"โดนัลด์ ทรัมป์" กระสุนนัดแรกถูกยิงแล้ว

"โดนัลด์ ทรัมป์" กระสุนนัดแรกถูกยิงแล้ว

หลังจากทิ้งให้ผู้คนสงสัยว่าจะทำจริงหรือไม่ ทรัมป์ก็ประกาศมาตรการกีดกันการค้าที่รุนแรงกว่าสมัยแรก โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศพันธมิตรใกล้ชิดอย่างแคนาดาและเม็กซิโก

โดยในวันที่ 1 ก.พ. ทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั้งสองประเทศในอัตรา 25% ซึ่งครอบคลุมมูลค่าการนำเข้ารวมกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 40% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ

แต่ภายหลังแรงกดดันจากภาคธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทรัมป์ตัดสินใจระงับการขึ้นภาษีกับแคนาดาและเม็กซิโกเป็นเวลา 30 วัน แต่ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีเพิ่ม 10% กับสินค้าจากจีนทั้งหมด (Broad-base)

ณ วันที่ 4 ก.พ. 68 จีนได้ประกาศมาตรการตอบโต้ โดยจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐหลายรายการ เช่น น้ำมันดิบและเครื่องจักรการเกษตร (10%) รวมถึงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (15%)

นอกจากนี้ยังดำเนินการสอบสวน Google ในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด และเพิ่มบริษัท PVH (เจ้าของแบรนด์ Calvin Klein) และ Illumina เข้าสู่รายชื่อบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ

นอกจากนั้น จีนยังได้สั่งห้ามส่งออกแกลเลียม เจอร์เมเนียมและแอนติโมนี ซึ่งจำเป็นในการผลิตชิปขั้นสูง อาวุธและกระสุน รวมถึงวัสดุแข็งพิเศษที่ใช้ในกลาโหม โดยล่าสุด จีนเพิ่มการควบคุมโลหะอีก 5 ชนิด รวมถึงทังสเตนที่ใช้ในกระสุนเจาะเกราะ และผงโมลิบดีนัมที่ใช้ในการผลิตขีปนาวุธ

แม้ยังไม่มีการสั่งห้ามส่งออก แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงความพร้อมในการใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ จีนครองส่วนแบ่งตลาดการผลิตโลหะหายากที่สำคัญของโลกถึง 90%

ในส่วนของทรัมป์ หลังจากขึ้นภาษีกับจีน 10-15% และจีนได้ตอบโต้แล้ว ณ วันที่ 9 ก.พ. ว่า ทรัมป์ประกาศเตรียมเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% จากทุกประเทศ แต่ยังไม่มีรายละเอียด

ซึ่งผู้เขียนมองว่า พัฒนาการล่าสุดนี้ ทำเพื่อบีบสหภาพยุโรปเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา ยุโรปได้รับการยกเว้นภายใต้ข้อตกลงพิเศษตั้งแต่ปี 2565 ที่อนุญาตให้ส่งออกได้ตามโควตาโดยไม่เสียภาษี

แม้สถานการณ์ต่างๆ ยังจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงสูง แต่ผู้เขียนมองว่า บทสรุปเบื้องต้นของสงครามการค้าของทรัมป์ในสมัยที่สองมีความแตกต่างจากสมัยแรกใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

(1) ความรวดเร็วในการดำเนินการ - ทรัมป์ประกาศนโยบายและบังคับใช้ภายใน 3 วัน ต่างจากสมัยแรกที่ให้เวลาธุรกิจเตรียมตัวหลายเดือน

(2) ขอบเขตที่กว้างขึ้น - ไม่จำกัดเฉพาะจีน แต่รวมถึงพันธมิตรใกล้ชิด และมีแผนขยายไปยังสหภาพยุโรปและไต้หวัน (โดยเฉพาะในประเด็นเซมิคอนดักเตอร์) 

(3) การบริหารจัดการภายใน - ทีมงานในทำเนียบขาวล้วนเป็นผู้สนับสนุนนโยบายของทรัมป์ ต่างจากสมัยแรกที่มีเสียงคัดค้านจากที่ปรึกษา

ผู้เขียนมองว่า แม้จะไม่สามารถคาดการณ์จังหวะเวลาได้ แต่เป็นไปได้สูงที่จะเห็นการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่กับหลายประเทศในอนาคต

อย่างไรก็ดี การที่ทรัมป์ยอมผ่อนปรนมาตรการกับแคนาดาและเม็กซิโก สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นยังคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่อาจกระทบความนิยมทางการเมือง

สำหรับทิศทางในอนาคต ผู้เขียนมองว่า ทรัมป์จะประกาศมาตรการทางการค้าได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการต่อต้านจากภาคธุรกิจอาจลดลง

ขณะที่กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากรัฐสภาและศาลมีแนวโน้มอ่อนแอลง ส่งผลให้ทรัมป์มีอิสระในการดำเนินนโยบายการค้าเชิงปกป้องมากขึ้น

ในปัจจุบัน นโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนของทรัมป์ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่แพ้การขึ้นภาษีนำเข้าโดยตรง โดยส่งผลกระทบทั้งต่อการลงทุนและการจ้างงานทั้งในและนอกสหรัฐ

จากการศึกษาของธนาคารกลางนิวยอร์กพบว่าดัชนีความไม่แน่นอนทางการค้าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2503 สะท้อนจากการวิเคราะห์บทความข่าวที่มีการกล่าวถึงคำว่า “ภาษีนำเข้า” ควบคู่กับคำว่า “ความไม่แน่นอน” หรือ “คลุมเครือ”

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่วางแผนสร้างโรงงานเพื่อขยายธุรกิจในสหรัฐ ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเลือกทำเลที่ตั้ง เนื่องจากทรัมป์มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีกับจีนและเม็กซิโกบ่อยครั้ง ส่งผลให้หลายบริษัทเลือกที่จะชะลอการลงทุนออกไป

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและซัพพลายเออร์ จากงานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างบริษัทฝรั่งเศสกับพันธมิตรในยุโรปมีระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 6 ปี แต่ในภาวะที่นโยบายการค้าไม่แน่นอน บริษัทมีแนวโน้มที่จะลังเลในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจใหม่ๆ

ด้านผลกระทบต่อตลาดทุน การศึกษาพบว่า ในช่วงสงครามการค้าปี 2561-2562 ตลาดหุ้นสหรัฐ ร่วงลงรวม 12% ในวันที่มีการประกาศมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐและจีน คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยครึ่งหนึ่งของการปรับตัวลงเกิดจากความกังวลต่อความเสี่ยง มากกว่าการคาดการณ์กำไรที่จะลดลง

ผู้เขียนมองว่า ความวุ่นวายจากคำขู่สงครามการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงความเสี่ยงว่าจะรุนแรงในอนาคต จะทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อตกลงการค้าในภูมิภาคลดลง ทำให้ธุรกิจไม่มั่นใจในการหาเครือข่ายการผลิตข้ามพรมแดน และอาจส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

ภาพเหล่านี้ เข้าใกล้สมมติฐานของ IMF มากขึ้น โดยปัจจุบันทรัมป์มีแนวโน้มจะใช้การขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือต่อรองกับแคนาดาและเม็กซิโก แต่มุ่งเน้นทำสงครามการค้ากับจีนอย่างจริงจัง

ส่งผลให้อัตราภาษีระหว่างสหรัฐ-จีนพุ่งสูงถึง 25-30% สอดคล้องกับสมมติฐานของ IMF ที่คาดว่าสหรัฐจะขึ้นภาษี 10% กับสินค้าทุกประเภทจากจีนและยุโรป ตามด้วยการตอบโต้ในอัตราเดียวกัน

ภายใต้สถานการณ์นี้ ผู้เขียนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป จีน และไทยในปี 2568 จะขยายตัวต่ำกว่าที่ IMF เคยคาดไว้ ขณะที่การส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ขยายตัวได้ดีถึง 5.4% จากปีก่อนที่หดตัว -0.8% นั้น ไม่น่าจะยั่งยืน

เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากการเร่งส่งออกก่อนสงครามการค้า โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี และเครื่องจักรกล หากทรัมป์เก็บภาษีนำเข้าแบบเฉพาะเจาะจง สินค้าไทยที่เสี่ยงถูกขึ้นภาษี ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ยางและผลิตภัณฑ์ อัญมณี และเครื่องจักรกล คิดเป็น 12.1% ของมูลค่าส่งออกรวม

แต่หากทรัมป์เลือกที่จะขึ้นภาษี 10% แบบถ้วนหน้า การส่งออกไทยอาจหดตัวรุนแรงถึงกว่า -1.9% ส่งผล GDP ชะลอลงรุนแรงได้ โดยผู้เขียนมองว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ 2.5% ในปีนี้ จากเดิมคาด 2.7% ขณะที่ส่งออกอาจหดตัวประมาณ -1.0% กระสุนนัดแรกถูกยิงแล้ว ความรุนแรงมีแต่จะมากขึ้น ท่านผู้อ่านทั้งหลาย โปรดระวัง

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่