มหาตมะ คานธี ไม่ใช่ 'คนดี' | วรากรณ์ สามโกเศศ

มหาตมะ คานธี ไม่ใช่ 'คนดี' | วรากรณ์ สามโกเศศ

“คานธีควรถูกยิงก่อนหน้านั้นแล้ว” “ถ้าไม่มีคานธีป่านนี้เราก็ไม่ต้องแบ่งแยกดินแดน” “ควรมีอนุสาวรีย์ให้ผู้ฆ่าคานธี” “หลักการ “อหิงสา” ทำให้อินเดียอ่อนแอ” “จริงๆ แล้วคานธีก็คือสายลับของอังกฤษ” ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ที่ด้อยคุณค่าของมหาตมะ คานธี ปรากฏอยู่ในสังคมอินเดียปัจจุบัน

กระแสชังบุคคลผู้ที่ครั้งหนึ่งคนอินเดียเชิดชูให้เป็น “บิดาของชาติ" กำลังมาแรง ปรากฏการณ์นี้เป็นที่ตกตะลึงแก่คนอินเดียจำนวนไม่น้อยและชาวโลก มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

มหาบุรุษท่านนี้เป็นผู้นำการต่อสู้กับอังกฤษ เพื่อทวงคืนเอกราชโดยใช้หลักการ “อหิงสา” หรือการไม่เบียดเบียนเว้นจากการทำร้ายและไม่ใช้ความรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แนวทางนี้ชนะใจชาวโลกและบีบให้อังกฤษเจ้าอาณานิคมยอมปล่อยอินเดียให้เป็นเอกราชในที่สุด

ชื่อเดิมของคานธีคือ โมหันทาส กรัมจันท์ หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยลอนดอนก็กลับมาประกอบอาชีพนักกฎหมาย จนในปี 1916 ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสานต่อการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่คนอินเดีย ในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยผนึกกำลังข้ามระยะเวลาอันยาวนานด้วย “สัตยาเคราะห์” หรือการยึด “ความจริง” เป็นหลักของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม 

มหาตมะ คานธี ไม่ใช่ \'คนดี\' | วรากรณ์ สามโกเศศ

เขาใช้วิธีดื้อแพ่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งที่เห็นว่าไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่ใช้วิธีรุนแรง ซึ่งรวมกันเป็นพลังที่สั่นสะเทือนอำนาจที่กดขี่ชาวอินเดียอย่างได้ผล

หลังจากต่อสู้รวมกันยาวนานถึง 90 ปี อินเดียก็ได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 แต่เอกราชได้มาด้วยการที่ “อินเดียเดิม” (British India) ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ คือปากีสถานและอินเดีย (ประกาศเมื่อ 3 มิถุนายน 1947)

และตามมาด้วย Indian Independence Act 1947 (ประกาศเมื่อ 14 สิงหาคม 1947) โดยปากีสถานได้รับเอกราชก่อนและข้ามเที่ยงคืนมาไม่กี่นาทีอินเดียก็ได้รับเอกราช

ความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมในอินเดียที่มีมานานได้รับ “การแก้ไข” โดยปากีสถานแยกไปเป็นดินแดนของชาวมุสลิม ส่วนชาวฮินดูอยู่ในอินเดีย สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ คนอินเดียต้องอพยพกันวุ่นวายจนมีคนไร้บ้าน 14 ล้านคน

และเกิดการต่อสู้ฆ่าฟันกันจนมีคนตายราว 200,000-2,000,000 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมแสนเศร้าครั้งใหญ่ของโลก

คานธีต้องการเห็นสังคมอินเดียที่ยอมรับชาวมุสลิม ชาวซิกข์และคนในศาสนาอื่นๆ อย่างเท่าเทียม เป็นสังคมที่ยอมรับความเชื่อที่หลากหลาย อย่างไรก็ดี ฮินดูชาตินิยมกลุ่มหนึ่งไม่พอใจแนวคิดนี้ของเขา

กลุ่มที่เกลียดชังมหาตมะ คานธี อย่างมากก็คือ กลุ่มฮินดูฝ่ายขวา ที่มีความคิดว่า “อินเดียต้องเป็นของฮินดูเท่านั้น” ไม่สนใจเรื่องการกลมกลืนของคนต่างศาสนา การเท่าเทียมกันของสิทธิพลเมือง ฯลฯ 

มหาตมะ คานธี ไม่ใช่ \'คนดี\' | วรากรณ์ สามโกเศศ

การฆ่าฟันระหว่างฮินดูกับมุสลิมที่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์เกิดรุนแรงขึ้น หลังจากแบ่งแยกดินแดนแล้วกับมุสลิมที่หลงเหลืออยู่ในอินเดีย (ปัจจุบันมี 200 ล้านคน) ความรุนแรงเกิดขึ้นหนักในรัฐปัญจาบและเบงกอล

คานธีพยายามช่วยระงับข้อขัดแย้งโดยเดินทางไปเยี่ยมสถานที่ที่เกิดความรุนแรงหลายครั้ง และในครั้งสุดท้ายลูกปืนสามนัดก็แล่นเข้าที่หน้าอกและปลิดชีวิตเขาในวันที่ 30 มกราคม 1948 ขณะอายุ 78 ปี

ผู้สังหารเขาเป็นชาวฮินดูชาตินิยมชื่อ นาธุราม กอดเส (Nathuram Godse) ซึ่งในที่สุดถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับผู้สมคบคิดอีกหลายคน กลุ่มที่เกลียดและชิงชังคานธีมีชื่อว่า RSS (มาจากชื่อของผู้นำฝ่ายขวาหัวรุนแรงของฮินดู Rashtriya Swayamsevak Sangh) กลุ่มนี้โจมตีด่าทอคานธีในช่วงปลายชีวิตอย่างเปิดเผย

ในปัจจุบันแม้คนอินเดียจำนวนมากจะยังคงชื่นชมบูชาคานธี แต่ “เชื้อ” ของกลุ่ม RSS ยังไม่หมดไปและกลับมาแรง จนสามารถสร้างกระแสเกลียดชังขึ้นได้

เพราะพรรค BJP (Bharitiya Janata Party) ของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งครองอำนาจมา 8 ปีกว่าเติบโตมาจากกลุ่ม RSS เมื่อตอนเป็นหนุ่มนายโมดีก็เป็นสมาชิกของกลุ่ม RSS เช่นเดียวกับสมาชิกของพรรคอีกหลายคน 

ตอนหาเสียงเลือกตั้งผู้นำพรรค BJP กล่าวสรรเสริญฆาตกรที่สังหารคานธีต่อหน้าฝูงชนว่าเป็น “ผู้รักชาติ” และเมื่อไม่นานมานี้ในโซเชียลมีเดียมีคลิปเรื่องแผนการสร้างอนุสาวรีย์ให้ฆาตกร ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าดูนับล้านคน

เมื่อได้เป็นรัฐบาลพรรค BJP ก็เดินหน้าตามอุดมการณ์ของการเป็นฮินดูฝ่ายขวา ด้วยการคุมนโยบายด้านการศึกษา ด้านประชาสัมพันธ์และการใช้เครื่องมือทางโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพในการด้อยคุณค่าคานธี

เพราะเท่ากับเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในคำสอนของเขา ที่ต้องการเห็นสังคมอินเดียที่คนทุกศาสนาเท่าเทียมกันและอยู่ด้วยกันอย่างสันติ  

นอกจากนี้ โมดีต้องการสร้างให้ตนเองเป็นที่ชื่นชมบูชาของคนอินเดียในรูปแบบ personality cult (นับถือบูชาในฐานะปัจเจกบุคคล) ซึ่งจะได้ผลเมื่อสามารถลบคานธีออกไปจากใจประชาชน

ผู้เขียนต่างประเทศวิจารณ์ปรากฏการณ์ด้อยค่าคานธีนี้ว่า เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาการครองอำนาจของนายโมดี พรรค Congress พรรคใหญ่ที่หลุดมาเป็นฝ่ายค้านก็ไม่สนใจไยดีต่อสู้รักษาชื่อเสียงของคานธี ซึ่งเป็นผู้ทำให้พรรคนี้ใหญ่โตขึ้นมาตั้งแต่มอบให้นายยาวาฮาลาร์ล เนห์รู พ่อนางอินทิรา คานธี เป็นผู้สืบทอด 

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ เมื่อถูกกระแสโซเชียลมีเดียกระหน่ำก็ดูจะโอนเอียงเชื่อตามการด้อยคุณค่า จนสังคมอินเดียดูจะไหลแรงไปในทิศทางนี้

ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นในบ้านเราหรือไม่ หนทางหนึ่งที่อาจช่วยได้ก็คือการสร้างความแข็งแกร่งในการบูชา “ความดี ความงามและความจริง” ในระบบการศึกษาของเรา