์
  2. โรบัสตา ปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมทั้งประเทศ ประมาณ 268,211 ไร่ ผลผลิต 21,773 ตัน (เมล็ดกาแฟ)