บททดสอบฝีมือ 'ฝ่ายค้าน' เมื่อญัตติไม่มีชื่อ 'ทักษิณ'

ดูเหมือนสิ่งที่พรรคส้ม หรือ พรรคประชาชน(ปชน.) วาดหวังเอาไว้อย่างสูง ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิงค์” น.ส.แททองธาร ชินวัตร เพียงคนเดียว
แต่เอี่ยวเอาชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่ในญัตติที่ยื่นต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนฯด้วย จะสั่นสะเทือนรัฐบาล จนอย่างน้อยทำให้ประชาชนเห็นถึงสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลใน การจัดตั้งรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง และการบริหารประเทศ ภายใต้เงาบางคนมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง
แต่สุดท้ายก็ต้องถอดชื่อ “ทักษิณ” ออก หลังประธานสภาฯ มีหนังสือไปถึงหัวหน้าพรรคส้ม ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แม้แรกทีเดียว พรรคส้ม ยืนกรานไม่ “ถอน” เด็ดขาด และดาหน้าโจมตีการทำหน้าที่ของประธานสภาฯยกใหญ่ อ้างไม่มีกฎหมายข้อไหนห้าม ส่วนที่ยอมถอดชื่อ “ทักษิณ” ครั้งนี้ นัยว่า เพื่อต่อรองเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่หลายคนจับตามอง ก็คือ “ฝ่ายค้าน” จะอภิปราย โดยไม่เอ่ยชื่อ “ทักษิณ” ได้อย่างไร? จะใช้คำที่มีความหมายทดแทนกันได้อย่างไร? จะลดความน่าสนใจลงด้วยหรือไม่ “ไม้ตาย” ที่หวังโยงใยพฤติกรรม “ทักษิณ” มัด “นายกฯอิ๊งค์” จนดิ้นไม่หลุด จะทำได้ยากขึ้นหรือไม่? ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ฝ่ายค้านจะต้องเร่งหาคำตอบให้ได้ก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ความจริง ประเด็นยอมถอดชื่อ “ทักษิณ” ออกจาก “ญัตติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ของฝ่ายค้าน ถ้ามองในมุมการเมือง ถือว่า พรรคส้มเดินเกมพลาด และเสียรังวัดตั้งแต่ยังไม่ได้อภิปรายฯได้เหมือนกัน
โดยเฉพาะในมุมมองของ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจ
“ดร.ณัฏฐ์” เห็นว่า ต้องแยกระหว่าง กรณีขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการทั่วไปแบบลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 กับกรณีการบรรจุญัตติออกจากกัน เพราะการบรรจุญัตติเป็นอำนาจเด็ดขาดของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยในอดีตปี 2545 หากเห็นว่าบกพร่องสามารถสั่งให้แก้ไขได้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่อาจโต้แย้งได้
“ดร.ณัฏฐ์” ยกตัวอย่างสมัยนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยสั่งให้นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ขณะนั้น) แก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องได้ โดย นายชวน จบเนติบัณฑิต มีความรู้กฎหมาย ให้ความร่วมมือและแก้ไขทันท่วงที ทำให้ไม่เสียหน้า ไม่เสียเหลี่ยมการเมือง เพราะเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญตามหลักการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา
แต่กรณีเสนอร่างญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่เสนอญัตติ ได้ออกหนังสือโต้แย้ง ใน 3 ประเด็น ต่อนายวันมูหะมัด นอร์มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยแกนนำพรรคประชาชนดาหน้าโต้แย้งคัดค้านผ่านสื่อและหนังสือ ว่า “ไม่แก้ไข” และยกข้อเท็จจริงในอดีตมาหักล้างโต้แย้ง เพื่อเรียกคะแนนนิยม
“แต่ทรงเหมือนจะดี แต่แพ้เหลี่ยมทักษิณ เพราะข้อกฎหมาย เรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองพาดพิงบุคคลภายนอก ไม่ได้ เพราะเสี่ยงถูกฟ้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 ทำให้ผู้นำฝ่ายค้านเสียทรงมวย เพราะไม่ศึกษารัฐธรรมนูญและระเบียบข้อบังคับการประชุมให้ละเอียด เพราะเพียงต่อรองเวลาให้เวลาอภิปรายเพิ่ม ไม่เปลี่ยนแปลงข้อสาระสำคัญในประเด็นที่จะอภิปรายนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีรายบุคคล”
“ดร.ณัฏฐ์” ชี้อีกว่า การถอดชื่อหรือตัดรายชื่อนายทักษิณ ชินวัตร ออก เป็นการแพ้ในเกมสภาฯ เพราะติดขัดปัญหาข้อกฎหมาย แต่ในมิติทางการเมือง การประกาศผ่านสื่อว่า ฝ่ายค้านไม่มีการแก้ไขญัตติ แต่ภายหลังถอยกรูด มาแก้ไขถอดรายชื่อ นายทักษิณฯ เกมฝ่ายค้านทำให้ออกอาการเสียทรงมวย ทำให้ผู้ติดตามศึกซักฟอกลุ้นว่าจะได้ซักฟอก เหมือนราคาคุยและมีหลักฐานเด็ดจริงหรือไม่ ทำให้เสียอารมณ์ทางการเมือง แม้การแก้ไขระบุชื่ออื่นว่า “พ่อ” หรือชื่ออื่นใด ประชาชนย่อมทราบอยู่แล้ว หมายถึง นายใหญ่เพื่อไทย
“ดร.ณัฏฐ์” อธิบายเพิ่มเติมว่า ในมิติกฎหมาย เอกสิทธิ์คุ้มครองระหว่างประชุม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรคสอง ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายค้าน จะอภิปรายหาเหตุผลจำเป็นพาดพิงบุคคลภายนอกได้ เพราะเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาฯไม่คุ้มครอง
“เหลี่ยมการเมืองที่ว่าแพ้นายทักษิณ อย่าลืม นายทักษิณเป็นบุคคลสาธารณะ และประกาศตน เป็น สทร.“เสือกทุกเรื่อง” เมื่อเข้ามายุ่งเกี่ยวกับรัฐบาล ให้คำแนะนำ ชี้แนะกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว แม้เอกสิทธิ์ไม่คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ทักษิณเป็นบุคคลสาธารณะ การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา บุคคลที่ถูกกล่าวหา ย่อมยกหลักสุจริตมาตรา 329 ขึ้นต่อสู้ได้” ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ประเด็นที่ “ทักษิณ” ได้เปรียบ
เท่านั้นไม่พอ ฝ่ายค้านยัง “จุก” กับคำพูด “ทักษิณ” ที่ใช้ความเก๋าบัดขยี้ ชี้เปรี้ยงพรรคประชาชน ปลอด “เงา”ของใครอยู่เบื้องหลังอย่างนั้นหรือ?
โดยเฉพาะ กรณีให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ(14 มี.ค.68) เริ่มจากประเด็นที่มีการพาดพิงถึงตน
“ถามจริงๆ เพื่ออะไร ตนไม่ได้เป็นส.ส. ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี จะทำไปเพื่ออะไร หรือจะดิสเครดิตเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า เหลืออีก 2 ปี ขอให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบเลือกตั้ง ไม่ต้องหาเสียง”
ถามว่า ต้องให้ฝ่ายกฎหมายดูหรือไม่ เพราะอาจจะมีอะไรที่เกินเลย “ทักษิณ” กล่าวว่า ไม่มีปัญหา สบายๆ ตนเห็นนรกสวรรค์มาแล้ว เฉยๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้น
ถามอีกว่า ในการอภิปรายที่จะมีการพาดพิงนายทักษิณนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นชักใยนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ” กล่าวว่า เป็นพรรคคนรุ่นใหม่ ต้องพยายามทำอะไรให้สร้างสรรค์ ต้องทำอะไรที่ดูแล้วน่าเชื่อถือ อย่าเป็นที่น่ารำคาญ หากทำอะไรที่น่ารำคาญ เดี๋ยวจะเสียไปอีกพรรค
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านระบุว่า นายทักษิณเป็นนั่งร้าน คอยอยู่ด้านหลังนายกรัฐมนตรี แรงเกินไปหรือไม่ “ทักษิณ” กล่าวว่า
“ต้องถามว่า ประเด็นนี้ได้ปรึกษาผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้วหรือไม่ เขาได้ปรึกษากันยังว่าจะเล่นประเด็นนี้”
ถามว่า หมายความว่าอย่างไร “ทักษิณ” กล่าวว่า “เอ้า ต้องถามว่า นายกอบจ.ลำพูนนั้น มีใครไปช่วยดูแลบ้าง ใจเย็นๆ”
ถามย้ำว่า หมายความว่ามีการพูดคุยกันอยู่แล้วใช่หรือไม่ “ทักษิณ” กล่าวว่า “เปล่าๆ ไม่มีใคร แต่คือแบบนี้ สรุปแล้วต้องว่าไปตามกติกา จะอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีหรืออะไรก็ว่ากันไป ไม่เป็นอะไร ผมไม่เกี่ยว”
มาถึงตรงนี้ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิ๊งค์” 6 ประเด็น ประกอบด้วย
1.ไม่มีคุณสมบัติ และไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารด้วยประการทั้งปวง ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ และขาดเจตจำนงในการบริหารราชการแผ่นดินที่แก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศชาติ
2.จงใจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ เพียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว บิดา ครอบครัว และพวกพ้อง อยู่เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม
3.ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์เอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม โกหกหลอกลวง ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน เป็นนั่งร้านช่วยเหลือต่างตอบแทนกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
4.บริหารบ้านเมืองผิดพลาดล้มเหลวอย่างร้ายแรงทั้งในด้านการเมือง การปฏิรูปกองทัพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ทำลายนิติรัฐ ทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
5.เจตนาและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันภายใต้การบริหารงานของตนเอง ทั้งทุจริตเชิงนโยบาย บริหารบ้านเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้องและกลุ่มทุน แต่งตั้งบุคคลที่ขาดความเหมาะสม ขาดความรู้ความสามารถ หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตไปเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญอื่น
6.สมัครใจยินยอมให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ดูเหมือนพกความแค้นอยู่เต็มอก จองกฐินไว้ 4 เรื่อง คือ
- ที่ดินอัลไพน์
- การพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
- เอ็นเทอร์เทนเมนต์คอมเพลกซ์ ในประเด็นกาสิโน
- เอ็มโอยู 2544
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสข่าวที่ว่า “ไม้ตาย” นั้น อยู่ในมือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่กุม “ความลับ” ของ “นายใหญ่” เอาไว้หลายเรื่อง อยู่ที่ว่าหลังมีการถอดชื่อ “ทักษิณ” ออกไปแล้ว การนำเรื่องเหล่านั้นไปแฉในสภาฯจะทำได้หรือไม่ “บิ๊กป้อม” กล้าท้าทายถูกฟ้องหรือไม่
ไม่นับลีลา การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ทุกคนนึกไม่ออกว่า จะกราดเกรี้ยวดุดันได้อย่างไร? น่าจะเป็นอีกบุคคลที่ชวนให้ติดตาม ส่วนจะเป็น “มวยล้ม ต้มคนดู” หรือไม่ อีกไม่นานก็คงได้เห็น
เหนืออื่นใด ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิงค์” ของ “ฝ่ายค้าน” ครั้งนี้ ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ “ทักษิณ” ทำตัว “ครอบงำ” นายกฯอิงค์ หรือไม่ และ “นายกฯอิงค์” ทำตัว เป็นหุ้นเชิด ยอมให้ “ครอบงำ” ด้วยหรือไม่ ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีพฤติกรรมที่เป็นข่าว เคยมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยกคำร้องไปหมดแล้ว เหลือก็แต่สำนวนเอาผิดข้าราชการ ใน ป.ป.ช. กรณีเอื้อ “ทักษิณ” รักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ และ คำร้องใน “กกต.” เป็นส่วนประกอบ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งหมด คือ บททดสอบฝีมือ “ฝ่ายค้าน” ที่ยากจะพาดพิง “ทักษิณ” ให้เสียหาย หลังจากไม่มีชื่อใน “ญัตติ” แล้ว จะโชว์ทีเด็ดทีขาดได้อย่างไร ในนามอื่น ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป