พ.ค.นี้ การรถไฟฯ เปิดหวูด พีพีพีเดินรถ - ก่อสร้างสายสีแดง

พ.ค.นี้ การรถไฟฯ เปิดหวูด พีพีพีเดินรถ - ก่อสร้างสายสีแดง

ร.ฟ.ท.ปักธง พ.ค.นี้ เปิดหวูดประมูลพีพีพีรถไฟชานเมืองสายสีแดง 6 เส้นทาง 4.48 แสนล้านบาท ดึงเอกชนบริหารเดินรถสัมปทาน 50 ปี พร้อมลุยประมูลสร้างโยธาส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง

“รถไฟฟ้า” จะไม่ใช่การคมนาคมสำหรับคนเมืองเท่านั้นอีกต่อไป หลังโครงการศึกษา ทบทวนและวิเคราะห์ความเหมาะสมฯ ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ได้ฉายภาพผ่านจากการวิเคราะห์ปริมาณผู้โดยสาร คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง ครบคลุมเมืองใหม่รอบนอกให้ได้เชื่อมกับใจกลางเมืองได้เกือบทุกทิศทางประกอบด้วย 

1.บางซื่อ-ตลิ่งชัน

2.บางซื่อ-รังสิต

3.บางซื่อพญาไท-มักกะสัน-หัวหมากและบางซื่อหัวลำโพง

4. ธรรมศาสตร์รังสิต

5.ตลิ่งชัน-ศาลายา

6.ตลิ่งชัน-ศิริราช 

ในจำนวนนี้ เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง อีก 4 เส้นทางคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2569  คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 4 แสนคนต่อวัน และปีเปิดที่ 50 จะมีผู้ใช้บริการ 1.3 ล้านคนต่อวัน ทั้งนี้ผลตอบแทนโครงการ 50 ปี มีรายได้ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท โดยจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าโครงการอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (EIRR) 30.96% ถือว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุน

คณพศ วชิรกำธร ที่ปรึกษาจัดทำโครงการศึกษา ทบทวนและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้กำหนดแผนงานในเบื้องต้น คาดว่าจะเริ่มจัดทำร่างเอกสารประกวดราคาภายในเดือน พ.ค.นี้ และจะดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พีพีพี) ได้ตัวเอกชนผู้รับสัมปทานภายในปี 2565

สำหรับโครงการพีพีพีระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง เอกชนผู้เสนอให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดจะได้รับสัมปทานระยะเวลา 50 ปี โดยเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost แบ่งเป็น รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน งานโยธา และงานระบบ ส่วนเอกชนจัดหาขบวนรถ เดินรถ และจัดเก็บรายได้ ซึ่งส่วนนี้เอกชนจะต้องชำระค่าสัมปทานและผลตอบแทนให้แก่รัฐตามที่เสนอไว้

“หลังจากออกประกาศเชิญชวนและเปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชน จะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา หลังจากนั้นภาครัฐจะต้องนำเสนอผลการคัดเลือกไปยังกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมตรวจสอบร่างสัญญาโดยอัยการสูงสุด ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 14 เดือน ระหว่างเดือน มิ.ย.2565-ก.ค.2566 จึงคาดว่าเอกชนผู้รับสัมปทานจะเริ่มเข้ามาถ่ายโอนระบบในกลางปี 2568”

ขณะที่มูลค่าการลงทุนโครงการรวม 4.48 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งานโยธา งานระบบ และจัดหาขบวนรถ 1.88 แสนล้านบาท, การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 2.22 แสนล้านบาท และงานเพิ่มเติม 3.87 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนผู้รับสัมปทานจะต้องทยอยเข้าบริหารโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน 2 เส้นทาง คือ

  • ช่วงบางซื่อ - รังสิต
  • บางซื่อ - ตลิ่งชัน

เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเข้าบริหารโครงการดังกล่าวได้ในช่วงปี 2569

ขณะเดียวกัน เอกชนจะต้องเตรียมเข้ารับบริหารส่วนต่อขยายโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมก่อสร้างและคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2569 เป็นต้นไปอีก 4 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต

2.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา

3.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช

4.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแล้ว รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) แล้ว มีเพียงช่วงรังสิต - มธ.ศูนย์รังสิต อยู่ระหว่างการพิจารณา เบื้องต้น ร.ฟ.ท.มั่นใจว่าจะสามารถเปิดประกวดราคางานโยธาแล้วเสร็จสอดคล้องไปกับการสรรหาเอกชนพีพีพีเดินรถในครั้งนี้ด้วย

พ.ค.นี้ การรถไฟฯ เปิดหวูด พีพีพีเดินรถ - ก่อสร้างสายสีแดง

สำหรับการเปิดพีพีพีบริหารสายสีแดงนั้น ร.ฟ.ท.กำหนดรายละเอียดเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) มี 5 ซองข้อเสนอ ได้แก่ 1.ซองเปิดผนึก, 2.ซองปิดผนึก ซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ, 3.ซองปิดผนึก ซองที่ 2 ด้านเทคนิค, 4.ซองปิดผนึก ซองที่ 3 ด้านการเงิน ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอรายใดให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปตัวเงินกับ ร.ฟ.ท. สูงสุด จะเป็นผู้ชนะประมูล และ 5.ซองปิดผนึก ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ต้องเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งซองนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเปิดซองหรือไม่เปิดก็ได้

สำหรับข้อกำหนดในเอกสารคัดเลือกเอกชน จะแบ่งเป็น ข้อมูลทั่วไป อาทิ การระบุสถานะผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่ง ร.ฟ.ท.เปิดกว้างนิติบุคคลรายเดียว นิติบุคคลกลุ่ม กิจการร่วมค้า หรือควบรวมกิจการ แต่ต้องมีนิติไทยถือหุ้นอย่างน้อย 25% นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขเทคนิค ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ให้บริการเดินรถ สรรหาขบวนรถ ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น

ขณะที่เอกสารคัดเลือกเอกชน มี 5 ส่วน ได้แก่ ซองเปิดผนึก, ซอง 1 คุณสมบัติทั่วไป, ซอง 2 ด้านเทคนิค ซึ่งส่วนนี้จะแสดงรายละเอียดของการวางโครงสร้างองค์กร อาทิ แผนงาน และแผนการถ่ายโอนพนักงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ที่ปัจจุบันเป็นผู้เดินรถชานเมืองสายสีแดงอยู่ เมื่อโครงการนี้ได้เอกชนเข้ามาดำเนินงาน จะได้สิทธิบริหารโครงการสีแดงที่เปิดอยู่ ก็ต้องรับพนักงานของ รฟฟท.ด้วย

ส่วนซอง 3 การเงิน จะมีสาระสำคัญ 5 ส่วน แผนดำเนินงานธุรกิจทั้งหมด แผนการเงิน แผนวางกลยุทธ์ดำเนินโครงการ แผนจัดสรรผลประโยชน์แก่รัฐ และแผนจัดทำค่าโดยสาร โดยการพิจารณาจะใช้เกณฑ์ผู้ให้ผลประโยชน์รัฐสูงสุดจะผ่านเกณฑ์ และซอง 4 ข้อเสนออื่นๆ ซึ่งจะต้องเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ โดยซองนี้สงวนสิทธิ์เปิดหรือไม่ก็ได้

“เมื่อได้ตัวเอกชนเข้ามารับสิทธิบริหารโครงการแล้ว เอกชนจะต้องจัดทำแผนจ่ายคืนรัฐในส่วนของค่าขบวนรถที่จัดหามาให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงในปัจจุบัน จำนวนเงิน 6 พันล้านบาท หลังจากนั้นเอกชนจะต้องวางแผนธุรกิจ เตรียมในเรื่องของการถ่ายโอนบุคลากรของ รฟฟท. และจัดหาขบวนรถใหม่เพื่อเตรียมพร้อมเข้ามาให้บริการเดินรถช่วงส่วนต่อขยายที่การรถไฟฯ จะดำเนินการก่อสร้าง”

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.มีแผนจะเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 3 โครงการที่มีความพร้อม วงเงินรวมกว่า 2.27 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.4 พันล้านบาท

2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 6.1 พันล้านบาท

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดขายซองเอกสารประกวดราคาในเดือน พ.ค.นี้ และคาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาในเดือน ต.ค.2565 หลังจากนั้นจะเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างทันที ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนปรับแบบก่อสร้าง จึงคาดว่าจะดำเนินการประมูลก่อสร้างในระยะต่อไป

แม้ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพมีรถไฟฟ้าทั้งที่กำลังก่อสร้างและให้บริการแล้วหลายเส้นทางแต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการให้บริการในพื้นที่กรุงเทพชั้นในและรอบนอกเท่านั้น ขณะที่การเติบโตของเมืองได้กระจายตัวไปยังชานเมืองในเกือบทุกทิศทุกทาง “ส่วนต่อขยายสายสีแดง” ทั้ง 6 เส้นทางจึงเป็นเหมือนโครงข่ายแห่งการเดินทางที่จากนี้จะไม่ได้มีไว้แค่คนในเมืองเท่านั้นอีกต่อไป