หนังเล่าโลก: Arab Blues (Un divan à Tunis) 'จิตบำบัดอาหรับสับสน'

หนังเล่าโลก: Arab Blues (Un divan à Tunis) 'จิตบำบัดอาหรับสับสน'

คนที่ติดตามการเมืองระหว่างประเทศจะต้องรู้จัก “อาหรับสปริง” การลุกฮือของประชาชนต่อต้านอำนาจเผด็จการในโลกอาหรับที่ครบ 10 ปีเมื่อเดือน ธ.ค.2563 โดยมีจุดเริ่มต้น ณ ประเทศตูนิเซีย เมื่อมีภาพยนตร์เกี่ยวกับประเทศนี้จึงน่าสนใจติดตามไม่น้อย อย่างภาพยนตร์เรื่อง Arab Blues (Un divan à Tunis) ที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นำมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ภาษาฝรั่งเศส French Cinema Season เมื่อวันก่อน

Arab Blues (Un divan à Tunis) ภาพยนตร์ปี 2562 ผลงานการกำกับของ Manele Labidi บอกเล่าเรื่องราวของเซลมา หญิงสาวชาวตูนิเซียที่อพยพไปอยู่ปารีสตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จนเรียนจบด้านจิตวิเคราะห์ แล้ววันหนึ่งเธอก็กลับมาตุภูมิเพื่อมาเปิดคลินิกจิตบำบัดบนดาดฟ้าบ้านของลุงและป้า แต่ปฏิกริยาของพวกเขาคือ “คนอาหรับเรามีพระเจ้าอยู่แล้ว” นั่นหมายความว่าอาชีพที่เซลมาจะทำไม่เป็นสิ่งจำเป็นในสังคมตูนิเซีย 

เซลมาต้องการโฆษณาคลินิกบำบัดจิตของเธอ จึงไปเข้าร้านเสริมสวยของบายา ที่มีลูกค้าหญิงหลากวัยมาใช้บริการเต็มไปหมด พร้อมขอโอกาสแนะนำคลินิกให้เหล่าลูกค้าได้ทราบ แต่เมื่อบายาได้ล่วงรู้ถึงสิ่งที่เซลมาจะทำ ปฏิิกริยาของบายาก็ไม่ต่างจากลุงและป้า “คนอาหรับเราพูดมากอยู่แล้ว มาที่ร้านก็พูด พูด พูดกันไม่ได้หยุด” สาวใหญ่เจ้าของร้านเสริมสวยและสปาดังของเมืองเป็นอีกคนหนึ่งที่ตอกย้ำว่า การบำบัดจิตไม่ใช่สิ่งจำเป็น 

แต่สาวมั่นจากปารีสอย่างเซลมามีหรือจะยอมแพ้ เธอมุ่งมั่นเปิดคลินิกบำบัดจิตจนได้และสิ่งที่ตรงข้ามกับความคาดหมายคือ มีคนมาเข้าแถวรอใช้บริการแน่นเอี๊ยดเพราะต่างคนต่างมีเรื่องในใจที่ต้องการหาคนคุยด้วยอย่างมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มขายขนมปังที่ฝันถึงผู้นำประเทศที่มีอิทธิพลต่อโลกอาหรับอย่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรีย สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อกโกอยู่บ่อยๆ จนเริ่มไม่แน่ใจในเพศของตน หรือบายา นักธุรกิจหญิงผู้ประสบความสำเร็จทุกอย่างที่ผู้หญิงในสังคมตูนิเซียพึงมี แต่เธอก็มีปมในใจต้องการระบาย ไม่เว้นแม้แต่อิหม่ามผู้ถูกปลดจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหายังเป็นมุสลิมได้ไม่ดีพอ 

นั่นคือคนไข้ของเซลมาที่มาปรึกษาที่คลินิก แต่คนในครอบครัวเธอก็มีความอึดอัดคับข้องใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นป้าผู้ต้องรับผิดชอบดูแลลูกสาวแหกคอก ลุงที่ต้องเสียสละความสุขของตนเองเพื่อครอบครัว หรือโอลฟาลูกสาวของลุงและป้าที่เบื่อตูนิเซียเต็มที เธอพยายามหาทางออกไปจากประเทศนี้ถึงขนาดยอมแต่งงานกับเกย์เพื่อจะได้ออกไปอยู่ปารีสหรือลอนดอนแล้วต่างคนต่างใช้ชีวิต 

เห็นชีวิตแต่ละคนแล้วก็น่าเห็นอกเห็นใจตัวละครทั้งหลาย แต่ถ้าดูเงื่อนเวลาก็พอจะเข้าใจได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวสังคมตูนิเซียหลังการปฏิวัติ จุดเริ่มต้น (ที่ไม่ได้กล่าวถึงในหนัง) มาจากพ่อค้าหาบเร่แผงลอยคนหนึ่งจุดไฟเผาตัวเองเพราะความคับแค้นจากความอยุติธรรมผลจากรัฐบาลบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ ความตายของเขาจุดชนวนให้ประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ประธานาธิบดีไซเน เอล อบิดีน เบน อาลี ผู้ปกครองประเทศมานาน 24 ปี นานมากถึงขนาดที่ตาของเซลมาไม่รับรู้ว่าตูนิเซียเปลี่ยนผู้นำไปแล้ว 

ดูถึงตรงนี้ได้ข้อคิดว่า การต้องทนอยู่กับอะไรนานๆ เช่น การปกครองในระบอบเผด็จการภายใต้ผู้นำที่ไร้ความสามารถได้สร้างความชินชาให้กับผู้คน ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงก็นำมาซึ่งความไม่คุ้นเคย ในเมื่อชาวตูนิเซียได้ชั่งน้้ำหนักระหว่างความคุ้นเคยเก่าๆ กับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่ดูมีอนาคตมากกว่า โดยตัดสินใจเลือกอย่างหลังก็ต้องเดินหน้ากับสิ่งใหม่นั้นต่อไปแม้ว่าในช่วงแรกอาจจะรู้สึกสับสนกันบ้างก็ตาม หนังเล่าโลกขอเป็นกำลังใจให้ชาวตูนิเซียผู้จุดประกายให้กับโลกอาหรับก้าวข้ามภาวะนี้ไปให้ได้