ส่องเงินกู้ฯโควิด 5 แสนล้าน คงเหลือ 7 หมื่นล้าน รัฐใช้จ่ายอะไรไปแล้วบ้าง?

ส่องเงินกู้ฯโควิด 5 แสนล้าน คงเหลือ 7 หมื่นล้าน รัฐใช้จ่ายอะไรไปแล้วบ้าง?

สศช.เผยเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เหลือ 7.4 หมื่นล้าน แต่มีรายการรอใช้อยู่อีก 2.6 หมื่นล้านบาท เหลือวงเงินที่ทำโครงการได้อีก 5.8 หมื่นล้านบาท สศช.เผยโครงการที่จะใช้เงินกู้ที่เหลืออยู่ต้องพิจารณาตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันเงินกู้ฯตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาฟื้นฟู เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด พ.ศ. 2564 คงเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ได้มีการกันวงเงินกู้สำหรับคำขอใช้เงินกู้ไว้ให้กับหน่วยงานที่มีการขอใช้วงเงินไว้ 2 ส่วนแล้วประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทได้แก่ วงเงินกู้สำหรับเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท และวงเงินที่กันไว้สำหรับจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ทำให้เงินกู้ที่ยังไม่มีคำขอใช้คงเหลืออยู่ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งการใช้เงินกู้ที่เหลืออยู่ในส่วนนี้ต้องดูตามความเหมาะสมของสถานการณ์ด้วย

สำหรับงบกลางฯรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนในงบประมาณปี 2565 สำนักงบประมาณเปิดเผยว่าคงเหลือยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการกันวงเงินไว้ใช้รองรับภัยพิบัติ หรือเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่อาจจะเกิดขึ้นประมาณ 3 – 4 หมื่นล้านบาทต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของเงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาที่ ครม.อนุมัติโครงการต่างๆแล้วคงเหลือ 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสศช.ได้นำรายงานให้ ครม.รับทราบล่าสุดมีรายละเอียดคือได้มีการอนุมัติวงเงินในโครงการต่างๆไปแล้วรวม 67 โครงการ วงเงินรวม 3.13 แสนล้านบาท

แบ่งเป็นการใช้จ่ายตามแผนงานต่างๆ ได้แก่ 1.แผนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงินรวม 1.502 แสนล้านบาท อนุมุติไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาทเศษ คงเหลือ 20.8 ล้านบาท

โดยแผนงานนี้ครอบคลุม - การจัดหาเครื่องมือการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย การพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท 

- การปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงิน 230.87 ล้านบาท 

- รองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข วงเงิน 8.7 หมื่นล้านบาท 

 

2.แผนงานเยียวยา และดูแลค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1.85 แสนล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 1.6 แสนล้านบาทเศษ คงเหลือวงเงิน 2.51 หมื่นล้านบาท
 

โดยในส่วนของแผนงานนี้ครอบคลุมการรายจ่ายได้แก่

- การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน วงเงิน 1.43 แสนล้านบาท 

-การช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพ หรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องวงเงิน  1.7 หมื่นล้านบาทเศษ 

และ 3.แผนงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งโครงการเพื่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและอุปโภคบริโภคในระบบ วงเงิน 1.64 แสนล้านบาท มีการอนุมัติโครงการไปแล้วประมาณ 1.15 แสนล้านบาทเศษ โดยมีวงเงินคงเหลือประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท

โดยในแผนงานนี้ครอบคลุมโครงการต่างๆได้แก่ 

- การรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท 

- โครงการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 7.74 หมื่นล้านบาท