นักวิชาการชี้ลงทุนใน Metaverse มีความเสี่ยง

นักวิชาการชี้ลงทุนใน Metaverse มีความเสี่ยง

นักวิชาการชี้ลงทุนใน Metaverse มีความเสี่ยง เผยราคาที่ดินใน Metaverse ได้ปรับลดลงหลังเคยสูงถึง 300 เท่าในระยะ 2 ปี ขณะที่ อาจเป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการลงทุนเพื่อขายสินค้า และสร้างอาชีพใหม่ใน Metaverse

(20เม.ย.65)ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 1/2565 ในหัวข้อ “5 ประเด็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับ Metaverse” โดยมีนางสาววรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายคณิสร์ แสงโชติ รองศาสตราจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมบรรยาย

นางสาววรประภา กล่าวว่า Metaverse กับระบบเศรษฐกิจมีความเกี่ยวโยงกัน ซึ่งในปัจจุบันนักพัฒนากำลังสร้างโลก Metaverse ขึ้นมาหลายแห่ง โดยเมืองที่เปิดขึ้น และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจะมีอยู่ 2 เมือง คือ เดอะ แซนบ็อกซ์ กับ ดีแซนเทอร์แลนด์ ซึ่งมีการขายที่ดินค่อนข้างแพง ในเมืองไทยมีคนพยายามสร้างเมืองเหล่านี้มากมาย แต่ไม่ได้แพงขนาดนั้น อย่างไรก็ดี มีแต่คนที่เก่งเท่านั้น ที่จะดึงผู้ใช้เข้ามาในเมืองนั้นๆ เมื่อมีคนมาอยู่ในเมืองนั้นจำนวนมากก็มีโอกาสสร้างรายได้

ถามว่า การขายหรือซื้อที่ดินทำไปเพื่ออะไร คำตอบคือ ซื้อที่ดินได้ ก็สามารถเข้าไปเปิดร้านในเมืองนั้นๆได้ เช่น อยากจะเปิดร้านขายสินค้า เราต้องมีที่ดินในเมืองถึงจะเปิดขายสินค้าได้ หรือการสร้างเกมให้คนอื่นเข้ามาเล่น และเราเก็บเงินจากผู้เล่น หรือใช้ในการจัดทำกิจกรรมพีอาร์ต่างๆ”

 

เมื่อถามว่า ภาคธุรกิจจะใช้ประโยชน์จาก Metaverse อย่างไรบ้าง เธอกล่าวว่า ขอสรุปเป็น 3 ประเด็น คือ 1.ใช้เพื่อทำพีอาร์มาร์เก็ตติ้งเพื่อหาลูกค้าใหม่ สมมติ ต่อไป คนเข้าไปใช้ชีวิตในMetaverse มากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะทำพีอาร์มาร์เก็ตติ้งเพื่อให้คนสนใจสินค้าเรา

2.สำหรับลูกค้าที่เรามีอยู่แล้ว เราอาจจะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เขาได้ เช่น โรงพยาบาลซึ่งอาจจะมีลูกค้าที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วลูกค้าอาจจะไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลทุกครั้งก็ได้ บางครั้งอาจจะต้องการคุยกับคุณหมอในห้องMetaverse ก็ได้ หรือการขายสินค้า ซึ่งปกติอาจจะไปเดินซื้อในห้าง แต่ต่อไป อาจเข้ามาดูสินค้าใน Metaverse ก่อนก็ได้

3.จริงแล้วMetaverse อาจทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ได้ ก็จะเห็นว่า มีธุรกิจใหม่ๆ มาขาย หรือ สร้างเกมมาขาย ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ในMetaverse ก็สามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีอาชีพใหม่ๆ ในโลก Metaverse เช่น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล หรือ ผู้จัดงานอีเวนท์ ต่างๆ เป็นต้น

สำหรับ Hype Cycle ของ Metaverse นั้น จะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี และทำให้เกิดการคาดหวังที่เกินจริงกับเทคโนโลยีนั้นๆ ถ้ามองย้อนกลับไปไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี หรือ บล็อกเชน ในยุคแรกๆ คนจะตื่นเต้นมาก ฉะนั้น ในช่วงปลายปีที่แล้ว คนค่อนข้างตื่นเต้นกับ Metaverse อาจเป็นเพราะปลายปีที่แล้ว เฟสบุ๊กประกาศใช้คำว่า Meta ขึ้นมา รวมถึง ราคาที่ดินก็ปรับขึ้นใน Metaverse แต่ไม่ว่า จะเป็นเทคโนโลยีไหนๆ เมื่อสร้างมาแล้ว คนก็จะเห็นข้อเท็จจริงว่า มีข้อดีข้อเสียอะไร

เมื่อมอง Metaverse จะเห็นว่า ราคาเหรียญที่สูงเมื่อปลายปีที่แล้ว ตอนนี้ ราคาเหรียญเริ่มลงมาแล้ว ราคาที่ดินก็ลงมาแล้ว ฉะนั้น ก็อยากให้ศึกษาเวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา และคิดด้วยว่า บางครั้งหลายคนยังไม่รู้ความเป็นจริงเป็นอย่างไร ถ้าวิ่งเข้าไปซื้อราคาที่ดินแพงๆ ผ่านมาสักพักอาจจะขาดทุนได้ ก็ฝากเป็นข้อชวนคิด”

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตามที่เราเห็นว่า ราคาที่ดินที่แพงใน Metaverse นั้น เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า มีการฮั้วราคาที่ดินกันไหม หรือ อาจจะปั่นราคา ก็ได้ หรือ เป็นพีอาร์ จ้างให้คนมาลองซื้อ แต่ข้างหลังอาจจะมีการจ่ายเงินก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งเราไม่สามารถตรวจสอบได้ ฉะนั้น เวลาพิจารณาเข้าไป ก็ให้ระวัง และ แนะนำว่า เมืองหรือที่ดินในโลก Metaverse นั้น สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ ฉะนั้น ที่ดินมีไม่จำกัด แต่ก็เป็นความท้าทายของเจ้าของเมืองที่จะสร้างให้เมืองมีความน่าสนใจไปตลอด

ยกตัวอย่าง ก่อนที่จะมีเฟสบุ๊ก ก็มี Hi 5 แต่ว่า เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ คนย้ายจาก Hi 5 มาเฟสบุ๊ก และใช้เวลาอยู่บนเฟสบุ๊ก ซึ่งเป็นการแข่งขันบนแพลตฟอร์ม แต่ว่า ใครจะ Win เรายังไม่รู้ ต้องจับตามอง”

นายคณิสร์ กล่าวถึงงานวิจัยกรณีการเข้าลงทุนซื้อที่ดินใน Metaverse ว่า จากการศึกษาพบว่า ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาที่ดินได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 300 เท่า และ ยังมีการซื้อขายที่ดินแบบซื้อขายซ้ำเฉลี่ยถึง 12 เท่า ซึ่งแตกต่างจากโลกภายนอก นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการได้กำไรเฉลี่ย 11 เท่า และ สูงสุดถึง 673 เท่า

ทั้งนี้ ในการซื้อขายที่ดินในตลาดรองของ Metaverse จะพบว่า มีการใช้เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีสกุล ETH(อีทีเรียม) สูงสุด 74% รองลงมา 16.3% ใช้เหรียญ wETH (Wrapped ETH) ซึ่งเป็นโทเคนประเภทหนึ่ง และ 9.3% ใช้เหรียญ SAND ทั้งนี้ ใน Metaverse ส่วนใหญ่จะไม่มีการใช้เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่สามารถแปลงราคาเหรียญเป็นดอลลาร์สหรัฐได้

ใน Metaverse สามารถมองเป็นประเทศๆ หนึ่งได้เหมือนกัน และประเทศที่ค่าเงินแข็งกว่าเทียบกับประเทศที่ค่าเงินอ่อนกว่าก็ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของคนเหมือนกัน คำว่า ถูกหรือแพง จะขึ้นอยู่กับว่า เราใช้หน่วยอะไรในการตัดสินใจ และเหมือนกับว่า เราไปเที่ยวในประเทศที่ค่าเงินอ่อน เรารู้สึกรวย ถ้าเราไปเที่ยวประเทศที่ค่าเงินแข็ง เราจะรู้สึกแพง การตัดสินใจไป Metaverse ไหนก็จะเหมือนกัน”

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์