MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 25-29 เมษายน 2565

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 25-29 เมษายน 2565

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 5 ปี ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน -  เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 5 ปีที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินเยนและเงินหยวน

•    หุ้นไทยปรับตัวลงทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และการล็อกดาวน์ของจีน 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทเผชิญแรงขาย ตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินเยน [อ่อนสุดรอบ 20 ปี] และเงินหยวน [อ่อนสุดรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง] ที่อ่อนค่าลงตามสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน สวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ถูกคาดหมายว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% พร้อมกับปรับลดงบดุลในเดือนพ.ค. และมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกเพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้งนี้เงินบาทร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 5 ปีที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนจากแรงซื้อตามปัจจัยทางเทคนิคและการปรับโพสิชันก่อนการประชุมเฟดวันที่ 3-4 พ.ค. 

เงินบาทที่อ่อนค่ายังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในระยะนี้ ขณะที่ ธปท. ระบุว่าจะติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะเข้าดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 25-29 เมษายน 2565

ในวันศุกร์ (29 เม.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 เม.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 3,494 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตร 1,961 ล้านบาท (มาจาก การซื้อสุทธิพันธบัตร 2,156 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้หมดอายุ 195 ล้านบาท)
 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนเม.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการของจีน ยุโรปและอังกฤษ 

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงตั้งแต่ช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางปัจจัยลบหลายปัจจัย อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ของจีน อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังตอบรับปัจจัยลบข้างต้นไปพอสมควร ประกอบกับมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานและวัสดุก่อสร้างกลับมาบางส่วน  

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 25-29 เมษายน 2565

ในวันศุกร์ (29 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,667.44 จุด ลดลง 1.37% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,679.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.11% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.76% มาปิดที่ 669.88 จุด     
 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,625 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,685 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (3-4 พ.ค.) ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการนำเข้าและส่งออกเดือนมี.ค. ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนเม.ย. ของจีน ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกเดือนมี.ค. ของยูโรโซน