ปรับตัวรับพลังใหม่ (2)
หากเข้าใจความเปลี่ยนแปลงย่อมมองเห็นโอกาสที่จะใช้พลังจากคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
ความแตกต่างระหว่างวัยทำให้การบริหารคนในยุคปัจจุบันยากกว่าในอดีตมาก ด้วยมุมมองและ วิถีชีวิตที่แตกต่างกันทำให้แนวทางในการใช้ชีวิตของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เหมือนคนละขั้วดังที่เกริ่นไว้ Think out of The Box ฉบับที่แล้ว
การทำความเข้าใจในความแตกต่างนั้นจะทำให้ผู้บริหารมองเห็นช่องว่างที่เกิดขึ้นและสามารถคิดหาวิธีดึงเอาพลังและความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่มาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยมุมมองที่ต่างกันประการแรกคือความมั่นใจว่านี่เป็นยุคของเขา
ด้วยความที่ธุรกิจดิจิทัลเติบโตมาด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่เจ้าของธุรกิจประสบความสำเร็จขึ้นมาด้วยวัยเพียง 25-30 ปี ก่อให้เกิดกระแสการเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเขามั่นใจว่าเขามีความรู้ความสามารถมากพอที่จะขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเองได้ หรือไม่ก็หันมาทำอาชีพอิสระเพราะเชื่อว่ามีรายได้ ไม่แพ้การทำงานประจำ
ประการที่สองคือ ความต้องการเป็นศูนย์กลางในองค์กร นี่คือมุมมองที่ต่างจากคนรุ่นเก่าโดยสิ้นเชิง เพราะในอดีตคนทำงานดูเหมือนจะพึงพอใจกับบทบาทในการเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในองค์กรขนาดใหญ่ และภูมิใจที่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จขององค์กร ในขณะที่คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับความสำเร็จของธุรกิจดิจิทัลที่โตได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คน
หากไม่ไปทำธุรกิจของตัวเอง เมื่อทำงานในองค์กรแล้วเขาก็ยังคงต้องการเป็นจุดสนใจด้วยการเป็นผู้รับผิดชอบโครงการใหม่ๆ หรือต้องการเวทีเพื่อแสดงฝีมือและสร้างผลงานให้คนทั่วไปได้เห็น หากองค์กร ปรับโครงสร้างใหม่ให้เหมาะสม และสร้างโอกาสให้พวกเขาได้แสดงฝีมือก็ย่อมใช้พลังจากเขาได้อย่างเต็มที่
ประการที่สามคือ การไม่ยึดติดกับหัวโขน เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจในตำแหน่งหน้าที่เหมือนคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะตำแหน่งต่างๆ ที่อาจดูน่าสนใจแต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นไม่เกิน 2-3 ปีเท่านั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในปัจจุบันก่อให้เกิดตำแหน่งหน้าที่ใหม่ๆ ตลอดเวลา คนรุ่นใหม่จึงมักมองหาโอกาสจากหน้าที่การงานใหม่เหล่านั้น โดยไม่ยึดติดกับตำแหน่งเดิม
ประการที่สี่ การสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวที่ชัดเจน เพราะคนรุ่นใหม่มักไม่คิด จะตามรอยคนรุ่นเก่าที่ทุ่มเทให้กับงานโดยไม่คำนึงถึงวันหยุดหรือการทำงานที่บ้านหลังเวลาเลิกงาน เพราะเขาทุ่มเทกับการทำงานให้อย่างเต็มที่ในเวลางานแล้วจึงต้องการใช้ชีวิตส่วนตัวนอกเวลางานอย่างสุดเหวี่ยง
หากผู้บริหารเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในคนแต่ละรุ่น ก็ย่อมจะมองเห็นโอกาสที่จะใช้พลังจากคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น การกล่าวหาว่าคนรุ่นใหม่ไม่ขยัน ไม่อดทน ฯลฯ โดยไม่คิดจะทำความเข้าใจและปรับมุมมองของตัวเองให้ร่วมสมัยมากขึ้นจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลย
ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กรุ่นใหม่ถูกประคบประหงมโดยพ่อแม่รุ่นใหม่ที่ไม่มีการตีลูกหรือการควบคุมลูกอย่างเข้มงวดเหมือนในอดีต เด็กที่เติบโตจากครอบครัวชนชั้นกลางก็มักจะมีพี่เลี้ยงคอยดูแลตั้งแต่ยังเล็ก
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเช่นนี้เด็กที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงานทุกวันนี้จึงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก การทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและต้องเลิกคิดถึงอดีตที่คนยุคเก่าบริหารจัดการได้ง่ายกว่าทุกวันนี้เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้
การทำความเข้าใจกับปัจจุบันและมองไปข้างหน้าเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง