จับตาพลังต่อสู้ของ 'พิธา' ฝ่าด่านหิน สู่เก้าอี้นายกฯ

จับตาพลังต่อสู้ของ 'พิธา' ฝ่าด่านหิน สู่เก้าอี้นายกฯ

ถ้าจับอารมณ์สังคมผ่าน กระแสในโลกโซเชียล จะเห็นว่า ส่วนใหญ่หงุดหงิดกับการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค โดยมี “ก้าวไกล” เป็นแกนนำ ที่ทำท่าว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย

เสียงสะท้อนที่น่าสนใจก็คือ ไม่เข้าใจว่า เขาชนะเลือกตั้ง ประชาชนเลือกเขาเข้ามาแล้วทำไมไม่ปล่อยให้เขาจัดตั้งรัฐบาล และเป็นนายกฯ จะได้บริหารประเทศ แก้ปัญหาให้ประชาชน

แล้วก็เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ทั้งที่เลือกพรรคก้าวไกล และไม่เลือกพรรคก้าวไกล ก็คงคิดเห็นไปในทำนองเดียวกัน

รวมทั้งในเวลานี้ ดูเหมือนฝ่ายของ “2 ป.” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยอมรับความจริงได้แล้วว่า ประชาชนต้องการ “เปลี่ยนแปลง” อย่างชัดเจน

จนแม้แต่พรรคเพื่อไทย ที่ถือว่า กระแสแรงที่สุดในช่วงเริ่มหาเสียง ก็ยังพลาดพลั้งให้กับพรรคก้าวไกล เพราะท่าที และจุดยืนทางการเมือง ที่ไม่ชัดเจน ว่าจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพล.อ.ประวิตร หรือไม่ เพื่อให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มี “ส.ว. 250” เป็นด่านสำคัญ เป็นไปอย่างราบรื่น ขณะที่พรรคก้าวไกลไม่สนใจ ประกาศกร้าว“มีเราไม่มีลุง มีลุงมี่เรา”

นอกจากนี้ แม้พรรคก้าวไกล จะไม่ชนะเลือกตั้งแบบ “ถล่มทลาย” ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างขาดลอย แต่ก็ทำให้เห็นกระแสความต้องการของประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งความเป็นพรรคเล็ก และเกิดใหม่ สามารถชนะเลือกตั้งได้ขนาดนี้ คงแปลเป็นอื่นไปไม่ได้เลย

 

ดังนั้น ปัญหาที่เกิดกับการจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ในสายตาของประชาชน คือ การทำเรื่องง่ายให้เห็นเรื่องยาก หรือ พูดแบบชาวบ้าน ว่า หาเหตุมาแกล้งเขา

ลองมาไล่เรียงดูว่า อะไรคือ ปัญหาที่เป็นด่านสกัดพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ด่านแรก กรณีถูกร้องเรียน ถือหุ้นสื่อ(ไอทีวี) ซึ่งเป็นหุ้นที่ตกทอดมาจาก “มรดก” ในตลาดหลักทรัพย์ และ “พิธา” ก็ยืนยันว่า เขาเป็นแค่ “ผู้จัดการมรดก” และเรื่องนี้ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ผ่านการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาแล้วด้วย

ทั้งนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และอีกหลายคน ยื่นเรื่องต่อกกต. ให้ตรวจสอบ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) มาตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้งปี2562 หรือไม่

ประเด็นคือ การถือหุ้นสื่อ เป็นลักษณะต้องห้ามการสมัครส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ขณะนี้ กกต.กำลังพิจารณาไต่สวนคำร้อง ยังไม่ได้มีมติในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่อย่างใด  

แต่ประเด็นก็ไปไกลถึงขั้น วิเคราะห์ ถกเถียงกันว่า จะมีผลต่อ การเป็นหัวหน้าพรรคตามข้อบังคับพรรค และการเซ็นรับรองการสมัครส.ส.ของลูกพรรคในฐานะหัวหน้าพรรคหรือไม่ รวมถึง ความ “โมฆะ” ของการเลือกตั้ง ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่หรือไม่เลือกตั้งใหม่แค่เขตที่ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง หรือทั้งประเทศ

ฟังดูแล้ว เป็นเรื่องใหญ่ ยุ่งยากมหาศาล และต้องสูญเสียงบประมาณอีกมากมาย ไม่นับความวุ่นวายที่จะตามมา  

โดย ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน ชี้ประเด็นว่า ที่ผ่านมา17 ปี นับแต่บิดาถึงแก่กรรม นายพิธาได้รับหนังสือผลประกอบการรายปีที่ บมจ.ไอทีวีแจ้งให้ทราบแต่ละปีหรือไม่ ตรงนี้เป็นคำตอบ นอกเหนือจากใบหุ้น หากรู้แล้วไม่แจ้งแต่ปกปิด ย่อมมีผลเท่ากัน กิจการที่กระทำไปนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายมหาชน

ส่วนที่เกี่ยวโยงกับข้อบังคับพรรคก้าวไกล “กำหนดไว้ในข้อ 12 ถึงการเป็นสมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาเป็นสมาชิกพรรคโดยระบุในข้อ 21 ถึงการสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค เมื่อขาดคุณสมบัติ ข้อ 11 หรือข้อ 12 โดยในข้อ 37 ระบุว่า กก.บห.สิ้นสุดลง เฉพาะตัวเมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ จะเห็นได้ว่า ข้อบังคับพรรคก้าวไกล การถือครองหุ้นสื่อ ได้นำไปเขียนไว้เป็นสาระสำคัญในการเป็นสมาชิกพรรค ขณะที่ กก.บห.จะต้องเป็นสมาชิกพรรค หากกิจการที่ได้กระทำไปแล้วในนามนิติบุคคลตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยตนรู้ดีอยู่แล้ว ยังฝ่าฝืนผลทางกฎหมายย่อมไม่สมบูรณ์มาแต่แรก หรือที่เรียกว่า เป็นโมฆะ สูญเปล่า มีผลลบล้างสิ่งที่ตนกระทำลงไปในกิจการ ดังนั้น จุดตัด จุดต่าง ที่จะล้มกระดานการลงนามส่งสมัครส.ส.อยู่ตรงนี้” ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ประเด็นอีกว่า หากรู้อยู่แล้วในช่วงดำรงตำแหน่ง ส.ส. เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพิ่มเติม ระหว่าง ปี 2562-2566 ส่อแสดงให้เห็นว่า ตนรู้อยู่แล้วว่ามีหุ้นสื่อถือครอง กิจการที่กระทำในนามหัวหน้าพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายมหาชนย่อมส่งผลถึงกิจการที่ทำในนามพรรคก้าวไกลย่อมตกเป็นโมฆะ สูญเปล่ามาแต่แรก ล้มทั้งกระดานของพรรค ทั้งมีความผิดฐานจงใจปกปิดคุณสมบัติฯ ตามกฎหมายเลือกตั้งมีโทษทางอาญา หากพิสูจน์ว่า ตนเองไม่ทราบมาก่อน แต่ไปลงนามในหนังสือส่งผู้สมัคร ส.ส. การทำกิจการดังกล่าว ย่อมไม่มีผลย้อนหลังเช่นกัน ดังนั้น ต้องดูเจตนาตรงจุดนี้ด้วย

สุดท้ายข้อเท็จจริง เจตนา และข้อกฎหมายจะเป็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ ผลจะออกมาอย่างไร อยู่ที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นด่านสำคัญ

ด่านที่สอง กรณี “ส.ว.” 250 เสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล กำหนดให้ 5 ปีแรกมีสิทธิ์ร่วมโหวตลงมติเห็นชอบ “นายกรัฐมนตรี” ด้วย ซึ่งต้องใช้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา (376 เสียง)

ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล 8 พรรคมีอยู่แล้ว 312 เสียง และคาดกันว่าพรรคการเมืองที่เป็นขั้วตรงข้าม 188 เสียงจะไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ ดังนั้นจำเป็นจะต้องหาเสียงสนับสนุนจากส.ว.อีกถึง 64 เสียง จึงจะได้ 376 เสียง  

ปัญหาที่ส.ว.อาจไม่โหวตให้ “พิธา” เวลานี้มี 2 เหตุผล เหตุผลแรก ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขม.112 ซึ่ง “พิธา” และพรรคก้าวไกล ไม่ยอมถอยในเรื่องนี้ เหตุผลที่สอง มีการนำเอาเรื่องถือหุ้นสื่อที่กกต.กำลังพิจารณา มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจด้วย

นั่นเท่ากับว่า เงื่อนไขที่ส.ว.จะไม่โหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี มีเหตุผลหลักถึงสองเงื่อนไขแล้ว จากเดิมที่คาดว่า เงื่อนไขมาจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ได้รับแต่งตั้งจาก“คสช.” ของ “3 ป.” จึงถือว่า เป็นขั้วตรงข้าม

ผลที่ตามมาก็คือ หากส.ว.ส่วนใหญ่ไม่โหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี จนมีเสียงไม่ถึง 376 ที่นั่ง มีทางออกได้ทั้ง เสนอให้โหวตซ้ำไปพร้อมกับการ “ล็อบบี้” หาเสียงสนับสนุนเพิ่ม เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคร่วมรัฐบาล และเสนอนายกรัฐมนตรีจากคนนอก ซึ่ง อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะตัดสินใจ โดยคนที่จะมีบทบาทสำคัญในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นั่นเอง

เรื่องนี้ มีกระแสตามมาด้วยเช่นกันว่า หากส.ว.ไม่โหวตให้ “พิธา” ก็อาจเสนอโหวตไปเรื่อยๆ จนกว่า ส.ว.จะหมดวาระช่วงต้นปีหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่พรรคก้าวไกล และ “พิธา” จะเดินเกมจัดตั้งรัฐบาล ผูกมัด“ฝ่ายประชาธิปไตย” เอาไว้ในมือให้ได้ก่อน และมีการ “ล็อบบี้” หาเสียงสนับสนุนจาก“ส.ว.” ที่มีความคิดอิสระ ไม่ถูกครอบงำ ให้ได้มากที่สุด หรือ อย่างน้อย 64 คน

จากนั้น ก็เคลื่อนไหว ด้วยความกระตือรือร้นสูง ที่จะดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้กับประชาชน สร้างความหวัง สร้างศรัทธา ยิ่งกว่านั้น การลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาลก็ยังใช้ชื่อว่า “รัฐบาลของประชาชน”  

กระทั่งล่าสุด พรรคก้าวไกล ประกาศเป็นสถาบันทางการเมือง เป็นพรรคของมวลชน ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงประเทศให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้เห็นว่า พรรคนี้ประชาชนเป็นเจ้าของ

แน่นอน, พรรคก้าวไกล และ “พิธา” รู้อยู่แล้วว่า “คนรุ่นใหม่” และมวลชน “3 นิ้ว” คือ“พลังต่อรอง” หลัก ที่พร้อมเคลื่อนไหวปกป้อง ในกรณีมติ กกต. และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถือหุ้นสื่อออกมาเป็นลบ และการโหวตเลือกนายกฯของส.ว. ไม่เอา“พิธา”

แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้น ก็คือ พลังแห่ง “ความชอบธรรม” จากประชาชนทั้งประเทศ พลังที่ประชาชนจะใช้สิทธิ์ปกป้องคะแนนเสียงของตัวเอง ที่เสมือน “ฉันทามติ” ให้ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล และให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อเป็นเช่นนี้ การตัดสินปัญหา ระหว่าง “นิติศาสตร์” กับ “รัฐศาสตร์” อาจถูกนำมา “ชั่งน้ำหนัก” โดยมองไปที่ผลจะได้รับ อยู่ที่ “ประชาชน” หรือ “อยู่ที่ใคร”

“พิธา” และ “ก้าวไกล” ได้เดินเกมรุกไปก่อนแล้ว!