ประกันฯ กู้‘หมื่นล้าน’จ่ายโควิด รอบอร์ดไฟเขียว

ประกันฯ กู้‘หมื่นล้าน’จ่ายโควิด รอบอร์ดไฟเขียว

คปภ.เผยออกประกาศรองรับแนวทางกู้เงิน “กองทุนประกันวินาศภัย” แล้ว รอประธานบอร์ดกองทุนไฟเขียว "วงการประกันวินาศภัย"คาดกู้เพิ่มแตะหมื่นล้าน ด้าน “บอร์ดกองทุนวินาศภัย”กำลังพิจารณาเงินจ่ายเคลม “อาคเนย์ฯ-ไทยประกันภัย” หากไม่พอหาแหล่งเงินเพิ่ม -เร่งฟื้นสินมั่นคง

การแพร่ระบาดของโควิดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทประกัน ที่เปิดขายประกันภัยโควิด โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยโควิด แบบ เจอ จ่าย จบ ได้รับผลกระทบหนัก จากผู้ติดเชื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่

บริษัทประกันภัยมีฐานะการเงินอ่อนแอลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะ “เอเชียประกันภัย - เดอะวัน ประกันภัย - อาคเนย์ประกันภัย -ไทยประกันภัย” มีฐานะการเงินย่ำแย่ ไม่สามารถจ่ายเคลมให้ลูกค้าได้ ทำให้ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต  ซึ่งกลับมาเป็นภาระให้กับกองทุนประกันวินาศภัย ต้องควักเงินจ่ายแทน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกองทุนประกันวินาศภัย ได้ออกประกาศเพื่อรองรับการดำเนินการกู้เงินของกองทุนประกันวินาศภัยเรียบร้อยแล้ว หลังที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ.มีมติอนุมัติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างเสนอปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นประธานกรรมการกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อพิจารณาอนุมัติแนวทางดำเนินการกู้เงินต่อไป

สำหรับการเตรียมกู้เงินกองทุนประกันวินาศภัย จะดำเนินการคู่ขนานกันไปก่อน เนื่องจากการพิจารณาวงเงินกู้เพิ่มเติมจะมีจำนวนเท่าไหร่ คปภ.ต้องรอกองทุนประกันฯ  สรุปยอดเคลมประกันโควิดเจอ จ่าย จบ” ทั้งหมดของอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย  

ส่วนเรื่องการจ่ายเคลมประกันฯ ต้องดูคำร้องที่ขอรับชำระหนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมคำขอ ซึ่งพบว่ายอดเคลมเข้ามาจำนวนมาก ทางกองทุนฯ ก็พยายามจะช่วยดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ 

“สำหรับแหล่งเงินกู้จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงินรัฐ และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการขอวงเงินกู้จากสบน.  ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุน จะพยายามปรับกระบวนการต่างๆ ให้คล่องตัวมากขึ้น  และได้กำชับให้การดำเนินงานช่วงนี้ไม่สะดุด จนกว่าผู้จัดการกองทุนฯ จะเข้ามาทำงานในเดือนพ.ค.นี้ ” 

เร่งแผนฟื้นฟูสินมั่นคง

ส่วนการติดตามการแก้ไขปัญหาการจ่ายเคลมสินไหม และฐานะการเงิน ของบมจ.สินมั่นคงประกันภัย หลังมีคำสั่งให้บริษัทดำเนินการตามมาตรา 27/5 คือ ให้ยื่นโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนภายใน 30 วัน ซึ่งมีเวลาจนถึง 23 พ.ค.นี้  ซึ่ง คปภ. ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการจากสินมั่นคงฯ แล้วตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา และทางสินมั่นคงฯ ยังแจ้งว่าการหาพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่จะชัดเจนหลัง 30 เม.ย. ที่ผ่านมา

ขณะที่ กระบวนการหลังจากนี้ คปภ.อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาแผนฟื้นฟูว่า จะสามารถเห็นชอบให้ดำเนินการฟื้นฟูตามแผนหรือไม่ โดยมีกำหนดระยะเวลาให้เสร็จใน 15 วัน หรือภายใน 10 พ.ค.นี้  หากคปภ.เห็นชอบทางสินมั่นคงฯ จะสามารถเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลางได้ แต่หากไม่เห็นชอบทางสินมั่นคงฯ มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม แม้สินมั่นคงฯ มีปัญหาสภาพคล่อง และอยู่ระหว่างการแก้ไขการฟื้นฟูกิจการ  แต่พยายามดูแลผู้เอาประกันภัยโดยเสนอผ่อนจ่ายเคลม ซึ่งเริ่มผ่อนจ่ายบ้างแล้ว โดยคปภ. ยังติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศฯ"

ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันเจอจ่ายจบของบริษัทล็อตใหญ่ หมดอายุความคุ้มครองไป 91.22% แล้ว โดยประกันเจอจ่ายจบของบริษัททุกกรมธรรม์จะหมดอายุความคุ้มครองใน 30 เม.ย. นี้

สำหรับแนวโน้มการเคลมโควิดเจอจ่ายจบหลังสงกรานต์ นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า  ทิศทางน่าจะดีขึ้น เพราะกรมธรรม์ทยอยหมดอายุ และยอดเคลมช่วงหลังสงกรานต์ไม่เพิ่ม ตามที่คาดการณ์ไว้ ว่าจะมีปัญหายอดเคลมช่วงก่อนสงกรานต์ที่มีเป็นจำนวนมาก

ลุ้นจบดีลผู้ร่วมทุนใหม่

แหล่งข่าวประวกันวินาศภัย กล่าวว่า สินมั่นคงฯ ถือเป็นบริษัทประกันภัยแห่งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ขอยื่นเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ หลังได้รับผลกระทบจากประกันโควิดเจอจ่ายจบ โดยข้อดีคือปัจจุบันกรมธรรม์เจอจ่ายจบได้ครบ 100% แล้วภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้

ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่า สินมั่นคงฯ จ่ายเคลมล่าช้ากว่าเงื่อนไขที่กำหนด คปภ.จะเชิญสินมั่นคงมาพูดคุย สอบถามข้อเท็จจริงและกำชับให้ดำเนินการจ่ายตามกฎหมาย รวมถึงประเมินว่ามีการทำผิด เข้าข่ายการประวิงจ่ายค่าสินไหมหรือไม่

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการจะมีการระบุถึงแนวทางการหาแหล่งเงินทุนเข้ามา รวมถึงการหาผู้ร่วมทุนใหม่และแนวทางการดูแลผู้เอาประกันรวมถึงเจ้าหนี้ รวมถึงเพิ่มเงินกองทุนให้เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งใช้เงินไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามจุดแข็งของสินมั่นคง คือ กรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบ ที่เป็นภาระใหญ่ของบริษัทได้สิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนเม.ย. จึงไม่ส่งผลกระทบต่อแผนอนาคต ขณะที่พอร์ตที่เหลือส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์ซึ่งมีคุณภาพดี จึงเชื่อว่าทางสินมั่นคงจะไม่เลิกกิจการเหมือนบริษัทก่อนหน้านี้

รายงานข่าวจาก บมจ.สินมั่นคงประกันภัย แจ้งว่า ได้เปิดช่องทางบริการเคลมประกันรถยนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของสินมั่นคงประกันภัย เพื่อความสะดวกของลูกค้าและลดการรอสายนาน หากต้องการแจ้งเคลมประกันรถยนต์ โดยลูกค้าสามารถแจ้งเคลมง่ายๆ ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ www.smk.co.th หรือ แอปพลิเคชั่น SMK aLL ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ สามารถปักหมุดจุดเกิดเหตุผ่าน Line @smkinsurance เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำรวจภัยสามารถเดินทางไปยังที่หมายได้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

คาดกู้เพิ่มหมื่นล้าน

แหล่งข่าวกองทุนประกันวินาศภัย  กล่าวว่า ความคืบหน้าการจัดหาแหล่งเงินกู้ยืมของกองทุนประกันฯ คาดว่า จะมีวงเงินกู้ถึง 10,000 ล้านบาท และอาจจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้จากแบงก์รัฐขนาดใหญ่ รวมถึงอาจพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสบทบของบริษัทประกันวินาศภัย เข้ากองทุนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อนำมาใช้หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว จากปัจจุบันกองทุนประกันฯจัดเก็บรายได้เฉลี่ยปีละ 500-600 ล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ

“ทางคณะกรรมการกำลังพิจารณาว่า เงินในกองทุนเพียงพอหรือไม่สำหรับการดูแลกรณีที่อาคเนย์ประกันภัยปิดตัวลง หากไม่เพียงพอคงต้องหาแนวทางอื่นมาดูแล ทั้งนี้ เนื่องจาก สภาพคล่องของเงินกองทุนจะได้รับเป็นรายปีจากการนำส่งเงินเข้ากองทุนของบริษัทประกัน โดยจะมีเงินนำส่งปีละ 600-700 ล้านบาทเท่านั้น”

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า ขณะนี้ ทางกองทุนฯ อยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบกองทุนฯ เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินได้ เนื่องจาก ที่ผ่านมาระเบียบไม่ได้เขียนไว้ โดยวงเงินที่จะขอกู้นั้น น่าจะมีจำนวนหลายพันล้าน แต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ากังวลว่า สถาบันการเงินใดจะปล่อยกู้ เนื่องจาก สภาพคล่องที่กองทุนจะได้ในแต่ละปีไม่มากนัก

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกองทุนประกันวินาศภัยเปิดเผยว่า ขณะนี้ สภาพคล่องกองทุนมีอยู่ประมาณ 5-6 พันล้านบาท สามารถรองรับการจ่ายเงินค่าเคลมประกันกรณีการปิดตัวของบริษัท เอเชีย ประกันภัย และ บริษัท เดอะวัน ได้ ส่วนจะเพียงพอรองรับการเคลมประกันภัยกรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ปิดตัวลงหรือไม่ ขณะนี้ ทางคณะกรรมการกองทุนยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

กองทุนประกันชีวิตช่วยกู้ภาพลักษณ์

นายนพพล เบี้ยวไข่มุก ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต กล่าวว่า จากกรณีบริษัทประกันวินาศภัยถูกปิดกิจการ มีประชาชนบางส่วนแยกแยะไม่ออกและเข้าใจว่าเป็นบริษัทประกันชีวิต

ซึ่งจริงๆแล้วบริษัทประกันชีวิต ยังไม่ถูกปิดมาตลอด 55 ปีที่ผ่านมาและเตรียมแผนรองรับกรณีที่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตทุกแห่ง มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนเฉลี่ยมากกว่า 200% สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 140% และเตรียมแผนรองรับกรณีที่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่งถึงเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยไทย ต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจกับประชาชนและสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นกลับมา ซึ่งทางกองทุนประกันชีวิต พร้อมช่วยเหลือประกันวินาศภัยด้วยเช่นกัน 

จากรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี งบประมาณ 2564 ระบุว่า อัตราส่วนความเพียงพอเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR) ของธุรกิจประกันยังอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กำหนด แต่จำเป็นต้องติดตามผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนบริษัทธุรกิจประกันวินาศภัย  

ทั้งนี้ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทประกันชีวิตมีค่า CAR อยู่ที่ 334%  เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และ ยังมีเงินกองทุนภายใต้กองทุนประกันชีวิต ณ สิ้นปี 2563  จำนวน 8,282 ล้านบาท ซึ่งผ่านมายังไม่มีบริษัทประกันชีวิตใดที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัยมีค่า  CAR อยู่ที่247% ลดลงจากสิ้นปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 324%  มีเงินกองทุนภายใต้กองทุนประกันวินาศภัยมีจำนวนทั้งสิ้น 5,580 ล้านบาท 

โดยกองทุนประกันวินาศภัยมีเงินที่คาดว่าจะต้องจ่ายสำหรับกรณีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต(10บริษัท) จำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวน 1,698 ล้านบาท 

ทั้งนี้ การจ่ายเงินของกองทุนประกันวินาศภัยเป็นไปในลักษณะของการทยอยจ่าย สภาพคล่องของเงินกองทุนประกันวินาศภัย ณ ปัจจุบันคาดว่ายังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้  อย่างไรก็ดีควรมีการติดตามผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด