ธ.ก.ส.เปิดประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดสัตว์เลี้ยง ปีการผลิต 65

ธ.ก.ส.เปิดประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดสัตว์เลี้ยง ปีการผลิต 65

ธ.ก.ส. เปิดรับทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ครอบคลุม 7 ภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืช วงเงินคุ้มครองข้าวนาปี 1,190 บาทต่อไร่และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,500 บาทต่อไร่ วางเป้าหมายพื้นที่การเกษตรกว่า 30 ล้านไร่

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า  ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีและโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรและเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้ง 2โครงการจะให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม หรือฝนตกหนัก/ ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง/ ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น/ ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็งลูกเห็บ/ ไฟไหม้ และช้างป่า และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด​ แบ่งเป็นการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจของเกษตรกร (Tier 2)

 

ธ.ก.ส. ในฐานะธนาคารของรัฐพร้อมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยวางเป้าหมายพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 28 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งมีรายละเอียดและเงื่อนไขดังนี้

โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ผู้เอาประกันต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งปรับข้อมูลเกษตรกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ทบก.) ในปีการผลิต 2565/66

โดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนค่าเบี้ยประกัน 59.40 บาทต่อไร่ เกษตรกรสามารถเลือกซื้อประกันขั้นพื้นฐานตามพื้นที่ความเสี่ยง  (Tier 1) ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ 99 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงกลาง 199 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่  (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีวงเงินคุ้มครองสำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย จำนวน 1,190 บาทต่อไร่ และกรณีศัตรูพืชและ โรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง 595 บาทต่อไร่

พิเศษ ! กรณีเกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 99 บาท ในทุกพื้นที่ความเสี่ยง และทุก ๆ ยอดสินเชื่อ 4,000 บาท ธ.ก.ส. จะสนับสนุน  ค่าเบี้ยประกันให้ฟรี 39.60 บาท ซึ่งทำให้เกษตรกรลูกค้าสามารถทำประกันภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

สำหรับลูกค้าเกษตรกรที่สนใจซื้อประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้ด้วยตนเอง ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงกลาง 60 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) วงเงินคุ้มครองเพิ่มอีก 240 บาท กรณีเกิด 7 ภัยธรรมชาติ และวงเงินคุ้มครองเพิ่ม 120 บาท กรณีโรคระบาด/ศัตรูพืช  

โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ผู้เอาประกันต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งปรับข้อมูลเกษตรกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ทบก.) ในปีการผลิต 2565/66 โดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนค่าเบี้ยประกัน 96 บาทต่อไร่ เกษตรกรสามารถเลือกซื้อประกันตามพื้นที่ความเสี่ยง ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ 150 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงกลาง 350 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง 550 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

โดยมีวงเงินคุ้มครองสำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย จำนวน 1,500 บาทต่อไร่ และกรณีศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง 750 บาทต่อไร่

พิเศษ ! กรณีเกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 160 บาท ในทุกพื้นที่ความเสี่ยง และทุก ๆ ยอดสินเชื่อ 4,000 บาท ธ.ก.ส. จะสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ฟรี 64 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตรกรลูกค้าสามารถทำประกันภัยได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

สำหรับเกษตรกรที่สนใจซื้อประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้ด้วยตนเอง ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ 90 บาท ต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงกลาง 100 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) วงเงินคุ้มครองกรณีเกิด 7 ภัยธรรมชาติเพิ่มอีก 240 บาท และกรณีโรคระบาด/ศัตรูพืช เพิ่มอีก 120 บาท ระยะเวลาแบ่งเป็น 2 รอบการผลิต ได้แก่ รอบการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน สิ้นสุดการขอเอาประกันภัย 31 พฤษภาคม และรอบการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง (1 ตุลาคม 2565 – 15 มกราคม 2566)

นายธนารัตน์กล่าวต่อไปว่า กรณีเกิดภัยพิบัติหรือพื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เกษตรกรผู้ทำประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความเสียหายได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอ จะส่งข้อมูลไปยังสมาคมวินาศภัย เพื่อประเมินข้อมูลความเสียหาย เมื่อตรวจสอบครบถ้วนแล้ว สมาคมฯ จะพิจารณาจ่าย ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไข ภายใน 15 วัน ผ่านระบบ ธ.ก.ส. โดยเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรโดยตรง อีกทั้งเกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลความเสียหายผ่านแอปพลิเคชั่น “มะลิซ้อน” เพื่อให้สมาคมวินาศภัยไทย พิจารณาให้ความช่วยเหลือ กรณีพื้นที่ภัยพิบัติอยู่นอกเขตประกาศตามเกณฑ์เพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการข้าวนาปีจำนวน 3.66 ล้านราย พื้นที่รวมกว่า 43 ล้านไร่ โครงการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเกษตรกรเข้าร่วม         จำนวน 99,335 ราย พื้นที่รวมกว่า 1.59 ล้านไร่ โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนในโครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เกษตรกรไปแล้ว 117,565 ราย จำนวนเงินกว่า 1,553 ล้านบาท คิดเป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 1.27 ล้านไร่

การประกันภัยถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้านการผลิตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงขอเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับเกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. จะได้รับประกันภัยฟรี  โดยการสนับสนุนของรัฐบาลและ ธ.ก.ส. และจะได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องมาติดต่อธนาคาร

เกษตรกรสามารถตรวจสอบสิทธิการทำประกันภัยหรือซื้อประกันภัยเพิ่มเติมอีกได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น “BAAC Insure” โดยดาวน์โหลดได้ผ่านระบบ IOS และ Android หรือเพียงนำบัตรประชาชนไปติดต่อ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ก็สามารถซื้อประกันได้เลยทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.baac.or.th นายธนารัตน์กล่าว