รบไม่ขลาด VS รบไม่ขาด

รบไม่ขลาด VS รบไม่ขาด

ปัญหาของบ้านเรายามนี้อยู่ที่รัฐบาลที่นำโดย นายกฯแพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะบทบาทที่ผ่านมาทำให้เกิดภาวะ “รบไม่ขาด”

KEY

POINTS

  • สภาพการณ์ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็น “ผู้นำกระแส” และไม่ได้เป็นศูนย์กลางของคนในชาติอย่างแท้จริง ทำให้เราเผชิญศึกหลายด้านพร้อมกัน
  • ปัญหากัมพูชาเหมือนสิ่งที่มาตอกย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ไปต่อ ยากจริงๆ ทั้งในแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นในสายตาประชาชน จนถึงการฝ่าฟันปัญหาที่รุมเร้ารายล้อมไปได้
  • ปัญหาจากตัวนายกฯ ส่งผลให้ประเทศไทยและรัฐบาลไทยไม่มี “ศูนย์รวมความเชื่อมั่น” และไม่มี “ผู้นำฝ่าวิกฤติ” มีแต่ “ผู้นำที่เป็นวิกฤติ” เสียเอง 

  • ทั้งหมดนี้จึงทำให้ประเทศไทยและสังคมของเรา กำลังเผชิญทั้ง “ศึกนอก - ศึกใน”

ไม่มีใครเถียงวลีที่หยิบมาจากท่อนหนึ่งของเพลงชาติ “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด” ซึ่งมีการนำมาทำเป็นแฮชแท็กกันทั่วบ้านทั่วเมือง

จะว่าไปประโยคสั้นๆ ที่บรรจุอยู่ในเพลงชาติไทยนี้ ซึ่งก็เป็นเพลงสั้นๆ ด้วยเหมือนกัน สะท้อนถึงบุคลิก และตัวตนของคนไทยได้อย่างแจ่มชัดยิ่ง

จากประวัติศาสตร์ของเรา ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของทหาร และข่าวสารที่ได้สดับตรับฟังมา เช่น เคลื่อนย้ายอาวุธหนักเข้าพื้นที่ช่องบกกันแบบแผ่นดินสะเทือน ถนนหนทางเต็มไปด้วยรถทหาร จนชาวบ้านแถบนั้นนอนไม่หลับ (แต่ไม่มีใครต่อว่า) ทำให้ใจชื้นได้ระดับหนึ่งว่า หากมีรบกันจริง ทหารไทยและคนไทยก็จะ “รบไม่ขลาด” แน่นอน

แต่ปัญหาของบ้านเรายามนี้อยู่ที่รัฐบาลที่นำโดย นายกฯแพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะบทบาทที่ผ่านมาทำให้เกิดภาวะ “รบไม่ขาด” คือ คนไทยเรารบกันเอง ไม่ได้มีเอกภาพเหมือนฝั่งกัมพูชา

สภาพการณ์ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็น “ผู้นำกระแส” และไม่ได้เป็นศูนย์กลางของคนในชาติอย่างแท้จริง ทำให้เราเผชิญศึกหลายด้านพร้อมกัน ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ตัว

- แนวรบด้านตะวันออก (ชายแดนไทย-กัมพูชา) เหตุการณ์ยังเหมือนเดิม คือ วิกฤติ และยังมองไม่เห็นหนทางคลี่คลาย

- แนวรบด้านใต้ ที่สามจังหวัดชายแดน จู่ๆ ขบวนการ BRN ก็ออกแถลงการณ์ทวงการเจรจา ทวงโต๊ะพูดคุย ทวงข้อตกลง JCPP (ที่หลายฝ่ายคัดค้านว่าไทยเสียเปรียบ) แถมอ้างว่าสาเหตุที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาก เพราะรัฐบาลไทยไม่ยอมเปิดโต๊ะเจรจาพูดคุยเสียที แนวรบด้านนี้ก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เช่นกัน

นี่คืออีกหนึ่งภาพสะท้อนความอ่อนแอของประเทศผ่านความอ่อนแอของรัฐบาล จนทำให้ถูกรุมทึ้งจาก “ผู้รุกราน” หรือเรียกรวมๆ ว่า “ผู้ไม่หวังดี”  

สถานการณ์ของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเพื่อไทยยามนี้ ต้องบอกว่าตึงเครียดหนักกว่าที่ช่องบก คะแนนนิยมของทั้งตัวนายกฯ และรัฐบาล ดิ่งวูบ

กระทั่งคนกันเองอย่างพรรคร่วมรัฐบาลที่มีไมตรีต่อกัน ยังออกตัวว่า ไม่รู้จะช่วยกู้สถานการณ์กลับมาอย่างไร และหากยังปล่อยแบบนี้ต่อไป อาจจะต้องยอมเสียมารยาท วิจารณ์ผู้รับผิดชอบจากพรรคเพื่อไทยบ้างด้วยซ้ำ

ปัญหากัมพูชาเหมือนสิ่งที่มาตอกย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ไปต่อ ยากจริงๆ ทั้งในแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นในสายตาประชาชน จนถึงการฝ่าฟันปัญหาที่รุมเร้ารายล้อมทั้งหมดนี้ไปได้

ที่พูดแบบนี้...อย่าเพิ่งงง เพราะหากเทียบกับต่างประเทศ แม้รัฐบาลในหลายประเทศจะแก้ปัญหาบ้านเมืองของเขาไม่ได้ก็จริง แต่ถ้ารัฐบาลของเขายังได้ใจประชาชนอยู่ ก็ยังสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ และประชาชนก็ยังมีหวัง ตัวรัฐบาลก็ยังมีโอกาสชนะเลือกตั้งครั้งใหม่ หากหมดวาระ หรือยุบสภา ก็อาจจะยังกลับมามีอำนาจได้ สานต่อการทำงานและแก้ไขปัญหาต่อไป

แต่สำหรับรัฐบาลเพื่อไทยยามนี้ ต้องบอกว่าแม้แต่ความเชื่อมั่นก็ยังไม่มี จึงไม่ต้องตั้งความหวังเลยว่า จะแก้สารพัดปัญหาที่รุมเร้า แล้วนำพาประเทศฝ่าวงล้อมแห่งมหาวิกฤติออกไปได้

ลองไล่เรียงปัญหาที่รัฐบาลกำลังเผชิญ และสอบตกแทบจะสิ้นเชิง

- ปัญหากัมพูชา สอบตกตั้งแต่การวางท่าที การสื่อสาร การตัดสินใจใช้มาตรการรับมือ และการตอบโต้ รวมถึงการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะปัญหา เรียกว่าตอบผิดทุกข้อ

- กระแสชาตินิยม สอบตกแบบซ้ำชั้นยังไม่พอ เพราะรัฐบาลถูกตั้งคำถามเสียเองว่า รักชาติจริงหรือเปล่า หรือปกป้องประเทศอยู่จริงหรือเปล่า สถานการณ์นี้ถือว่าวิกฤติสุดๆ แทบหาทางออกไม่เจอ

- เศรษฐกิจแย่ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การค้าขายและการลงทุนหดตัว ชาวบ้านร้านตลาดบ่นด่ากันอื้ออึง แม้แต่ในต่างจังหวัด พื้นที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเอง (ผมเพิ่งไปอุตรดิตถ์ จังหวัดสีแดง มี สส.เพื่อไทยทั้ง 3 เขต แต่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องรากหญ้าพากันรุมสวด)

- วิกฤติต่างๆ แก้ไม่ได้ แต่ยังไม่วายจริงจังผลักดันเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งผู้คนในสังคมยังเห็นต่าง เหมือนยิ่งต้องการสร้างความขัดแย้ง แตกแยก ในยามที่บ้านเมืองต้องการเอกภาพและความสามัคคี

- ปัญหาขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ที่บานปลายเป็นการเตรียมปรับ ครม.ใหญ่ ริบกระทรวงเกรดเอจากพรรคอันดับ 2 มาดูแลเอง ทำให้คาดการณ์ได้เลยว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีวันเป็นเอกภาพ และไม่มีทางที่จะมีพลังมากพอในการนำพาประเทศให้พ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้เลย มีแต่จ้องล้ม เตะตัดขากันเองเท่านั้น

- ค่ายกลทางกฎหมาย นิติสงครามยังถูกนำมาผูกขา หลายบ่วง หลายปม จนนึกไม่ออกว่ารัฐบาล หรือคนในรัฐบาล รวมถึงผู้นำทางจิตวิญญาณ จะอยู่รอดปลอดภัย ตลอดรอดฝั่งไปได้อย่างไร ฉะนั้นเมื่อตัวเองยังเอาตัวไม่รอด แล้วชาวบ้านจะฝากความหวังไว้ตรงไหน

ทุกวันนี้เขาพูดกันว่า สว.สีน้ำเงินยังเอาลงไม่ได้ ระวังผู้นำจิตวิญญาณสีแดงจะโดนโค่นก่อน โมเดลเปลี่ยนตัวนายกฯเริ่มดังกระหึ่ม

- สิ่งสำคัญที่สุดคือ ท่าทีของนายกรัฐมนตรี ทั้งบุคลิก การพูดการจา การตอบคำถามนักข่าว จนกลายเป็นปะทะคารมกับนักข่าวที่เพิ่งเป็นประเด็นไป และแทบไม่มีใครเข้าข้างนายกฯเลย รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ที่ทำให้คนรู้สึกว่า “งานในหน้าที่ไม่ได้สำคัญที่สุด” เพราะจนป่านนี้ยังไม่ลงไปตรวจเยี่ยมพี่น้องทหารให้เกิดภาพเชิงสัญลักษณ์สักครั้งหนึ่งเลย

ปัญหาจากตัวนายกฯ ส่งผลให้ประเทศไทยและรัฐบาลไทยไม่มี “ศูนย์รวมความเชื่อมั่น” และไม่มี “ผู้นำฝ่าวิกฤติ” มีแต่ “ผู้นำที่เป็นวิกฤติ” เสียเอง

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ประเทศไทยและสังคมของเรากำลังเผชิญทั้ง “ศึกนอก - ศึกใน”

แน่นอนว่า “ศึกนอก” นั้น เรา “รบไม่ขลาด” แต่เมื่อไม่มีผู้นำทางยุทธศาสตร์ที่ดีพอ ย่อมเสี่ยงพลาด เสี่ยงพ่ายได้เหมือนกัน

ส่วน “ศึกใน” นั้น เรา “รบไม่ขาด” จริงๆ ทำให้ชาติบ้านเมืองไร้สามัคคี ไม่มีเอกภาพ แล้วจะไปสู้กับอริราชศัตรูซึ่งเป็น “ศึกนอก” ได้อย่างไร

นี่คือสถานการณ์สิ้นหวังล่าสุดของประเทศไทย ณ วันที่ 9 มิถุนายน