กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัว เกษตรดีเด่น ปี 2565

กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัว  เกษตรดีเด่น ปี  2565

กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัวเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินเตรียมเข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2565

         นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่น สาขาอาชีพ/ประเภทที่กำหนดเป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร

โดยในปี 2565 นี้ มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่น ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2565 ในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วย เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 ราย สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 11 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 4 สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา ดังต่อไปนี้ 

          เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 16 ราย ได้แก่ 

1. อาชีพทำนา ได้แก่ นายพัด ไชยวงค์ จ.เชียงใหม่

2. อาชีพทำสวน ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จ.ชุมพร

3. อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายรุ่งเรือง ไล้รักษา จ.ประจวบคีรีขันธ์

4.อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางจิระวรรณ ยืนนาน จ.ชุมพร 

5. อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่นางนิกร แก้ววิสัย จ.อุดรธานี

6.อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง จ.ยะลา

7. อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายประวัติ พิริยศาสน์ จ.ปราจีนบุรี

8. อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายอรรถพงษ์ บุญเลิศฟ้า จ.นครปฐม

9. อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายวัลลภ วุ่นสุด จ.นครปฐม 

10. อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสมพร โล่ห์จินดา จ.เชียงราย 

11.สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายอดุลย์ วิเชียรชัย จ.ปทุมธานี 

12. สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายบรรจง แสนยะมูล จ.มหาสารคาม 

13. สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายสานนท์ พรัดเมืองจ.สุราษฎร์ธานี 

14.สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นางสุจารี ธนสิริธนากร จ.กาฬสินธุ์ 

15. ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวประทุมรัตน์ จงคูณกลาง จ.นครราชสีมา และ

16. สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวศิริมน พันธุ์พิริยะ จ.ตราด

          สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางค้อม จ.นครศรีธรรมราช

2. กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์

3. กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 จ.สมุทรสาคร 

4. กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนปลาส้มบ้านคำกลาง จ.อุบลราชธานี

5. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งโฮ้งหมู่ 5 จ.แพร่ 6. กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านบุเขว้า จ.นครราชสีมา 

7. กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตะเคียนงาม จ.กำแพงเพชร

8. สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จ.จันทบุรี

9. ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบัวงาม จ.อุบลราชธานี 

10.  ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้วนครราชสีมา และ 11. วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน

          สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 4 สหกรณ์ ได้แก่   สหกรณ์การเกษตรกุดข้าวปุ้น จำกัด จ.อุบลราชธานี    สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด จ.ลำพูน    สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลชัยภูมิ จำกัด จ.ชัยภูมิ และ  สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด จ.สกลนคร

สำหรับปราชญ์เกษตรของแผ่นดินในปีนี้ คณะกรรมการส่งเสริมปราชญ์เกษตรของแผ่นดินได้พิจารณายกย่องและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการเกษตรในสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณความดี มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ สมควรเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ให้ได้รับการดูแล ด้านสวัสดิการ และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถสู่สังคม มีผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2565 จำนวน 3 สาขา ได้แก่

 สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ นายอเนก สีเขียวสด จ.อ่างทอง  สาขาปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสงวน มงคลศรีพันเลิศ จ.กระบี่ และ สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี จ.ราชบุรี

          อนึ่ง ในวันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานในการประกอบพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองแก่อาชีพของตน เนื่องด้วยการเกษตรเป็นภาคการผลิตและเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้จัดงาน“วันเกษตรกร”ควบคู่กับวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรนับแต่นั้นเป็นต้นมา