คลังไม่ปิดช่องลดภาษีดีเซลยอมหั่นได้แค่1.50บาท/ลิตร

คลังไม่ปิดช่องลดภาษีดีเซลยอมหั่นได้แค่1.50บาท/ลิตร

คลังระบุ หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลจะลดแค่ 1.5 บาทต่อลิตรเท่านั้น หวั่นกระทบยอดจัดเก็บรายได้ เชื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันจะดีขึ้น หลังราคาเริ่มทยอยลดลง​

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันออกไปอีกหรือไม่ หลังจากที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้ เนื่องจาก ระยะเวลาก่อนที่จะสิ้นสุดมาตรการนั้นเกือบ 1 เดือน ฉะนั้น สถานการณ์ต่างๆอาจมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลง โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุ้มราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ จากผลกระทบของสงครามยูเครนที่กินเวลานานกว่า 60 วันแล้ว ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น โดยขึ้นไปสูงสุดถึง 120 -130 เหรียญ/บาร์เรลในระยะเริ่มต้นของสงคราม และหลังจากนั้นได้ค่อยปรับลดลงมาจนอยู่ที่ 105 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งมองว่า น่าจะเป็นจุดสูงสุดแล้ว ดังนั้น หากสถานการณ์สงครามนับจากนี้ คลี่คลายตัวลง น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ยังมีทางเลือกในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เช่น อาจขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไป แต่อัตราการลดอาจลดแค่ 1.50 บาท/ลิตร ไม่ใช่ 3 บาท/ลิตรเหมือนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงที่ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยกรมสรรพสามิตได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 19) ปี 2565 ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. ถึง 20 พ.ค.นี้ ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 7 ลดลงจาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป กองทุนน้ำมันจะลดระดับการพยุงราคาน้ำมันดีเซล จากปัจจุบันที่มีนโยบายรัฐบาลให้พยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เป็นการอุดหนุน 50 % ของราคาขายปลีกดีเซลส่วนที่เกินกว่า 30 บาท/ลิตร  ทั้งนี้ หากไม่มีการพยุงราคาโดยกองทุนน้ำมันและการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลอาจขึ้นไปถึง 38 บาท/ลิตร

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัญหาของการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันในประเทศนั้น อยู่ที่หาแหล่งรายได้มาชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งในช่วงตั้งแต่ 18 ก.พ.ถึง 20 พ.ค.ที่รัฐบาลอนุมัติให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาทนั้น ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีดังกล่าวถึง 1.71 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลสามารถหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาชดเชย คือ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาสูงกว่าคาด ดังนั้น หากรัฐบาลจะตัดสินใจขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้มาทดแทนรายได้จากการลดภาษีด้วย เพื่อให้รัฐบาลสามารถมีรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในงบประมาณปี 2565 ที่ตั้งไว้ 2.4 ล้านล้านบาท

สำหรับกรมสรรพสามิต ได้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ในปีงบประมาณ 2565 ไว้ที่ 2 แสนล้านบาท แต่หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว ทำให้คาดว่า จนถึงสิ้นปีงบประมาณนี้ หรือ 30 ก.ย.นี้ รายได้จากภาษีน้ำมันของกรมฯจะอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท