ไทยทำมินิเอฟทีเอไทย-กานซู่ หวังดันยอดการค้าเพิ่มกว่าพันล้านบาทในปี65

ไทยทำมินิเอฟทีเอไทย-กานซู่ หวังดันยอดการค้าเพิ่มกว่าพันล้านบาทในปี65

“จุรินทร์” เป็นสักขีพยาน ลงนาม Mini-FTA ไทย-กานซู่ ถือเป็นมินิเอฟทีเอที่ทำกับจีนฉบับที่ 2 หวังดันทำยอดการค้าเพิ่ม 15 % หรือ 1,265 ล้านบาท เน้นเจาะตลาดฮาลาล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่  ว่า   การลงนามใน MOU ครั้งนี้ เป็น มินิเอฟทีเอ (Mini FTA )ฉบับที่ 2 ที่ไทยได้มีการลงนามกับมณฑลในจีน และถือเป็นฉบับที่ 4 ที่ได้ลงนามกับคู่ค้า โดยได้ตั้งเป้าที่จะร่วมมือขับเคลื่อนกิจกรรมทางการค้าระหว่างไทย-กานซู่ และเพิ่มยอดการค้าในปี 2565 เป็น 1,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%

โดยมณฑลกานซู่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งจากไทยและอาเซียนสู่จีน ไปจนถึงเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบก ที่สำคัญสายหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เส้นทางสายไหม”

ในปัจจุบันได้ขยายจากเส้นทางทางบกไปสู่เส้นทางสายไหมทางทะเล และได้มีเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ที่มีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผ่านนครฉงชิ่ง และเข้าสู่มณฑลกานซู่ เชื่อมต่อไปยังดินแดนทางทิศตะวันตกของจีน ซึ่งเป็นผลมาจากระบบขนส่งทางรางที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาความเชื่อมโยงจีนภายใต้นโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)

ไทยทำมินิเอฟทีเอไทย-กานซู่ หวังดันยอดการค้าเพิ่มกว่าพันล้านบาทในปี65

สำหรับโอกาสทางการค้าไทย มีความโดดเด่นในสินค้าฮาลาล สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อาหารและโลจิสติกส์  โดยจะเร่งขยายตลาดสินค้าอาหารฮาลาล เจาะเข้าสู่ตลาดกานซู่ให้ได้เพิ่มขึ้น เพราะมีผู้บริโภคชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันสินค้าไทยที่ได้รับความนิยม เช่น ข้าว สิ่งปรุงรส อาหารกระป๋อง ผลไม้อบแห้ง และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น และจะเน้นเป็นพิเศษในการนำสินค้าฮาลาลจากผู้ประกอบการในภาคใต้ไปขยายตลาด

“Mini FTA ฉบับต่อไปที่จะทำกับจีน หลังจากที่ได้ลงนามกับไห่หนานและกานซู่แล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับเซินเจิ้น และยูนนาน ส่วนกับประเทศอื่น มีแผนที่จะลงนามกับรัฐของอินเดีย 4 ฉบับ กับเกาหลีใต้ 1 ฉบับ คือ ปูซาน และโปแลนด์ 1 ฉบับ คือ วอร์ซอ ทั้งนี้ สรุปล่าสุดไทยได้ลงนาม Mini FTA กับคู่ค้าแล้ว 4 ฉบับ คือ ไทย-โคฟุ ของญี่ปุ่น ไทย-ไห่หนาน ของจีน ไทย-เตลังกานา ของอินเดีย และไทย-กานซู่ ของจีน”นายจุรินทร์ กล่าว

สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการทันที ภายหลังมี Mini FTA กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้นำเข้ากานซู่ มาร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24-28 พ.ค.2565 เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าอาหารไทย และจะนำผู้ประกอบการไทยไปร่วมงานแสดงสินค้าที่หลานโจว ที่จะจัดขึ้นวันที่ 7-11 ก.ค.2565 และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสมุนไพรที่กานซู่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนส.ค.หรือก.ย.2565 เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย

ด้านนายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าด้วยการจัดทำ “บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่” จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ประสบผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องการขยายขอบเขตความร่วมมือทางการค้าภายใต้"ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" (RCEP) มีผลบังคับใช้ในจีนและไทยอย่างเป็นทางการ และยกระดับความร่วมมือและการลงทุน โดยในวันที่ 7 - 11 ก.ค. จะมีการจัดประชุมเจรจาการค้าการลงทุนหลานโจว ที่มณฑลกานซู่ จึงใช้โอกาสนี้เชิญผู้ประกอบการไทยมาเข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างกัน ส่วนด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มณฑลกานซู่ได้รับการแนะนำโดย The New York Times ให้เป็น” 1 ใน 52 จุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาดในโลก" หวังว่า มณฑลกานซู่กับประเทศไทยจะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือแบบ win-win

ทั้งนี้ มณฑลกานซู่ หรือมณฑลกังชก มีประชากร 25 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับที่ 22 ของจีน มีชาวมุสลิม 1.6 ล้านคน (คิดเป็น 6.4%) เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกพลังงานหลักจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้แก่ พลังงานนํ้า พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนใต้พิภพ

นอกจากนี้ยังเป็นจังหวัดที่ผลิตชิปที่ใหญ่เป็นอันดับสองในจีนและเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมเคมีด้วย ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของไทยไปกานซู่ 5 อันดับแรก ปี พ.ศ. 2565 (ม.ค.-ก.พ.) ได้แก่ 1) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เอสเซนเชียลออยล์และเรซินอยด์ เครื่องหอม เครื่องสำอาง พืชผักรวมทั้งรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้  เมล็ดพืช และผลไม้ที่มีน้ำมัน เมล็ดธัญพืชและผลไม้เบ็ดเตล็ด ปลา และสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง