พาณิชย์เปิดเพจ ‘กระจาย’ ผลไม้ตะวันออก

พาณิชย์เปิดเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก” เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ทั้งออนไลน์ในประเทศ ดันเป็นฮับผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ระบุ การจัดทำเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก” ภายใต้โครงการยกระดับตลาดผลไม้ ภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย เป็นการสร้างโอกาสในการหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออก ซึ่งเป็นตลาดหลักเพียงอย่างเดียว โดยเพจดังกล่าว จะช่วยแนะนำผลไม้ของภาคตะวันออก ช่วยกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการซื้อขายภายในประเทศ และช่วยผลักดันให้ผลไม้ภาคตะวันออกเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น โดยโครงการนี้จะช่วยสร้างโอกาสในการหาคู่ค้ารายใหม่ และลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดหลักเพียงอย่างเดียว รวมถึงกระตุ้นให้มีการบริโภคภายในประเทศได้ อีกด้วย

ปัจจุบันเกษตรกรไทยปลูกผลไม้ 57 ชนิด มูลค่าการส่งออกราว 4.5 หมื่นล้านบาทในแต่ละปี การส่งออกผลไม้ไทยกระจุกอยู่ที่ 3 ชนิด คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุดส่งให้กับตลาดใหญ่เพียง 2 แห่งคือ จีน และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และข้อมูลการพยากรณ์ผลไม้ตะวันออกของสินค้า 4 ชนิด ปี 2565 ได้แก่ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองในพื้นที่ 3 จังหวัด (จันทบุรี  ระยอง ตราด) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 27% หรือคิดเป็น 1.14 ล้านตัน เมื่อเทียบกับ ปี 2564  ที่มีจำนวน 9 แสนตัน

ทั้งนี้ ภาคตะวันออก ประกอบด้วย จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย กล้วยไข่ สับปะรด สละ ชมพู่ ขนุน มะยงชิด มะม่วง และส่วนใหญ่ส่งออกไปต่างประเทศ มากกว่า 90% ส่งออกไปจีน เวียดนาม และฮ่องกง ซึ่งบางครั้ง ตลาดส่งออกมีปัญหาถูกกดราคา หรือกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้การส่งออกมีความยุ่งยาก และกระทบต่อราคาจำหน่ายของเกษตรกร จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการยกระดับตลาดผลไม้ภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย

โดยกิจกรรมที่ได้มีการดำเนินการภายใต้โครงการนี้ ได้มีการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ภายในประเทศ เมื่อวันที่ 1–2 มี.ค.2565 ถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM มีผู้ประกอบการภาคตะวันออกเข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน 50 ราย และจัดทำเพจ “สุดยอดผลไม้ภาคตะวันออก” เพื่อเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคตะวันออกที่เข้าร่วมอบรม และยังได้นำเกษตรกรมาร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าต่างประเทศ มีผู้ประกอบการภาคตะวันออกเข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 30 ราย เป็นการเจรจาออนไลน์กับประเทศกัมพูชา จีน และสวิตเซอร์แลนด์

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์