‘ความมั่นคง’ แผลใหญ่ จุดเสี่ยงเพื่อไทย จุดตายซักฟอก

‘ความมั่นคง’ แผลใหญ่ จุดเสี่ยงเพื่อไทย จุดตายซักฟอก

ปมปัญหาความมั่นคง ทำให้การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯแพทองธาร” มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาเหล่านี้ นายกฯต้องตอบ เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และยังส่งผลต่อความรู้สึกของคนไทย กระแสชาตินิยม และสุ่มเสี่ยงถูกขยายผลเป็นม็อบล้มรัฐบาล

KEY

POINTS

  • ตั้งแต่เริ่มรัฐบาลแพทองธาร ก.ย.2567 มีแต่ปัญหาความมั่นคงรุมเร้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งบังเอิญและไม่บังเอิญ
  • ปัญหาความมั่นคง กลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่รัฐบาลอดีตนายกฯเศรษฐา ไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงที่ชัดเจน ต่อเนื่องถึงรัฐบาลแพทองธาร

  • ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก “นายกฯแพทองธาร” เพียงคนเดียว มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และยังส่งผลต่อความรู้สึกของคนไทย กระแสชาตินิยม และสุ่มเสี่ยงถูกขยายผลเป็นม็อบล้มรัฐบาล

ต้องบอกว่า รัฐบาลแพทองธาร มาพร้อมกับปัญหาความมั่นคง และโดนรุมเร้าจากประเด็นความมั่นคง จนต้องลุ้นว่าสุดท้ายจะ “ไป” เพราะ Issue ความมั่นคงหรือไม่

ตั้งแต่เริ่มรัฐบาลแพทองธาร ก.ย.67 มีแต่ปัญหาความมั่นคงรุมเร้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งบังเอิญและไม่บังเอิญ อย่างไม่น่าเชื่อ

1. คดีตากใบขาดอายุความ แม้ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลแพทองธารโดยตรง แต่ความโชคร้ายก็คือ

 - ผู้ต้องหา/จำเลยสำคัญ ดันเป็น สส.เพื่อไทย ได้แก่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (แถมยังเป็นเพื่อนรุ่นพี่ของอดีตนายกฯทักษิณ ไม่นับผู้นำตำรวจในยุคนั้น ที่โดนหมายจับ อย่าง พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ ก็เป็นเพื่อนคุณทักษิณ และภรรยาก็เคยเป็นรัฐมนตรีของไทยรักไทย)

 - ต้นเรื่องของตากใบ เกิดยุคคุณพ่อ (ทักษิณ) เปิดเจรจายุคคุณอา (ยิ่งลักษณ์) และมาขาดอายุความยุคคุณลูก (แพทองธาร)

2.กองกำลังว้าแดง ล้ำแดนไทย แม้ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลแพทองธารเช่นกัน เพราะปัญหาเกิดมานานแล้ว แต่เมื่อถูกปูดขึ้นมายุคนี้ ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ทำให้รัฐบาลมีโจทย์เพิ่มเติม และสะท้อนความล้มเหลวเพิ่มเติม แม้จะไม่ได้เป็นผู้ก่อ

3.เรือประมงไทยถูกทหารเมียนมาไล่ยิงและถูกยึดที่ระนอง ช่วยลูกเรือประมงไม่ได้ แต่มีการให้ข่าวสับสนว่าจะช่วยลูกเรือได้ สุดท้ายก็ช่วยไม่ได้ ทำให้รัฐบาลแพทองธารถูกดิสเครดิต และเหมือนตกเป็นเบี้ยล่างเมียนมา

4.เอ็มโอยู 44 เดินหน้าไม่ได้ เพราะถูกจับจ้องอย่างไม่ไว้วางใจ ว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสองผู้นำตัวจริง “ทักษิณ-ฮุนเซน” ทำให้ทรัพยากรใต้ทะเลมหาศาลถูกนำมาใชัประโยชน์ไม่ได้ และยังถูกปลุกม็อบขัดขวาง เป็นปัญหาการเมืองตามมาด้วย

ล่าสุดกรณีเขี่ยลูกให้ดีเอสไอ “เตะตัดขา สว.” จนเกือบล้มคะมำเพราะ “อั้งยี่ - ฟอกเงิน” ก็ถูกตั้งคำถามย้อนกลับว่า ต้องการโค่น สว.เพื่อเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ และกินรวบเอ็มโอยู 44 ด้วยหรือไม่

5.ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ เมืองสแกมเมอร์ มัวแต่รำวง ตัดไฟช้า จนถูกด่าทั้งเมือง แม้ทัวร์จะลงที่ “เสี่ยหนู อนุทิน” แต่รัฐบาลก็พลอยโดนไปด้วย หนำซ้ำยังถูกวิจารณ์เรื่องการไม่สามารถออกหมายจับ “หม่อง ชิตตู่” ได้ (ตอนนี้เล่นบทพระเอกผู้น่าสงสารไปแล้ว)

ที่สำคัญบทบาทไทยกลายเป็นลูกไล่จีน แถมยังต้องแบกรับเหยื่อและคนสัญชาติต่างๆ ที่ถูกส่งกลับอีกต่างหาก

6.ส่งกลับอุยกูร์ เรื่องนี้ทำให้สังคมคาใจ เพราะจู่ๆ ก็เปิดปฏิบัติการส่งกลับแบบปิดลับ (ลับๆ ล่อๆ) จนถูกรุมถล่มทั้งโลก เหมือนเปิดศึกกับชาติตะวันตก และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จนทุกคนงงว่า ทำไปทำไม ได้ไม่คุ้มเสีย และยังถูกมองอย่างระแวงว่า มีผลประโยชน์อะไรกับจีนมากมายหรือไม่

7.ไฟใต้ ป่านนี้ยังไม่ประกาศยุทธศาสตร์ที่สั่งทบทวนตั้งแต่ต้นปี (6 ม.ค.68) มีข่าวจะปัดฝุ่นนโยบาย 66/23 มาใช้ใหม่ แต่ก็ถูกคัดค้านจากผู้รู้ เช่น อ.สุรชาติ บำรุงสุข อ.ปณิธาน วัฒนายากร

ล่าสุดมีข่าวเตรียมตั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นการตั้งอดีตทหารอีกแล้ว แทนที่จะเป็นพลเรือน

ขณะที่ “คำขออภัย” ของอดีตนายกฯทักษิณ ต่อสถานการณ์ไฟใต้และตากใบ ก็ไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ในพื้นที่จะดีขึ้น แถมมีพูดว่าจะดึง “อินโดนีเซีย” มาร่วมในกระบวนการสันติภาพ จะทำให้ยิ่งยุ่ง ยิ่งขัดแย้งกับมาเลเซียอีกหรือเปล่า

ช่วงนี้มีแคมเปญ “รอมฎอนสู่สันติสุข” และกลุ่มก่อความไม่สงบก็ออกฤทธิ์ให้เห็นแล้ว มีเหตุระเบิดต่อเนื่องมาตลอด และปักหมุดครั้งใหญ่ที่สุไหงโก-ลก เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มี.ค. ทั้งคาร์บอมบ์ ทั้งระดมยิงที่ว่าการอำเภอ สวนทางกับคำประกาศของใครบางคนว่า “ใต้ต้องสงบภายในปีนี้”

ถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยกับการให้ความหวังที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกโจมตีย้อนกลับ จนยิ่งทำให้ผู้คนสิ้นหวังมากกว่าเดิม และทำให้ฝ่ายผู้ก่อการมีเงื่อนไขในการก่อเหตุ

8.ศาลาตรีมุข ที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ถูกเผาอย่างเป็นปริศนา เพิ่มดีกรีความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา หลังกรณีคอลเซ็นเตอร์ และต่อเนื่องจากเคสเขมรร้องเพลงชาติที่ปราสาทตาเมือนธม รอยต่อไทย-กัมพูชา ที่ อ.พนมดังรัก จ.สุรินทร์

ปัญหาความมั่นคง กลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทยเพราะ

 - ตั้งแต่รัฐบาลอดีตนายกฯเศรษฐา ไม่มีรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงที่ชัดเจน

 - ต่อเนื่องถึงรัฐบาลแพทองธาร แม้จะมอบหมาย “บิ๊กอ้วน” ให้คุมกลาโหม และเป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะ “บิ๊กอ้วน” ไม่เคยผ่านงานหรือมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน

 - ญัตติซักฟอกเดิมของฝ่ายค้าน ก็เตรียมอภิปราย “บิ๊กอ้วน” ในฐานะ รมว.กลาโหม เพราะมองว่าถูกกองทัพครอบงำ และไม่เดินหน้าปฏิรูปกองทัพเลย

 - นายกฯแพทองธารเอง ก็มีประสบการณ์ในมิติความมั่นคงน้อยมาก ยิ่งน้อยกว่า “บิ๊กอ้วน” ด้วยซ้ำ

 - เป็นยุคที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.เอง ก็มีปัญหาด้านการยอมรับ โดยเฉพาะตัวเลขาธิการ ซึ่งแม้เป็น “ลูกหม้อ” แต่บารมีอาจจะน้อยเกินไป และไม่มีแนวนโยบายด้านความมั่นคงในมิติใหม่ๆ

 - ไม่มีอดีตนายทหารที่มีบารมีสูงร่วมอยู่ในรัฐบาล

 - ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลชินวัตร มีปัญหาความมั่นคงมาตลอด เช่น ปี 2546 ก็เกิดเหตุการณ์จลาจลเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา และอาคารบริษัทในเครือชินคอร์ป ของอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นตรงกับรัฐบาลคุณทักษิณ ขณะนั้นมีการสั่งเรือรบหลวงจักรีนฤเบศ เคลื่อนเตรียมประจัญบานแล้ว แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทสส.ในยุคนั้น ควบคุมสถานการณ์๋ไว้ได้ก่อน

 - ปมขัดแย้งเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ก็ปะทุในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน พรรคใหม่ของเพื่อไทย หนึ่งในรัฐบาลชินวัตรเช่นกัน

ปมปัญหาความมั่นคงทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก “นายกฯแพทองธาร” เพียงคนเดียว มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาเหล่านี้ นายกฯต้องตอบ เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และยังส่งผลต่อความรู้สึกของคนไทย กระแสชาตินิยม และสุ่มเสี่ยงถูกขยายผลเป็นม็อบล้มรัฐบาล

รวมถึงกระทบกับภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มหาอำนาจกำลังช่วงชิงความได้เปรียบ โดยมีไทยและความมั่นคงไทยเป็นหนึ่งในสมรภูมิ !