แจก '1 หมื่น' ถอยสุดซอย 'ปชช.แห้ว-เพื่อไทย' จอด?

แจก '1 หมื่น' ถอยสุดซอย 'ปชช.แห้ว-เพื่อไทย' จอด?

สรุป โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท คนที่ฝันหวานก็ยังคงฝันหวานต่อไป ส่วนคนที่อ่านเกมการเมืองออก รู้ตื้นลึกหนาบาง ว่า เป็นไปได้หรือไม่ แทบจะฟันธงไปแล้ว ว่า อย่าฝันกลางวันให้เสียเวลา เพราะ “ถอยสุดซอย” ขนาดนี้ มันก็แค่หา “ทางลงที่มีข้ออ้าง” ทางการเมืองหรือไม่?

ประเด็นสำคัญที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา

ไม่ได้อยู่ที่หลักเกณฑ์ในการแจกเงินแต่อย่างใด หากแต่อยู่ที่จะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งก็ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 600,000 ล้านบาท โดยจะใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท อีก 100,000 ล้าน อ้างว่าจะเอาไปใช้ต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่

ที่สำคัญไปกว่านั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ชี้ประเด็นเอาไว้น่าสนใจ ว่า จากคำแถลงของนายกฯเรื่องที่มาของเงินก็คือการตรากฎหมายพิเศษ “กู้เงิน” หาใช่การบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษีตามที่แจ้ง กกต. ไว้เมื่อปลายเดือนเม.ย.2566 แต่ประการใด เพราะฉะนั้นปัญหาต่อไปก็ต้องดูว่ากฎหมายพิเศษที่ว่านี้จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังมาตรา 53 หรือไม่อย่างไร และก็ต้องดูว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นอย่างไร

นี่คือ “ด่านแรก” ที่ต้องผ่านให้ได้ ก่อนที่จะไปถึง “ด่านที่สอง” คือ “รัฐสภา” จะผ่านหรือไม่ นัยว่า แค่ด่านแรก ก็มีสิทธิ์ “ตกม้าตาย” ได้แล้ว

ยิ่งความเห็นของ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ“นายกยืนยันโครงการแจกเงินดิจิทัลทำได้” ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า จะดันทุรังไปได้อย่างไร?

“ธีระชัย” เห็นว่า “ในการแถลงข่าววันที่ 10 พฤศจิกายน ท่านนายกฯเศรษฐายืนยันว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลนั้น ทำได้อย่างแน่นอน ผมขอให้กำลังใจท่าน เพราะว่าถ้าหากเดินหน้าไปแล้ว โครงการนี้ติดหล่ม คงมีประชาชนจำนวนมาก ที่จะเรียกร้องให้ท่านต้องรับผิดชอบ

ท่านแถลงว่า จะเสนอรัฐสภาให้อนุมัติ ออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ทีมงานของกระทรวงการคลังอาจจะให้ข้อมูลแก่ท่านไม่ครบถ้วนเพราะในความเห็นของผม การออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินสำหรับโครงการนี้ กระทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

หนึ่ง ท่านนายกฯคงเล็ง จะใช้ช่องทางใน พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘

มาตรา ๒๐๖ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

(๑/๑) บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง

(๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

(๓) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ

(๔) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ

(๕) พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการกู้เงินตาม (๒) ถึง (๕) ให้นำไปใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินหรือตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

ผมมีความเห็นว่า ช่องทางเดียวที่โครงการเงินดิจิทัล จะใช้ได้ ก็คือ (๒) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนช่องทางอื่นนั้น เป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง ที่ไม่สามารถดัดแปลงมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัล

สอง แต่ช่องทางกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นั้น มีปัญหาอยู่ในกฎหมาย

มาตรา ๒๒ การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ผมขอเรียนท่านนายกฯว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยของ ม.ร.ว.จตุมงคล และม.ร.ว.ปรีดียาธร ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในสมัยของผม ได้พัฒนาตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นเงินบาทไว้เรียบร้อยแล้ว

เพื่อให้รัฐบาลไทยมีความสะดวกในการกู้ยืมหนี้สาธารณะ สามารถกู้ยืมเป็นเงินสกุลบาท เพื่อไม่ต้องมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และ ธปท. ร่วมกับ ก.ล.ต. ได้พัฒนาความเชื่อมั่น จนกระทั่งมีนักลงทุนต่างชาติ นำเงินดอลล่าร์เข้ามาแลกเป็นเงินบาท แล้วนำไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นเงินบาท

กล่าวคือ ตลาดเงินตลาดทุนของไทย ได้พัฒนาถึงขั้นที่ รัฐบาลไทยสามารถกู้ยืมและเงินจากต่างประเทศได้ โดยกู้เป็นสกุลเงินบาทซึ่งมีน้อยประเทศกำลังพัฒนา ที่สามารถทำเช่นนี้ได้

สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ต่างประเทศและไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเงินไปใช้ในต่างประเทศ จึงไม่เข้าเงื่อนไขในส่วนแรกของมาตรา ๒๒

ส่วนเงื่อนไขส่วนหลังของมาตรา ๒๒ ซึ่งเปิดช่องให้ กรณีจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ นั้น การกู้เงินเพื่อแจกเงินดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของประชาชน นั้น

ย่อมไม่สามารถตีความได้ว่า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ

ผมจึงขอให้ข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์แก่สำนักงานกฤษฎีกา และแก่รัฐมนตรี ที่จะร่วมพิจารณาเรื่องนี้”

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เกาะติดเรื่องนี้มาตลอด เห็นว่า ขณะนี้ความชัดเจนเริ่มปรากฏแล้ว แต่เป็นความชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนายกฯเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือ การออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เงินกู้ เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แม้วันนี้หลักเกณฑ์จะมีการพูดถึงคนที่รายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท แต่ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร

เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่า นี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่า รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

“ศิริกัญญา” ย้ำว่า ที่ต้องออกมาพูด เพราะการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีความสุ่มเสี่ยงจริงๆ เหมือนกับกรณีพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อย่างชัดเจน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้

ตนตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลเลือกทางนี้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ แต่ต้องการให้เข้าทางนักร้องต่างๆ เพื่อหาทางลงให้สวยงามของโครงการที่มาถึงทางตันโดยสมบูรณ์แล้ว ตนไม่ได้เห็นด้วยกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ แต่ขอให้รัฐบาลได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการให้กฤษฎีกาตีความ

“รัฐบาลเองน่าจะเห็นแล้วว่า ไม่มีทางที่จะไปได้จริงๆ ทางเลือกนี้เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ ถ้ากฤษฎีกาตีความเข้าข้างให้ผ่าน และ ส.ส. ในสภาก็ให้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระหนี้ในแต่ละปีงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้จะทำภาระดอกเบี้ยเกิน 10% ในงบประมาณปี 68 ทันทีซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงทั้งเรื่องภาระหนี้ และภาระดอกเบี้ย ความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ถูกทำแท้งตั้งแต่ต้นโดยกฤษฎีกา”

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ พรรคเพื่อไทยจะยอมถอยโครงการแจกเงินดิจิทัล จนถึงขั้นยกเลิกโครงการหรือไม่ โดยอาศัยกระบวนการตามกฎหมาย เป็นข้ออ้าง อย่างที่มีการ“ดักคอ” เอาไว้

 

สิ่งที่ต้องมาดูอันดับแรก คือ ความล้มเหลวทางการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเจอ หลังเจอตราบาป “ตระบัดสัตย์” ในการข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว

คราวนี้ ต้องมาเจอ แผลใหญ่กว่าเดิม ที่ “ตระบัดสัตย์” ต่อประชาชน ซึ่งเป็นฐานการเมือง ที่ตั้งความหวังเอาไว้กับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทสูงลิ่ว ต่อให้มีข้ออ้าง ถูกขัดขวางโดยกระบวนการตามกฎหมาย ไม่ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา และหรือ รัฐสภา แต่ประเด็นสำคัญ อยู่ที่พรรคเพื่อไทย อ้างศึกษามาดีแล้ว ทำได้แน่นอน ไม่ต้องห่วงเรื่องที่มาของเงิน “คิดใหญ่ ทำเป็น” สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ทำให้หลงเคลิ้มไปกับคำโฆษณาหาเสียง และตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทย ถ้าทำไม่ได้ ลองคิดดูว่า พรรคเพื่อไทยจะเหลือความเชื่อถือให้กับประชาชนหรือไม่ ยิ่งต้องมาเจอ “คู่แข่ง” กระแสแรงอย่าง “ก้าวไกล” ในทางการเมือง ถือว่า “จอดไม่ต้องแจว”

อันดับต่อมา ถ้าขืนเดินหน้า ผลักดันออก พ.ร.บกู้เงินจนสำเร็จ สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องเจอ ก็คือ การถูกร้องเอาผิด ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมาย นี่ยังไม่รวมว่า ถ้าในโครงการมีการทุจริตคิดมิชอบเกิดขึ้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็มีการตั้งคณะกรรมการติดตามเอาไว้แล้ว ถึง 23 คน จากหลายฝ่ายทั้งยังมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. มานั่งเป็นประธาน ซึ่งรู้กันดีว่าเคยเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว หรือ “มือปราบจำนำข้าว”

สุดท้าย รัฐบาลเพื่อไทย อาจไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่า การปล่อยให้กระบวนการตามกฎหมาย “ดับฝัน” โครงการ เพราะอาการ “ถอยสุดซอย” อย่างที่เห็น สะท้อนได้ว่าอุปสรรคขวากหนามที่ต้องฟันฝ่าไม่ใช่เรื่องง่าย และที่รออยู่ข้างหน้าก็ไม่ธรรมดา บทเรียน “จำนำข้าว” มีอยู่แล้ว

อย่างนี้ เห็นที “ประชาชน” ที่ตั้งตารอด้วยความหวัง ก็คงต้อง “แห้ว” ไปตามๆกันหรือไม่? และคงไม่ต้องบอก ว่า อนาคตทางการเมือง พรรคเพื่อไทย จะมีชะตากรรมอย่างไร