นายกฯ เปิดเวทีระดมความเห็น ‘ฟื้น’ ประเทศ

รัฐบาลจะรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วนมาจัดทำนโยบายในระยะต่อไป โดยจะจัดในเดือน พ.ค.นี้ และจะเสนอนายกฯ หลายรูปแบบ เช่น จัดเวทีสาธารณะ 1 ครั้ง จากนั้นมีเวทีย่อยในแต่ละประเด็นที่จะรวบรวมความเห็นให้นายกฯ รับทราบ หรือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ

รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อนุชา บูรพชัยศรี ระบุ รัฐบาลจะรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วนมาจัดทำนโยบายในระยะต่อไป โดยจะจัดในเดือนพ.ค.นี้ และจะเสนอนายกฯหลายรูปแบบ เช่น จัดเวทีสาธารณะ 1 ครั้ง จากนั้นมีเวทีย่อยในแต่ละประเด็นที่จะรวบรวมความเห็นให้นายกฯ รับทราบ หรือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในลักษณะเวทีสาธารณะภายนอก ร่วมกับการเชิญตัวแทนกลุ่มต่างๆ เข้ามาหารือกับนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล

ด้าน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ระบุ สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ปกติจึงต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่มีทั้งโควิด-19 และราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจที่เกิดขึ้นพร้อมกัน

ทุกประเทศเจอแบบเดียวกันหมด ไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ หากอยากกลับไปอยู่สถานการณ์ปกติก็เป็นความหวังของทุกคน รัฐบาลก็หวังให้ประชาชนได้กลับไปสู่ปกติ เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นานพอสมควรแล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ แถลงผลการทำงานในกลางเดือนพฤษภาคม นี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ารัฐบาลดำเนินการเรื่องใดไปแล้วบ้างซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะเจอทั้งโควิด และผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลใดเจอแบบนี้ 

โดย 10 มาตรการที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนหากมีเหตุการณ์มากขึ้นก็มีมาตรการเพิ่มได้และไทยจะไม่ประมาท

สศช. แจงเหลือเงินกู้ 7.4 หมื่นล้าน จาก 5 แสนล้าน

ด้าน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ
ปัจจุบันเงินวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาฟื้นฟู เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด พ.ศ.2564 คงเหลือ 7.4 หมื่นล้านบาท แต่ได้กันวงเงินกู้สำหรับคำขอใช้เงินกู้ไว้ให้กับหน่วยงานที่มีการขอใช้วงเงินไว้ 2 ส่วนแล้วประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ได้แก่ วงเงินกู้สำหรับเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท และวงเงินที่กันไว้สำหรับจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลโควิดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้เหลือวงเงิน 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งการใช้เงินกู้ที่เหลือต้องดูตามความเหมาะสมของสถานการณ์

สำหรับงบกลางฯ รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนในงบประมาณปี 2565 สำนักงบประมาณเปิดเผยว่าคงเหลือยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการกันวงเงินไว้ใช้รองรับภัยพิบัติ หรือเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่อาจจะเกิดขึ้นประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี

รายงานข่าวระบุว่า วงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติโครงการต่างๆ แล้วคงเหลือ 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง สศช.ได้นำรายงานให้ ครม.รับทราบล่าสุดมีรายละเอียดคือได้มีการอนุมัติวงเงินในโครงการไปแล้วรวม 67 โครงการ วงเงินรวม 3.13 แสนล้านบาท

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์