AMATA ปรับ EIA รองรับลูกค้า"แบตเตอรี่-EV "สร้างโรงงานในนิคมฯ

AMATA ปรับ EIA รองรับลูกค้า"แบตเตอรี่-EV "สร้างโรงงานในนิคมฯ

AMATA เดินหน้าดำเนินธุรกิจยั่งยืน ดึงทุน "ยุโรป-สหรัฐ" เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม พร้อมปรับ EIA รองรับลูกค้าซื้อที่ดินสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ -EV ในนิคมฯ

การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) นับเป็นหนึ่งแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน ซึ่งบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)หรือAMATA ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย เป็นอีกบริษัทที่ให้ความสำคัญและดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

“วิบูลย์ กรมดิษฐ์” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า บริษัทได้มีการทำเรื่องของ ESGมาหลายปีแล้ว ซึ่งบริษัทก็สนุกที่จะทำ และตอนนี้เรากำลังทำเรื่องSustainable development ซึ่งก็อยู่ในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals)ของ “องค์การสหประชาชาติ” หรือ UNSDG เพราะ เรามีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าที่เข้ามาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในประเทศแถบยุโรป และสหรัฐ เพราะ ประเทศดังกล่าวให้ความสำคัญในเรื่องของ ESG

ปัจจุบันมีลูกค้าในประเทศแถบยุโรป และ สหรัฐได้มีการเข้ามาเจรจาในการซื้อที่ดิน ซึ่งจะเป็นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ,อิเล็กทรอนิกส์ และ โลจิสติกส์ อาหาร และ และมีผู้สนใจที่จะเข้ามาทำสมาร์ทซิตี้ รวมถึง จากเทรนด์ของยานยนต์ไฟฟ้านั้น บริษัทได้มีการปรับแก้ไขรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( EIA) เพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีเจรจากับลูกค้าจะเข้ามาสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในไทยพอสมควร

 “วันนี้ไม่ได้เราไม่ได้มองแค่ลูกค้าจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศในเอเชีย แต่เรามีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าเป็นยุโรป สหรัฐ”

“วิบูลย์"กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คาดว่าจะทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดมีทิศทางที่ดีขึ้น และจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น ทำให้นักธุรกิจสามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อดูที่และทำธุรรมในการซื้อขายที่ดินได้ ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน น่าจะจำกัดวงอยู่ ไม่ได้ขยายวงกว้างแต่อาจจะยืดเยื้อ  และภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ทิศทางดีขึ้น 

 โดยสำนักวิจัยต่างๆ ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF),ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์),ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ฯลฯ คาดว่าจีดีพีปีนี้เติบโต แม้อาจจะมีการปรับตัวลดลงมาจากเดิมแต่ยังโตอยู่  ประกอบกับเศรษฐกิจไทยอั้นมาในช่วง  2 ปีที่ผ่านมา   รวมถึงขณะสงครามการค้า (เทรดวอร์)ระหว่างจีนกับสหรัฐยังไม่จบ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีกับประเทศไทย ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย 

 "โควิดจะกลายป็นโรคประจำถิ่น ทำให้การเคลื่อนไหวเศรษฐกิจจะไปในทางทิศทางที่ดี และโตดีกว่าปีที่แล้วแน่ๆ แต่อาจรอดูนิดนึง เพราะ ปัญหารัสเซีย ยูเครน อาจจะทำให้แกว่งเล็กน้อย"

 ดังนั้นยังคงคาดว่ายอดขายที่ดินปีนี้จะทำได้ตามเป้าที่ 1,100 ไร่ เนื่องจากปัจจุบันมียอดขายรอโอน(แบ็กล็อก)อยู่ที่ 4,982 ล้านบาท แบ่งเป็น ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ประเทศไทย 3,000 ไร่ และที่เวียดนาม 1,900 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 60-70%

  ส่วนรายได้สาธารณูปโภคและบริการปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้10% จากยอดการใช้น้ำ และไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตามจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้นปัจจุบันมีโรงงาน1,000โรงงาน และมีโรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ที่เพิ่มเข้ามาก็จะหนุนรายได้

 ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะสร้างโรงแรม  และโรงพยาบาล และสร้างห้างสรรพสินค้า เพิ่มขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อรองรับนักธุรกิจเดินทางเข้ามาดูที่ดิน หรือ เข้ามาตรวจงาน  ซึ่งในโควิดระบาดรายได้ของโรงพยาบาลมากขึ้น  ซึ่งปัจจุบันมี1โรงพยาบาล  

 โดย ณ  สิ้นปี 2564  บริษัทมีที่ดินเพื่อขาย และรอพัฒนาในอมตะซิตี้ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง รวม 12,531 ไร่ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่สปป.ลาว  “AMATA SMART & ECO CITY" ได้รับใบอนุญาตมากว่า 2,500 ไร่  ซึ่งอยู่ระหว่างเริ่มเข้าลงทุนและพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับการขาย 

 สำหรับงบลงทุนในปีนี้ ตั้งไว้ที่4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการซื้อที่ดินเป็นหลัก และการลงทุนอื่นๆ