ฟุตบอล กับ การเมือง

ฟุตบอล กับ การเมือง

คนไทย ยังไงก็ดูฟุตบอลครับ

 แต่ผมเองไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็น “แฟนบอล” และไม่ได้ติดตามฟุตบอลหรือสโมสรต่างๆอย่างใกล้ชิดนัก  เลือกดูเฉพาะแมทช์สำคัญๆเท่านั้น

ผมไปดูฟุตบอล Premier League ในสนามสดๆครั้งแรก เมื่อได้รับเชิญไปที่สนามเชลซี หลายปีมาแล้ว ปีนั้นเชลซีฝีมือสุดยอด คะแนนสูงสุดในลีก ทิ้งคะแนนอันดับสองไกลมากจนถือว่าได้เป็นแชมป์แน่นอน ตั้งแต่ยังไม่ถึงวันสุดท้ายของฤดูกาลแข่งขันด้วยซ้ำไป

หลังจากนั้น เวลามีคนมาถามผมว่าเป็นแฟน Premier League ทีมไหน ผมก็จะตอบอย่างเขินๆว่า “เชลซีครับ” ทั้งๆที่ผมก็ไม่ได้ติดตามทีมนี้เท่าใดนัก

ก็ไม่รู้จะตอบว่าทีมไหนนี่ครับ ในเมื่อผมเคยไปดูและรู้จักทีมพรีเมียร์ลีกอยู่ทีมเดียวเท่านั้น แถมปีนั้นเขาได้แชมป์ด้วยอีก!

ผมเดาว่า แฟนฟุตบอลทีมไหน ก็คงจะเป็นแฟนของทีมนั้นไปนาน และคนส่วนใหญ่คงจะ “ไม่เปลี่ยนใจ” ไปเชียร์ทีมอื่นง่ายๆ ถึงแม้ว่าทีมที่เชียร์อยู่จะแพ้บ่อยๆก็ตาม

ยิ่งถ้าเป็นทีมประจำถิ่น หรือทีมเหย้าของเขาเอง ก็คงต้องเชียร์กันและให้กำลังใจกันสุดๆ ถ้าบ้านอยู่ลิเวอร์พูล แล้วไปเชียร์ แมนยู ก็คงจะน่าแปลกใจใช่ไหมครับ

ผมสังเกตว่า “แฟนฟุตบอล” น่าจะต่างจาก “แฟนการเมือง” แฟนบอลไม่ค่อยเปลี่ยนใจ แต่แฟนการเมืองในเมืองไทย  “เปลี่ยนใจ”  บ่อยเหมือนกัน ยิ่งคนกรุงเทพฯ มักจะเปลี่ยนใจไปได้เรื่อยๆ ครั้งล่าสุดนี้ผมเห็น เทใจให้พรรคสีส้ม จนกวาดเรียบ เกือบหมดทุกเขต กทม.

ภาคใต้ หรือจังหวัดใหญ่ภาคเหนือ ก็เช่นกัน ขนาดพรรคการเมืองประจำถิ่น ซึ่งครองใจแฟนกันมานานหลายทศวรรษแล้ว ครั้งนี้แฟนขาประจำยังเปลี่ยนใจไปเชียร์พรรคอื่นเฉยเลย

ส่วนตัวนักฟุตบอลนั้น ผมเห็นข่าวการเปลี่ยนสังกัดสโมสรแต่ละครั้ง ค่าตัวก็แพงเหลือเชื่อ น่าอิจฉาจังและมีสัญญาซื้อขาย ที่เขียนกันไว้ชัดเจนด้วย  

การที่ “นักฟุตบอล” จะย้ายสโมสร คงไม่มีใครว่าอะไรครับ แต่ “นักการเมือง” นั้น โดยหลักการแล้วคงไม่ย้ายพรรคกันบ่อยๆ และไม่มีสัญญาซื้อขายตัวกัน แบบนักฟุตบอลด้วย เพราะ นักการเมืองควรอยู่กับพรรคด้วย “อุดมการณ์”

เราจะเห็นว่านักการเมืองอังกฤษหรืออเมริกัน ไม่ได้เปลี่ยนพรรคเท่าใดนัก แต่นักการเมืองไทย กลับเปลี่ยนพรรคบ่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา พฤติกรรมอย่างนี้ เป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่จะว่าไปก็เข้าใจง่าย และเข้าใจได้ 555

ถ้าย้ายพรรคกันเป็นว่าเล่นเช่นนี้ แม้ไม่มีสัญญาซื้อขายย้ายพรรคเหมือนนักฟุตบอล แต่ก็คงจะมีสัญญาใจกันไว้  ว่าในภายภาคหน้า น่าจะมีอะไรติดไม้ติดมือกันบ้าง จะเป็นเช่นนั้นมั๊ยครับ

ผมมีโอกาสไปชมสนามฟุตบอลพรีเมียร์ลีกหลายแห่ง ทั้งสนามแมนยู ลิเวอร์พูล และเชลซี เจ้าเก่า รวมทั้งสนามของประเทศอื่นๆด้วย อยากจะสรุปว่าทุกสนามก็เหมือนๆกันนะครับ

เขาจะพาไปเราถ่ายรูปที่ขอบสนาม ให้นั่งเก้าอี้ของผู้จัดการทีม ให้ชมห้องที่แขวนเสื้อนักฟุตบอล ที่มีเบอร์มีชื่อนักฟุตบอลแขวนไว้รอบห้อง ราวๆ 30 ตัว ให้ชมห้องนวดร่างกาย และห้องอาบน้ำของนักฟุตบอล รวมทั้งห้องแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน ฯลฯ

พวกเรามักจะตื่นเต้น เข้าคิวกันถ่ายภาพกับเสื้อตัวนั้นตัวนี้ เลือกถ่ายภาพกับเสื้อนักฟุตบอลคนโปรด ซึ่งสำหรับผมก็ยากอยู่ เพราะดูชื่อนักฟุตบอลแล้วส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยรู้จักเลย

ที่รู้จัก มีอยู่ไม่กี่ชื่อ อย่าง Messi, Ronaldo, Mbuppe ฯลฯ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะไปยืนรอถ่ายรูปกับเสื้อพวกนี้

แต่ผมไปเจอไกด์ประจำสนามแมนยู เขาเล่นมุกกับพวกเราว่า “เสื้อที่คุณเห็นนี้ ไม่ใช่เสื้อที่นักกีฬาตัวจริง เขาสวมใส่หรอกนะ เพราะฉนั้น ไม่ต้องวิ่งเข้าไปจูบ ไปลูบไปดมก็ได้!”

ผมว่าถ้าพรรคการเมืองไทย จัดแข่งขันฟุตบอลสามัคคี แล้วเอาเสื้อที่นักการเมืองดัง สวมใส่ไปลงแข่งและมีชื่อบนเสื้อด้วย มาแขวนไว้ที่ห้องกิจกรรมของพรรค เวลาสมาชิกพรรคหรือแขกของพรรคแวะไปชมสถานที่ ก็อาจจะอยากถ่ายภาพด้วยเหมือนกันนะ ถ้านักการเมืองคนนั้นภาพลักษณ์ดี และเป็นนักการเมืองดัง

ส่วนห้องนวดร่างกายและห้องอาบน้ำนักฟุตบอล ก็เหมือนกันทุกแห่งครับ สนามของใครก็ทำห้องให้นักฟุตบอลตัวเองอย่างดี โอ่โถง ฯลฯ แต่ห้องของนักฟุตบอลที่มาเยือน จะเล็กกว่ามาก มีอุปกรณ์น้อยกว่าพูดง่ายๆ  ก็คือทำให้ทีมเยือน มีความสะดวกสบายน้อยกว่าทีมเหย้า เอาเปรียบกันนิดๆ ว่างั้นเถอะ!

แต่กีฬา มันมีทั้งเหย้าและเยือนมื่อถึงเวลาที่เราต้องไปแข่งบ้านเขา เขาก็ทำกับเราอีหรอบเดียวกันแหละ!

“Premier League” กำลังงวดเข้ามาทุกทีครับ ล่าสุด ทีมที่ผมพูดเขินๆว่า เป็นแฟนคลับ คืออดีตแชมป์ เชลซี ก็ตกมาอยู่อันดับ 12 แล้ว ส่วนอดีตแชมป์ เลสเตอร์ ซิตี้ นั้น มนต์ขลังจากผ้ายันต์จะยังเหลือเพียงใดก็ไม่รู้ แต่วันนี้อยู่อันดับ 18 เสียแล้ว

หันมาดู “Political League” บ้านเราบ้าง ก็คล้ายๆกันนะครับ อดีตแชมป์หลายพรรคก็ตกอันดับฮวบฮาบเหมือนกัน คนไทยได้แชมป์ใหม่ใส่เสื้อสีส้ม ไปแล้ว

แต่ไม่รู้ว่าจะได้เป็นรัฐบาลสีส้มหรือเปล่านะครับ อาจจะต้องหาผ้ายันต์มาช่วยก็ได้