จาก “น้ำอัดลม” สู่ “ปลากระป๋อง” ผ่าวิชั่น “อาเจ” ลุยสังเวียนสินค้าคอนซูเมอร์

จาก “น้ำอัดลม” สู่ “ปลากระป๋อง” ผ่าวิชั่น “อาเจ” ลุยสังเวียนสินค้าคอนซูเมอร์

จิ๊กซอว์ใหม่ "อาเจ" เสริมทัพสินค้าอุปโภคบริโภค เสิร์ฟชาวไทย-อาเซียน ประเดิมปลากระป๋อง ชูจุดต่างปลาซาบะในซอสมะเขือเทศ ตามด้วยสินค้าดูแลบ้าน สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล สานเป้าหมายยอดขาย-กำไร เติบโต "เท่าตัว" ในปี 2573

ระยะเวลากว่า 30 ปี เป็นเส้นทางธุรกิจของ “อาเจ” ที่กล้าก้าวมาเป็นผู้เล่นในตลาดน้ำอัดลม มีแบรนด์ “บิ๊ก โคล่า” ทำตลาด และปัจจุบันเป็นแบรนด์รั้งเบอร์ 4 ของโลกในเชิงปริมาณและมูลค่า

เป็นที่ทราบกันโดยสังเขปว่า “อาเจ” เป็นทุนข้ามชาติจาก “เปรู” ที่มีเครื่องดื่มเป็นสินค้าหลักหลากหลายหมวด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ และโซดา เป็นต้น โดยมีการทำตลาดกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทวีปอเมริกา 12 ประเทศ อาฟริกา 9 ประเทศ ยุโรป 2 ประเทศ เอเชีย 14 ประเทศ

ส่วนประเทศไทย “อาเจ” เข้ามาปักหมุดสร้างฐานธุรกิจเป็นเวลา 17 ปีแล้ว ด้วยการเปิดศึกชิงตลาดน้ำอัดลมมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ชูจุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์น้ำดำ น้ำสี ให้เลือกมากมายไม่แพ้ผู้เล่นรายใหญ่เจ้าตลาดทุกค่าย

แต่กลยุทธ์ที่เป็น DNA ของแบรนด์คือ “ราคา” ที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ตอกย้ำความ “คุ้มค่า” ทั้งหมดเพื่อให้ “ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสินค้า” ได้

ผ่านไปเกือบ 2 ทศวรรษ “อาเจ” ไม่พึ่งพาการเติบโตจากเครื่องดื่ม โดยเฉพาะน้ำอัดลมเท่านั้น แต่มองโอกาสใหม่ ในการขยายพอร์ตโฟลิโอเข้าสู่สินค้าอุปบริโภคอื่นๆมากขึ้น

++วิชั่น 2573 ยอดขาย-กำไร โตเท่าตัว

ฟาเบียน มอสเกล่า ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อาเจ อาเซียน เล่าวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนธุรกิจในไทยและอาเซียน จะให้ความสำคัญกับการขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าอุปโภคบริโภคหรือConsumer Product เข้าทำตลาดมากขึ้น เพื่อสานเป้าหมายใหญ่ภายในปี 2573 บริษัทต้องการผลักดัน “ยอดขาย-กำไร” เติบโต “เท่าตัว”

จาก “น้ำอัดลม” สู่ “ปลากระป๋อง” ผ่าวิชั่น “อาเจ” ลุยสังเวียนสินค้าคอนซูเมอร์ เพื่อให้ตัวเลขไปถึงฝั่งฝัน บริษัทจึงวางกลยุทธ์หลายด้านเพื่อหนุนธุรกิจ อย่างแรก ประเดิมเปิดตัว “ปลากระป๋อง” แบรนด์ “ดิ’กุสโต้ (D’Gussto) หวังชิงเค้กก้อนโตมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท

ทว่า มาทีหลัง และต้องเจอการแข่งขันสูง จากตลาดปลากระป๋องเต็มไปด้วย “คู่แข่ง” เล็กใหญ่มากมาย จึงชูจุดขาย “ปลาซาบะในซอสมะเขือเทศ” ที่การันตีเกรดพรีเมียม และจำหน่ายในราคา 20 บาท

การเป็นเพียงแบรนด์เดียวที่อาจหาญฉีกตลาดไปสร้างหมวดหมู่ใหม่อย่างปลาซะบะในซอสมะเขือเทศ ทั้งที่ตลาดปลากระป๋องส่วนใหญ่เป็น ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศจำหน่ายอยู่ไม่ง่าย มีสารพัดโจทย์ต้องเผชิญแน่ๆ ได้แก่ พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค จากแบรนด์ในใจ(Top of mind) ผลิตภัณฑ์ รสชาติที่คุ้นลิ้นชินปาก รวมถึง “ราคา” เป็นต้น

เมื่อ ฟาเบียน ย้ำจุดขายโปรดักท์แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือกลยุทธ์ “ราคา” เดินรอยตามน้ำอัดลม “บิ๊ก โคล่า” ที่ขายราคาเดิมยาวนานถึง 17 ปีแล้ว

“การเติบโตจากอดีตถึงอนาคต ดีเอ็นเอของบริษัทคือนำเสนอความคุ้มค่าให้กับผู้บริโภค”

ทุนมี สินค้าและแบรนด์พร้อม อาวุธการตลาดไม่น้อยหน้า แต่สิ่งที่เป็นกระดูกสันหลังของธุรกิจยุคปัจจุบัน คือการมี “ช่องทางจำหน่าย”

อาเจ ทำธุรกิจในไทยมานานพอควร ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มครอบคลุมถึง 200,000 แห่งทั่วประเทศ และยังมีตัวแทนจำหน่ายตรงอีก 70 ราย เป็นต้น เพื่อเดินเกมรุกเจาะลูกค้า

การรุกตลาดปลากระป๋องบริษัทวางเป้าหมายมียอดขาย 10% ในปี 2573

++อาหาร-ของใช้ในบ้าน จิ๊กซอว์หนุนโต

ปลากระป๋อง “ดิ’กุสโต้” โดดสู่สังเวียนอาหารแล้ว แต่บริษัทยังมอง “โอกาส” ทางการตลาดอีกมาก โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสุขภาพ ลุยเครื่องดื่มน้ำผลไม้กลุ่มซูเปอร์ฟรุตน้ำช่อดอกมะพร้าวแบรนด์ “อมายู (AMAYU)”

จาก “น้ำอัดลม” สู่ “ปลากระป๋อง” ผ่าวิชั่น “อาเจ” ลุยสังเวียนสินค้าคอนซูเมอร์ “อมายู” ยังมาเสริมทัพสินค้าในโฟลิโอของอาเจ ซึ่งปัจจุบันหลากหลายรายการ เช่น น้ำอัดลมบิ๊ก โคล่า ชาพร้อมดื่มบิ๊กที น้ำดื่มวีด้า เครื่องดื่มชูกำลังโวลท์ เครื่องดื่มเกลือแร่สปอเรต เป็นต้น

ตามวิสัยทัศน์ 2573 บริษัทจะเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ๆมาทำตลาดต่อเนื่อง เช่น สินค้าดูแลบ้าน(Home caree) สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล(Personal care) เป็นต้น

ขณะที่พอร์ตโฟลิโอคอนซูเมอร์ โปรดักท์ของอาเจ ยังมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ช็อกโกแล็ต ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น โดยประทศที่มีการขยายตลาดสินค้าใหม่ที่มีทั้งอาหาร สินค้าอุปโภค 6 ประเทศ ได้แก่ เปรู หรือรวมกลุ่มอเมริกากลาง 5 ประเทศ และไทย

นอกจากนี้ จะขยายสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดประเทศต่างๆในอาเซียนเพิ่มเติมด้วย

“แม้เครื่องดื่มเป็นสินค้าหลักที่บุกตลาดอาเซียน แต่เรามแงโอกาสไปยังสินค้าใหม่เพิ่ม เราจะก้าวไปสู่จักรวาลใหม่ด้วยการนำเสนอสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความคุ้มค่า เพื่อสร้างการเติบโตเท่าตัว”