WTO เผยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ฉุดเศรษฐกิจโลกหาย 0.7-1.3%

WTO เผยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ฉุดเศรษฐกิจโลกหาย 0.7-1.3%

ดับบลิวทีโอ เผยผลการศึกษาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำเศรษฐกิจโลกปี 6 ขยายตัว 3.1 - 3.7 % ลดลง 0.7 - 1.3% ส่วนภูมิภาคเอเชียขยายตัวลดลง 1.3% ชี้ หากยืดเยื้อยาวนานเกิดการแบ่งขั้วด้านการผลิตและการค้า ขณะทูตไทยประจำดับลิวทีโอแนะไทยต้องหาตลาดและแหล่งนำเข้าสินค้าทดแทน

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดทำรายงานศึกษาผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก เรื่อง “The Crisis in Ukraine: Implications of the War for Global Trade and Development” ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ

ผลการศึกษาชี้ว่า ภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในปี 2022 ยังคงขยายตัวได้ โดยเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 3.1 - 3.7 % ลดลง 0.7 - 1.3% โดยคาดว่าเศรษฐกิจยูเครน และรัสเซียจะขยายตัวลดลง 25% และ 5% ในปี 2022 จากกรณีปกติ ขณะที่ เศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะขยายตัวลดลง 1.5% และภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวลดลง 1.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ การค้าโลกจะขยายตัว 2.4 - 3.0% ลดลง 2.2% จากกรณีปกติ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว หากความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อ อาจก่อให้เกิดการแบ่งขั้วการผลิต (Decoupling) ตามปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองในการผลิตและการค้า ทำให้การแข่งขันและการสร้างนวัตกรรมของโลกลดลง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงถึง 5 % จากกรณีปกติ

 นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า แม้รัสเซียและยูเครนจะมีสัดส่วนไม่สูงในเชิงขนาดทางเศรษฐกิจและการค้าโลก หากแต่ทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในบางสาขาการผลิตและเป็นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ ภาวะสงครามจึงทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าว ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต เนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งเบียร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศยากจน ที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าดังกล่าวในระดับสูงจากรัสเซียและยูเครน โดยภูมิภาคแอฟริกามีแนวโน้มประสบปัญหาราคาข้าวสาลีเพิ่มถึง 50 - 85 % นอกจากนี้ สงครามฯ ยังทำให้ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและวัตถุดิบในการผลิต อาทิ น้ำมันและปุ๋ย เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้ราคาอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

งานศึกษานี้ยังระบุสินค้าที่อาจเกิดการขาดแคลนสูงและปัญหาคอขวดในด้านปริมาณการผลิต ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับดอกทานตะวัน แพลลาเดียม ข้าวสาลี และปุ๋ย ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่รัสเซียและยูเครน มีสัดส่วนในการผลิตสูงและมีประเทศผู้ผลิตทดแทนน้อย โดยรัสเซียและยูเครนรวมกันมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับดอกทานตะวัน และข้าวสาลี ในตลาดโลกประมาณ 45% และ 25% ตามลำดับ ส่วนแร่แพลลาเดียม ทั้งสองประเทศมีส่วนแบ่งในตลาดโลกถึง 26% โดยผลกระทบจะขยายไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ จากการขาดแคลนแร่แพลลาเดียมและโรเดียม

นอกจากนี้ ผลกระทบของภาวะสงครามนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหารและสินค้าเกษตร เฉกเช่นเดียวกับการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการขาดแคลนยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สำหรับวิกฤตการระบาดของโรคในอนาคต ทุกประเทศควรดำเนินนโยบายการค้าเพื่อสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและความเชื่อมโยงในตลาดที่หลากหลายทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค องค์การการค้าโลกถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือ และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการค้า เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจการค้าฟื้นตัว เปิดกว้าง เสรีและโปร่งใส และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผลกระทบต่อไทย ภาวะสงครามทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และยังทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารและพลังงาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในทางอ้อมต่อ การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ดังนั้นไทยต้องหาตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสินค้าทดแทน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของความขัดแย้งในลักษณะนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในระยะยาวความขัดแย้งมีแนวโน้มทำให้เกิดการแบ่งขั้วการผลิตสินค้าและบริการ ตามปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องเลือกข้าง จากเดิมที่สามารถได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทั้งสองค่าย ไทยจึงอาจจำเป็นต้องออกแบบยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ เพื่อรองรับการแบ่งขั้วการผลิตและการค้านี้ โดยอาจหันไปพึ่งประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันมากขึ้น ทั้งอาเซียน แอฟริกา และลาตินอเมริกา โดยยังคงพยายามรักษาผลประโยชน์ของไทยกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ