ธ.ก.ส.ลุย ‘แก้หนี้’ ปลดแอกเกษตรกรไทย!

ธ.ก.ส. เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปี 2564 ปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วกว่า 6.6 แสนล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อโตเพิ่ม 3-5 หมื่นล้านบาท พร้อมวางมาตรการฟื้นฟูและลดหนี้ครัวเรือนเกษตรกรต่อเนื่อง

ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ระบุ ปีบัญชี 2565 มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพพร้อมสนับสนุนและดูแลเกษตรกรอย่างต่อเนื่องแม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤตโดยวางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้น 3-5 หมื่นล้านบาท เงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และ หนี้เสีย หรือ NPLs อยู่ที่ 4.5% โดยตั้งสำรองไว้กว่า 4 แสนล้านบาท อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัว 2% โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักที่มีโอกาสเติบโตได้ดี เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  อ้อย ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยความผันผวนด้านราคาน้ำมันที่เปิดโอกาสให้พืชทดแทนเข้าไปเป็นทางเลือก โดย ธ.ก.ส.จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตร หนุนพัฒนาชนบทสู่ความยั่งยืนและเน้นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้กับเกษตรกร

สำหรับผลการดำเนินงานปีบัญชี 2564 (1 เมษายน 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565) ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทในระหว่างปี จำนวน 6.67 แสนล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท หรือ 2.26% ยอดเงินฝากสะสม 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มจากต้นปีบัญชีจำนวน 1.2 แสนล้านบาท หรือ 6.75% มีกำไรสุทธิ 7.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญ ได้แก่ มาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน 

โดยโอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้วกว่า 5 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 8.8 หมื่นล้านบาทโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.6 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3 แสนราย จำนวนเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท เป็นต้น