'วันนอร์' บ้านใหญ่ศรียะลา 'ประธานสภา' ในสถานการณ์พิเศษ

'วันนอร์' บ้านใหญ่ศรียะลา 'ประธานสภา' ในสถานการณ์พิเศษ

ประธานสภาคนกลาง ‘วันนอร์’ โผล่มาแบบงงๆในดงด้อมส้ม หลังเพื่อไทยดึงเกมประมุขนิติบัญญัติมาเกือบ 2 เดือน ก่อนหักดิบก้าวไกล

‘วันนอร์’ จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ชาวมุสลิม ที่ได้กลับมารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง ในวัย 79 ปี

วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่มี ส.ส. 9 คน จะได้รับเลือกเป็นประธานสภา ทำให้นึกถึง อุทัย พิมพ์ใจชน หัวหน้าพรรคก้าวหน้า ที่มี ส.ส. 3 คน แต่ได้รับเลือกเป็นประธาน สภา 

กรณีของอุทัย พิมพ์ใจชน สืบเนื่องจากการเลือกตั้ง 18 เม.ย.2526 พรรคกิจสังคม ได้ ส.ส.มาอันดับ 1 จำนวน 102 คน ส่วนพรรคชาติไทย ได้ 88 คน เป็นพรรคอันดับ 2

\'วันนอร์\' บ้านใหญ่ศรียะลา \'ประธานสภา\' ในสถานการณ์พิเศษ

ทั้งพรรคกิจสังคม และพรรคชาติไทย ต่างแย่งชิงการนำเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยยกแรกประลองกำลัง โดยมีการเลือกประธานสภา พรรคชาติไทย เสนอชื่อ อุทัย พิมพ์ใจชน หัวหน้าพรรคก้าวหน้า พรรคกิจสังคม เสนอ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ผลการโหวต อุทัยชนะบุญเท่งอย่างเฉียดฉิวเพียง 5 เสียง 

วันนอร์ กำลังเดินตามรอยอุทัย จากหัวหน้าพรรค ที่มี ส.ส. 9 คน จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 ขึ้นเป็นประธานสภา และประธานรัฐสภา

ผลพวงจากการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภา ระหว่างก้าวไกล และเพื่อไทย ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ส่อเค้าจะแตกหักกันเสียด้วยซ้ำไป จู่ๆ เพื่อไทยก็พลิกเกมดันวันนอร์ หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา สูตรคนกลาง

การเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ปรากฏว่า พรรคประชาชาติ กวาดเก้าอี้ ส.ส.ยะลา 3 ที่นั่ง, ปัตตานี 3 ที่นั่งและนราธิวาส 1 ที่นั่ง บวกกับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 2 ที่นั่ง รวม 9 ที่นั่ง 

เฉพาะที่สนามยะลา ถือว่าเป็นพื้นที่บ้านใหญ่ของตระกูลมะทา ซึ่งที่ผ่านมา วันนอร์ไม่เคยชนะเลือกตั้งแบบยกจังหวัดที่ยะลา แต่ครั้งนี้ในสีเสื้อประชาชาติ ได้มา 3 ที่นั่งคือเขต 1 สุไลมาน บือแนปีแน ,เขต 2 ซูการ์โน มะทา และเขต 3 อับดุลอายี สาแม็ง

นี่คือชัยชนะครั้งสำคัญของ “บ้านใหญ่ศรียะลา” และเมื่อปี 2563 มุขตาร์ มะทา น้องชายวันนอร์ ได้นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ยะลา สมัยที่ 3

ยุคหนึ่ง ผู้คนจะจดจำชื่อ วันนอร์ ในฐานะแกนนำกลุ่มวาดะห์ และคนบางกลุ่มอาจมองเขาด้วยสายตาหวาดระแวงคลางแคลงสงสัย

\'วันนอร์\' บ้านใหญ่ศรียะลา \'ประธานสภา\' ในสถานการณ์พิเศษ

แท้จริงแล้ว วันนอร์เป็นนักการเมืองตามระบบรัฐสภา ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสายมุสลิม เหมือนเด่น โต๊ะมีนา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ 

ครูหนุ่มมุสลิม

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยึดอาชีพครู ที่โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ก่อนจะขยับไปสอนหนังสือในวิทยาลัยครูสงขลา และไปเรียนปริญญาโท ครุศาสตรมหาบันทิต(บริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกลับมาเป็นรองอธิการบดีวิทยาลัยครูสงขลา

ปี 2522 เกษม ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการพรรคกิจสังคม เดินทางไปถึงยะลา เพื่อชักชวนอาจารย์วันนอร์ ให้ลงสมัคร ส.ส.ยะลา และได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยแรก 

ความขัดแย้งระหว่างสภาล่างกับสภาสูง ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ตัดสินใจยุบสภาฯ เมื่อ 19 มี.ค.2526 และกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการเลือกตั้ง 18 เม.ย.2526


วันนอร์ รู้สึกไม่พอใจอำนาจพิเศษเหนือรัฐธรรมนูญ จึงประท้วงด้วยการไม่ลงสมัคร ส.ส.ปี 2526 จนการเลือกตั้งปี 2529 วันนอร์ได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ยะลาอีกครั้ง และได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

วาดะห์ยุครุ่งเรือง

หลังเลือกตั้งปี 2529 เด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี พรรค ปชป. เล็งเห็นว่า มี ส.ส.ชายแดนใต้อยู่ในพรรคหลายคน จึงก่อตั้งกลุ่มเอกภาพหรือวาดะห์ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กลุ่มวาดะห์ยุคแรก ประกอบด้วย เด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี ,วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.ยะลา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส

การเลือกตั้ง 22 มี.ค.2535 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจาก ผบ.ทบ. มาตั้งพรรคความหวังใหม่ ได้เจรจากับกลุ่มวาดะห์ ให้เข้ามาร่วมงานการเมืองด้วยกัน โดยสวมเสื้อพรรคความหวังใหม่ ลงสนาม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรากฏว่า กลุ่มวาดะห์ ได้ ส.ส. 7 ที่นั่ง

ช่วงรัฐบาลชวน รัฐบรรหาร รัฐบาลชวลิต และรัฐบาลทักษิณ เป็นยุคทองของวาดะห์ ในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ แกนนำกลุ่มวาดะห์ ได้เป็นรัฐมนตรีหลายคน 


วันนอร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย รัฐบาลชวน , รัฐมนตรีคมนาคม รัฐบาลบรรหาร และประธาน สภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา ช่วงที่พรรความหวังใหม่ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชวลิต

กลางปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยุบพรรคความหวังใหม่ ควบรวมกับพรรคไทยรักไทย วันนอร์ได้เป็นรัฐมนตรีคมนาคม(รอบสอง) และรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐบาลทักษิณ  

\'วันนอร์\' บ้านใหญ่ศรียะลา \'ประธานสภา\' ในสถานการณ์พิเศษ

ปี 2547 ได้มีเหตุการณ์สำคัญ 3 กรณีในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ช่วงรัฐบาลทักษิณคือ กรณีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง, กรณีมัสยิดกรือเซะ และกรณีตากใบ 

ไฟใต้ที่ลุกโชนอีกครั้ง ได้นำมาซึ่งวิกฤตศรัทธาต่อกลุ่มวาดะห์ สังกัดพรรคไทยรักไทย และคนชายแดนใต้ได้ลงโทษนักการเมืองกลุ่มนี้ ทำให้พ่ายแพ้เลือกตั้งติดต่อกันถึง 3 สมัยรวด

บ้านใหญ่ศรียะลา

ในยุคพรรคไทยรักไทย วันนอร์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนเด่น โต๊ะมีนา และในการเลือก ส.ส.ปี 2548 ได้เกิดกระแสทักษิณฟีเวอร์ พรรคไทยรักไทยกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ 377 ที่นั่ง แต่สนามเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มวาดะห์พ่ายแพ้ยับเยิน

ปี 2551 กลุ่มวาดะห์ ยังลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชน คนชายแดนใต้ก็ยังไม่เลือกพรรคของทักษิณ พวกเขาสอบตกหมด


ปี 2554  แกนนำกลุ่มวาดะห์ นำโดย เด่น โต๊ะมีนา,อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนัจมุดดีน อูมา ไปร่วมกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งพรรคมาตุภูมิ ส่วนวันนอร์ และน้องชายยังอยู่พรรคเพื่อไทย

\'วันนอร์\' บ้านใหญ่ศรียะลา \'ประธานสภา\' ในสถานการณ์พิเศษ

ผลการเลือกตั้งปีนั้น ทีมของวันนอร์ ในสีเสื้อเพื่อไทย พ่ายแพ้หมด ส่วนกลุ่มวาดะห์ในสีเสื้อมาตุภูมิ ได้รับชัยชนะแค่คนเดียว 

ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 วันนอร์ เรียกเพื่อนพ้องนักการเมืองสายมุสลิม มาพูดคุยกันที่บ้านศรียะลา อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อรวมตัวพี่น้องกลุ่มวาดะห์อีกครั้ง ในนามพรรคประชาชาติ

จุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคประชาชาติ ช่วงปลายปี 2561 เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ได้เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรค โดย พ.ต.อ.ทวี ได้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนพรรคประชาชาติให้หลุดพ้นคำว่า พรรคมุสลิม และกลุ่มวาดะห์ กลายเป็นพรรคชูธงพหุวัฒนธรรม

44 ปี บนถนนการเมืองของวันนอร์ ได้เป็น ส.ส.ยะลา 9 สมัย และเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยึดวิถีรัฐสภามาโดยตลอด การตัดสินใจรับตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติ ก็หวังที่จะประคับประคองประชาธิปไตยแบบไทยให้ก้าวต่อไปได้