นโยบาย 'หาเสียง' พ่นพิษ 'พท.-กก.' สะดุดขาตัวเอง

นโยบาย 'หาเสียง' พ่นพิษ 'พท.-กก.' สะดุดขาตัวเอง

ในที่สุด สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) “ปล่อยผี” นโยบายหาเสียงแบบสุ่มเสี่ยงของหลายพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 14 พ.ค.66 วันนี้เริ่มเห็นผลแล้ว

โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 อย่าง ก้าวไกลและเพื่อไทย ซึ่งมีนโยบาย ที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด ว่าในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะต่างก็สุ่มเสี่ยงไปคนละแบบ ของก้าวไกล แม้ไม่ใช่ประชานิยมแต่ก็พูดได้ว่า กระแสนิยม(ซื้อใจกลุ่มเคลื่อนไหว 3 นิ้วและคนรุ่นใหม่)  

นั่นคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 1 หมื่นบาทอย่างถ้วนหน้า ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 6 เดือน ของพรรคเพื่อไทย และนโยบายแก้ไข ป.อาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการทำความผิดหมิ่นสถาบันฯ และจัดอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ซึ่งพรรคก้าวไกล เคยเสนอแก้ไขมาแล้ว แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่บรรจุวาระ ในสภาฯสมัยก่อนหน้า แต่พรรคก้าวไกล ยังคงแข็งกร้าวที่จะเสนอแก้ไข หนำซ้ำยังชูเป็นนโยบายหลักของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนตัดสิน  

วันนี้ พิษสงของทั้งสองนโยบายอยู่ในต่างกรรมต่างวาระ แต่เดินมาบรรจบกันที่ทำให้พรรคก้าวไกล และเพื่อไทย สะดุดขาตัวเองอย่างจัง ส่วนจะแค่หัวคะมำ หรือ บาดเจ็บสาหัส จนถึงเสียชีวิต ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

มาดูนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย หลังมีความชัดเจนจากการแถลงข่าวของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ถึงแหล่งที่มาของเงิน รวมทั้งปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์บางอย่างที่ไม่ใช่แจกคนอายุ 16 ปีขึ้นไปอย่างเสมอภาคตามที่พูดเอาไว้แต่แรก โดยแจกเฉพาะคนอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 7 หมื่นบาท และมีเงินฝากรวมน้อยกว่า 5 แสนบาท ให้ใช้จ่ายผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ภายในเขตอำเภอ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น

ที่สำคัญคือ แหล่งที่มาของเงิน นายเศรษฐา กล่าวอย่างชัดเจนว่า จะใช้วิธีออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ต่างจากช่วงหาเสียงที่ยืนยันจะปรับใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องกู้ ตามที่หลายฝ่ายเป็นห่วง  

จนกลายเป็นวลีสุดฮิต “กู้มาแจก” และมีคำถามตัวโตตามมาทันควัน ทำได้หรือไม่

เรื่องนี้ ถ้าฟังจาก นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และนักกฎหมาย ที่โพสต์ความเห็นในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

“คำนูณ” เชื่อว่า การตราพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกคนละหมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 หากพระราชบัญญัตินั้น เป็นไปตามเงื่อนไขพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ไม่ใช่ทำได้ทุกกรณีแต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น

“เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” โดย“คำนูณ” ชี้ด้วยว่า แทบจะไม่เข้าเงื่อนไขสักประการ

พร้อมอธิบายว่า

หนึ่ง – ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงทำไมไม่ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที

การตราเป็นพระราชบัญญัติตัองผ่าน 2 สภา สภาละ 3 วาระ และอาจมีขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญอีก

สอง – โครงการนี้ไม่ได้ต้องการใช้เงินต่อเนื่อง แต่ใช้ครั้งเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาทแจกเข้าบัญชีประชาชน 50 ล้านคน

สาม – วันนี้ประเทศไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤต อย่างน้อยหากเปรียบเทียบกับยุคโควิด19

สี่ – ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเลย โดยเงื่อนเวลาสามารถปรับยอดการใช้จ่ายโครงการนี้เข้าไปได้ ซึ่งก็จะตรงกับที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไว้กับกกต. เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566

“คำนูณ” เห็นว่า ทั้ง 4 ประการนี้ มีเพียงประการที่ 3 ว่าด้วย “วิกฤต” เท่านั้นที่พอเถียงกันได้ โดยรัฐบาลอาจมองได้ว่าการที่ GDP ของประเทศโตในระดับต่ำถือเป็นวิกฤตที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน

ส่วนที่สำคัญที่สุดใน 4 ประการ คือ ประการที่ 4 เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ มีขึ้นเพื่อป้องกันการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นไปนอกงบประมาณแผ่นดินทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข จึงเพิ่มเงื่อนไขไว้ 4 ประการด้วยกัน โดยประการสุดท้ายที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้ กำหนดว่าต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่อาจตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินอยู่ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังคาอยู่ ปรับแก้ได้ทัน จะมาออกพระราชบัญญัติกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ดูอย่างเอาใจช่วยอย่างไรก็ไม่น่าชอบด้วยมาตรา 53” คำนูณ ย้ำให้เห็น  

และยังทิ้งท้ายว่า “ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นโดยสุจริตของคนๆ หนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติมาหลายปี ผ่านการถกเถียงประเด็นการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินนอกงบประมาณมาพอสมควร ทั้งในช่วงปี 2552 และ 2554 – 2556 และเคยเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐเมื่อปี 2560 ในฐานะผู้แทนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย โดยเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นในมาตรา 53 ไว้

ถูกผิดประการใดโปรดพิจารณา จากนี้ไปก็รอความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา”

ในมุมของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นด่านแรก ที่จะพิจารณาพ.ร.บ.กู้เงินมาแจกดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายหรือไม่

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชนบางสำนักว่า สิ่งที่กฤษฎีกาต้องพิจารณาคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หน้าที่ของ ครม.ที่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ กฎหมายเงินตรา เงินคงคลัง อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องพิจารณาทั้งหมด ว่ามีเงื่อนไขอะไรที่จะทำได้ หรือทำไม่ได้บ้าง และทำได้ภายใต้เงื่อนไขอะไร

“รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นแต่เพียงไอเดียของคณะอนุฯ ว่าจะกู้เงินโดยจะใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 แต่ยังไม่ได้มีมติอะไรออกมาชัดเจน ถ้ากฤษฎีกามีความเห็นอย่างไรก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งว่าทำได้หรือไม่ อย่างไรซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่ก็คงต้องตัดสินใจอีกทีว่าจะเอาอย่างไรต่อ จะใช้ช่องทางไหน”

“ปกรณ์” กล่าวด้วยว่า ไม่หนักใจ กฎหมายก็คือกฎหมาย เราตีความตรงไปตรงมา เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดนโยบาย เพียงแต่ว่านโยบายเป็นอย่างนี้แล้วทำได้ตามกฎหมายหรือไม่

ดูเหมือนแค่ด่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยากแล้ว นี่ยังไม่นับรวมอีก 2 ด่าน ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่แม้จะได้เสียงข้างมากผ่านสภาผู้แทนฯ แต่ “ด่านหิน” อาจอยู่ที่ “วุฒิสภา” ซึ่งไม่น่าจะผ่านได้โดยง่าย เพราะ “เสี่ยง” ที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ

จึงไม่แปลกที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฟันธงว่า นี่เป็นการหาทางลงของรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย แล้วประชาชนก็จะไม่ได้รับแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น ยังถูกโจมตีว่า เป็นการหาแพะรับบาปโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยโยนผิดไปให้กับคนที่ขัดขวาง และรัฐสภา ถ้าโครงการนี้ไม่ผ่านขึ้นมาจริงๆ

หันมาดูนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 บ้าง คดีนี้ นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความอิสระ ในฐานะผู้ร้อง ชี้ว่า ทั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ใช้เรื่องแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียง “และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยเชื่อกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะดูข้อมูล หลักฐานและ “พฤติการณ์” ตลอดจนข้อมูลจาก “ฝ่ายความมั่นคง” ไปจนถึง ทุกความเชื่อมโยง ระหว่าง “ตัวบุคคล” ที่เคยกระทำผิดเข้าข่ายมาตรา 112 กับพรรคก้าวไกล

และหากที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ จากนั้นจะนำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามมาตรา 92 (2) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดย กกต. จะต้องเดินหน้า ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรค” และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนนัดพิจารณาทั้ง 2 คดี รวมทั้งกรณีการถือครองหุ้น ในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.ของ นายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ไปวันที่ 22 พ.ย.66

ที่น่าสนใจ ก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดวันพิจารณาคดีทั้งสองคดี น.ส.ศิริกัญญาตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยอมรับกับสื่อว่า มีความกังวลในคดีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียง เนื่องจากกลัวจะกระทบต่อกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ จนอาจต้องไป “ยกชุด” ก็เป็นได้

“มีความกังวลในเรื่องการพิจารณาคดีเกี่ยวกับนโยบายหาเสียง ในการเสนอแก้มาตรา112 ซึ่งอาจทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย เนื่องจากเป็นผู้ลงนามสนับสนุนนโยบายนี้ ซึ่ง ส.ส.พรรครุ่นที่แล้ว ก็อาจจะไปด้วยกันทั้งพรรค” (13พ.ย.66)

อย่าลืม ปมแก้ไข ป.อาญา ม.112 นี่เอง ดับฝัน “พิธา” ที่จะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว เนื่องจากไม่ผ่านการโหวตลงมติจากรัฐสภา และการยังคงยืนยันแก้ไข ม.112 ไม่ยอมถอยของ “พิธา-ก้าวไกล” ทำให้ “เพื่อไทย” ต้องยอมตระบัดสัตย์ ข้ามฟากไปตั้งรัฐบาล กับพรรคนั่งร้านให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหน ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 จน “ก้าวไกล” ต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านทั้งที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นที่ 1

นี่ยังไม่นับ ความใกล้ชิดระหว่างพรรคก้าวไกล กับกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ และทำผิด ม.112 จนกลายเป็นผู้ต้องหาจำนวนมาก ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า พรรคก้าวไกล ต้องการแก้ไข ม.112 ก็เพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้เป็นสำคัญหรือไม่

เหล่านี้ มีเหตุผลเพียงพอที่ “ศิริกัญญา” จะวิตกกังวล ว่า นโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 ของ “ก้าวไกล” จะพ่นพิษจนถึงขั้น “ยุบพรรค”

แน่นอน, ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความกล้าหาญท้าทายในการทำนโยบายของพรรคการเมืองเป็นเรื่องผิด หากแต่อยู่ที่เมื่อทำนโยบายออกมาแล้วต้องปฏิบัติให้ได้

หาไม่ นอกจากจะเข้าข่ายโกหกหลอกลวงประชาชนแล้ว จะต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่สุ่มเสี่ยง ด้วยเดิมพันที่สูง และล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย

ในเวลานี้ พรรค “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน คือ นโยบายหาเสียงพ่นพิษ เข้าทำนอง“สะดุดขาตัวเอง” จนน่าจับตาว่า ใครจะถูกพิษร้ายกว่ากัน!?