เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นายกฯหญิงคนใหม่อังกฤษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นายกฯหญิงคนใหม่อังกฤษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สหราชอาณาจักรนั้นจะถูกบริหารโดยนายกรัฐมนตรีหญิงอีกครั้ง

หลังจากที่ ลิซ ทรัสส์ คว้าชัยชนะในกระบวนการคัดเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษนิยม) ของอังกฤษ และเพราะสภาผู้แทนฯ ที่ยังไม่ถูกยุบ ดังนั้นตำแหน่งนายกฯ จึงเป็นของหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในสภาไปโดยปริยาย

ทรัสส์เกิดในครอบครัวของชนชั้นกลางอังกฤษที่มีการศึกษาดี แม่เป็นนางพยาบาล พ่อเป็นนักคณิตศาสตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์

ทรัสส์เติบโตในครอบครัวนักวิชาการที่ค่อนข้างเอียงซ้าย ทำให้เธอมีความคิดที่ค่อนข้างเสรี สังเกตได้จากการสนับสนุนประเด็นกัญชาเสรี ประเด็นยกเลิกสถาบันกษัตริย์ และการเป็นประธาน Oxford University Liberal Democrats ก่อนที่จะเปลี่ยนมาสนับสนุนและเป็นสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟในปี 2539

ในปีเดียวกันนั้น เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขา PPE (ปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์) ซึ่งถือเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมมากสำหรับชนชั้นนำที่ต้องการจะเข้าสู่วงการเมือง สังเกตได้จากจำนวนนายกรัฐมนตรีทั้งของอังกฤษและทั่วโลก ไม่รวมนักการเมืองอีกจำนวนมาก เช่น อดีตนายกฯ เดวิด คาเมรอน อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ทรัสส์ทำงานในภาคเอกชนที่บริษัท Shell และบริษัท Cable&Wireless รวมแล้วเกือบ 10 ปีตั้งแต่เรียนจบ ซึ่งระหว่างนี้เองที่เธอเริ่มลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น และก็คงไม่สามารถพูดได้ว่าเธอประสบความสำเร็จเพราะความพ่ายแพ้ถึง 2 ครั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่รับรวมความพ่ายแพ้อีก 2 ครั้งในการเลือกตั้งสนามใหญ่สู่สภาผู้แทนฯ ที่เวสต์มินสเตอร์

15 ปีหลังจบการศึกษา ทรัสส์เป็นตัวแทนพรรคคอนเซอร์เวทีฟและได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนฯ ครั้งแรกในปี 2553 ทั้งที่มีกรณีความสัมพันธ์ชู้สาวกับ มาร์ค ฟิลด์ ส.ส.และนักการเมืองอาวุโสร่วมพรรคที่แต่งงานแล้ว

2 ปีหลังได้รับเลือกตั้ง ทรัสส์ไต่เต้าจากการเป็นส.ส.หน้าใหม่ไฟแรง ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐมนตรีช่วยในปี 2555 และในที่สุดรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมในปี 2557 ภายใต้รัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟของเดวิด คาเมรอน ซึ่งเป็นรุ่นพี่ร่วมคณะ PPE และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ทรัสส์เติบโตในสายการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมพ่วงด้วยตำแหน่ง Lord Chancellor ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่เก่าแก่อายุเกือบ 1,000 ปี ซึ่งโดยประเพณีแล้วตำแหน่งนี้สูงมากและสามารถทัดทานอำนาจนายกรัฐมนตรีได้ ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงแก้กฎหมายให้อำนาจนี้ย้ายมาอยู่ในมือของประธานสภาผู้แทนฯ ทรัสส์ถือเป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวที่เคยดำรงตำแหน่งนี้ภายใต้การแต่งตั้งของอดีตนายกฯ หญิง เทเรซา เมย์

ทรัสส์ผ่านตำแหน่งด้านบริหารมากมายหลายกระทรวงโดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการค้า เศรษฐกิจและการต่างประเทศ และตำแหน่งสุดท้ายก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกระทรวงเกรดเอ ที่มักจะถูกมองว่าเป็นบันไดขั้นสุดท้ายก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ในกรณีของทรัสส์และบอริส จอห์นสัน อดีตนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ

12 ปีหลังจากความสำเร็จในการเข้าสู่เส้นทางการเมือง ทรัสส์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และได้เข้าเฝ้าควีนเพื่อรับคำเชิญในการตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยตามประเพณีที่ปราสาทแบลมอรัลในสกอตแลนด์

นี่ถือเป็นการเปิดและเริ่มสร้างประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ