จับตาเกม 'ทักษิณ' กลับบ้าน พลิกขั้ว 'เพื่อไทย-ก้าวไกล'?

จับตาเกม 'ทักษิณ' กลับบ้าน พลิกขั้ว 'เพื่อไทย-ก้าวไกล'?

แม้ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะยังไม่ออกมา แต่หลายคนมองข้ามช็อตไปแล้ว พรรคเพื่อไทย มีโอกาสชนะเลือกตั้งสูง เพียงแต่จะแลนด์สไลด์หรือไม่ เท่านั้นเอง

ต่อให้ช่วงโค้งสุดท้าย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล จะกระแสแรง แต่หันเมื่อไปดูผู้สมัครส.ส.เขตเลือกตั้ง กลับพบว่า ส่วนใหญ่ “โนเนม” และกระแสส่วนตัวเป็นรองผู้สมัครพรรคเจ้าของพื้นที่อย่างมาก ดังนั้นโอกาสที่พรรคก้าวไกล จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้นกว่าเดิม มีความเป็นไปได้สูง และแน่นอนว่า ฐานเสียงที่จะเปลี่ยนไปก็คือ ฐานเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน โดยเฉพาะอาจแย่งจาก “เพื่อไทย” โดยตรง ส่วนส.ส.เขต ก็ต้องไปสู้กับผู้สมัครส.ส.ด้วยกัน ที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่ ฐานเสียงเหนียวแน่น และเกมการเมืองเขี้ยวลากดิน

เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสดีที่สุดของพรรคก้าวไกล ก็คงไม่ต่างจากผลสำรวจ(โพล)หลายสำนักที่ออกมา คือ อยู่ในอันดับ 3 โดยมีพรรคภูมิใจไทย อยู่ในอันดับ 2 หรือ อาจสลับกันขึ้นลง ก็ไม่แน่เหมือนกันในวันเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ ถ้า “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะยังมีอีกหลายพรรคในฝ่ายเดียวกันที่จะทำให้เสียงในสภาผู้แทนราษฎร เกินกึ่งหนึ่ง คือ251 เสียง

ยิ่งกว่านั้น ท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่ส่งสัญญาณออกมาในพักหลัง ถือว่า ยังเอื้อต่อการจัดตั้งรัฐบาลของสองพรรค ถ้าได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างเป็นกอบเป็นกำ จนพูดได้ว่า เป็นความต้องการของประชาชน ที่ส.ว.ก็ไม่อาจฝืน

แต่เอาเข้าจริงอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะยังมีตัวแปรอื่นเข้ามาเป็นตัวตัดสิน อย่างน้อยสองเรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก เกมต่อรองเพื่อ “กลับบ้าน” หรือ กลับประเทศไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง เป็นเรื่องใหญ่ แม้ หลายฝ่ายชี้ว่า เป็นการปลุกกระแสช่วย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย หาเสียงให้ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หรือ ถล่มทลาย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก ก็คือฐานเสียงที่ “ทักษิณ” สร้างเอาไว้สมัยเป็น “นายกรัฐมนตรี” และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย  

แต่ที่น่าวิเคราะห์ก็คือ “ทักษิณ” พูดหลายครั้งในเวลาใกล้เคียงกันของปีนี้(2566) จนน่าคิดว่า ถ้าเป็นการ “โกหก” เพื่อหาคะแนนเสียงเท่านั้น การพูดย้ำหลายครั้งเช่นนี้ ย่อมเป็นผลเสียมากกว่าผลดี หรือความน่าเชื่อถือ รวมถึงความเชื่อใจด้วย ตกลง “ทักษิณ” ยอมแลกอย่างนั้นหรือ?

โดยเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2566 “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อญี่ปุ่น Kyodo News ระบุว่า พร้อมที่จะกลับมารับโทษจำคุกในประเทศไทย หากเขาได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างที่นายทักษิณ เดินทางเยือนโตเกียว

ต่อมา วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 “ทักษิณ” โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เช้าวันนี้ ผมดีใจมากที่ได้หลานคนที่ 7 เป็นชาย ชื่อ ธาษิณ จากน้องอิ๊งค์ แพทองธาร หลานทั้ง 7 คน คลอดในขณะที่ผมต้องอยู่ต่างประเทศ ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็วๆ นี้ ครับ ขออนุญาตนะครับ”

และล่าสุด วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 “ทักษิณ” โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกว่า

“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ”

“ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมายและวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา”

ประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม อย่างมาก ก็คือ ทำไมต้องเป็นเดือนกรกฎาคม มีผลต่อการตัดสินใจ กลับ หรือไม่กลับหรือไม่ เพราะในช่วงนั้น น่าจะรู้แล้วว่า หน้าตารัฐบาลเป็นอย่างไร ทำไมไม่กลับมาก่อนเลือกตั้งเลย ถ้าตั้งใจจริง?

ส่วนกลับมาแล้ว จะต้องเจอกับอะไรนั้น หากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็จะต้อง “ติดคุก” ในคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และต่อสู้คดีที่อยู่ในชั้นศาล โดย “ทักษิณ” ประกาศพร้อมแล้วที่จะทำตามกฎหมาย   

ถามว่า การกลับบ้านของ “ทักษิณ” เกี่ยวข้องอะไรกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะ “ทักษิณ” ก็บอกอยู่แล้วว่า ไม่ให้เป็นภาระกับพรรคเพื่อไทย และไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย

เพียงแต่คำว่า “ขออนุญาต” ที่พูดถึงหลายครั้ง และคำว่า “เจ้านายของเรา” เท่านั้น ที่มีบางคนตั้งคำถามว่า สื่อสารไปถึงใคร หรือไม่

เรื่องนี้ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยโพสต์เฟซบุ๊ก(12 พ.ค.) ว่า

“หลังเลือกตั้ง 66 หลายคนหวังให้เพื่อไทยร่วมกับก้าวไกลตั้งรัฐบาล เพราะยังเชื่อว่าเพื่อไทยเป็น "ฝ่ายปชต." นี่คือความไม่เข้าใจในดีเอ็นเอของเพื่อไทยที่เป็นพรรคทักษิณthrough and through และธาตุแท้ทักษิณที่ไม่ใช่นักปชต.

วาระท้ายสุดของพท.คือเป็นรัฐบาลเพื่อเอาทักษิณกลับบ้าน ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายเผด็จการ รบ.เพื่อไทย ที่มีก้าวไกลอยู่ด้วยจะถูกเผด็จการหมายหัวทำลายล้างทักษิณจะยิ่งไม่มีทางได้กลับบ้านแบบเท่ๆ

แม้เพื่อไทยได้สส.เป็นอันดับหนึ่งก็จะไม่เอาก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล การเจรจาจะล้มเหลวโดยอ้าง "เงื่อนไขที่รับไม่ได้" ของก้าวไกล ใช้เป็นเหตุผลไปร่วมกับพรรคที่เป็นตัวแทนเผด็จการ ให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน”

ก่อนหน้านั้น รศ.ดร.พิชิต โพสต์ด้วยว่า “ทักษิณเป็นจุดแข็งของเพื่อไทย เพราะชื่อทักษิณยังขายได้ในหลายพื้นที่ ทักษิณจึงส่งอุ๊งอิ๊งมาเป็นแคนดิเดตนายกฯเพื่อย้ำกับฐานเสียงส่วนนี้ว่า ถึงยังไงพท.ก็ยังเป็นพรรคทักษิณ เลือกแล้วปากท้องอิ่มแน่นอน แต่ทักษิณก็เป็นปัญหาของเพื่อไทย เพราะถึงยังไงคนที่ไม่เอาทักษิณปี 50 ปี 54 ปี 62 ก็ยังคงไม่เอาทักษิณปี 66 แถมคนที่ไม่เอาทักษิณกลับเพิ่มมากขึ้น

แม้ครั้งนี้พท.ได้เสียงอันดับหนึ่ง นายกฯก็คงไม่ใช่อุ๊งอิ๊ง ถ้าเศรษฐาเป็นนายกฯ ก็จะมีสภาพเหมือนสมัคร สุนทรเวช คิดดูว่า พวกสส.ในพรรค แก๊งก๊วนต่างๆ รมต.เพื่อไทยและสารพัดคนที่อยากได้ตำแหน่งโน่นนี่นั่น เขาจะฟังใคร หรือวิ่งไปหาใคร ระหว่างเศรษฐากับดูไบ-บ้านจันทร์?

และถ้าเศรษฐาก่อปัญหามากก็จะถูกเขี่ยทิ้งเหมือนสมัคร ถ้าเศรษฐาเชื่อจริงๆว่าตนจะมีอำนาจสั่งบรรดาสส. แก๊งมุ้งต่างๆ และรมต.พท.ได้ เขาก็ไร้เดียงสาทางการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ!

อ้อ! ลืมไปว่า ยังมีตัวเลือกนายกฯอีกคนคือประวิตรจากพปชร. เพียงแต่พท.จะยกมือให้หรือไม่ และด้วยข้อแลกเปลี่ยนอะไร?”

แน่นอน, สิ่งที่ รศ.ดร.พิชิต ชี้ประเด็น ก็คือ การกลับบ้านของ “ทักษิณ” สามารถพลิกโฉมหน้าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ได้เลยทีเดียว โดยอาจยอมแม้กระทั่ง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร “ลูกสาว” ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี? เพียงขอให้ “เพื่อไทย” ได้เป็นรัฐบาล และ“ทักษิณ” ได้กลับบ้านแบบเท่ๆ

ส่วน “ก้าวไกล” ติด “เงื่อนไข” ที่พรรคตัวแทนฝ่ายเผด็จการรับไม่ได้ จึงไม่ได้ร่วมรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล ก็คงอยู่ลำบาก ถ้ามีพรรคตัวแทนเผด็จการร่วมรัฐบาลด้วย ดังนั้น“ทักษิณ-เพื่อไทย” จึงอาจตัดปัญหาเรื่องนี้

เรื่องที่สอง กรณีลงมติเลือก “นายกรัฐมนตรี” ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ พรรคการเมืองที่จับมือกันตั้งรัฐบาล มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 251 เสียงขึ้นไปเท่านั้น หากแต่ยังต้องมีเสียง ถึง376 เสียง หรือ เกินกึ่งหนึ่งของ รัฐสภา(ส.ส.และส.ว.) จึงจะสามารถปิดสวิตช์ ส.ว.โดยปริยายได้ คือ โหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” โดยไม่ต้องสนใจเสียงของส.ว. 250 เสียง

แต่ถ้าทำไม่ได้ ถือว่า เสียงส.ว. 250 เสียง ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนด 5 ปีแรก ส.ว.มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ “ส.ส.” ก็จะมีบทบาทในการ“ต่อรอง” ที่จะเลือกนายกฯด้วย

อย่างกรณี นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ชี้ให้เห็นว่า การเลือกนายกฯนั้น ทาง ส.ว. ต้องขอดูก่อนว่าเมื่อจัดตั้งรัฐบาลกันแล้ว พรรคการเมืองไหนเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ชื่อที่เสนอมาคือใคร เราขอดูตรงนั้นก่อน ตามหน้าที่และอำนาจของส.ว. โดย อาจพิจารณาคุณสมบัติว่า ผู้จะมาเป็นนายกฯ ประเทศไทยมีความรู้ความสามารถหรือไม่ และเราต้องขอคุณสมบัติว่าต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่มีประวัติทุจริตมาก่อน เราขอดูตรงนี้ก่อนเพื่อพิจารณา

เมื่อถามว่า หากแคนดิเดตนายกฯ มาจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 แบบนี้ไม่เอาใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า “อันนี้คงจะไม่ได้ คงจะไม่เอา”

ส่วนที่มีการมองกันว่า ส.ว.อาจทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรนั้น นายกิตติศักดิ์ ตอบว่า เรื่องนี้ เราไม่เล่นด้วยแน่นอน พูดตรงๆ เลย อย่างบางคนบอกว่า ส.ว. มีธงตั้งไว้ว่า นายกฯ ต้องเป็น 2 ลุงเท่านั้น ตรงนี้เราคงไม่เห็นด้วยเพราะมันจะเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ บ้านเมืองจะไม่สงบ เราคงไม่เอาด้วย สมมติว่า อย่างตอนนี้ที่บอกกันว่า มีสองฝั่ง ซึ่งหากฝั่งหนึ่งมีเสียงข้างมาก แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้แล้วก็มีอีกฝั่งเป็นเสียงข้างน้อย แต่ว่าเขาพยายามจะตั้งรัฐบาลขึ้นมา ตรงนั้น ส.ว.จะไม่เข้าไปยุ่งด้วย เพราะเราไม่ได้มองแค่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกฯ แต่เราดูว่าบ้านเมืองจะไปได้ไหม มันจะเกิดความวุ่นวาย ความรุนแรงอะไรหรือไม่ เรามองตรงนั้นมากกว่า

“จะมาบอกว่า ส่งชื่อมาแล้ว ส.ว.ต้องสแตมป์ให้เลย ก็ไม่ใช่ คือหากเราพิจารณาแล้ว ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราก็คงสนับสนุนให้ เราไม่ฝืนเสียงประชาชน แต่จะให้บอกว่า ส่งใครมาก็เลือก มันก็ใช่ที่ เราก็ขอปฏิบัติหน้าที่ ขอพิจารณาด้วยสักนิดหนึ่ง เรามองชาติบ้านเมืองว่าจะเดินไปได้อย่างไรมากกว่า ไม่ใช่ว่าไม่มีสองลุงแล้วประเทศชาติจะอยู่ไม่ได้ ถ้าสองลุงอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องไปหาเสียงส.ส. มาให้เยอะๆ มาให้ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง หลักการของเรามีแค่นี้ เราคงไม่ใช่ว่าอะไรก็ต้องสองลุงอย่างเดียว คงไม่ใช่”

ที่น่าคิดก็คือ ถ้าไม่มีเกมต่อรอง ของ “ทักษิณ” กรณี “กลับบ้าน” กับ “ส.ว.” กรณีเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม(ในสายตาส.ว.)

การจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ(กรณีชนะเลือกตั้งมาอันดับ 1) กับพรรคก้าวไกล (กรณีมาอันดับ 2 หรือ 3) ร่วมกับพรรคแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน จนมีเสียงเกินกว่า 251 เสียงขึ้นไป แล้วเสนอ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร เป็น “นายกรัฐมนตรี” ทุกอย่างก็จบ

แต่พอมีเงื่อนไข “ต่อรอง” ของ “ทักษิณ” เรื่อง “กลับบ้าน” การจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น “เงื่อนไข” ทันที อย่างที่ นักวิชาการดังชี้ให้เห็นและมีความเป็นไปได้สูง ที่การจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนไปตามอำนาจต่อรอง หรือ จับมือกับพรรคตัวแทนฝ่ายเผด็จการ

ส่วนกรณีส.ว.มีอำนาจต่อรองนั้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยที่จัดตั้งรัฐบาล รวมเสียงแล้วได้ไม่ถึง 376 เสียง จึงทำให้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ถูก “เงื่อนไข” ความ “เหมาะสม” หรือไม่ เบียดตกเก้าอี้ เพียงแค่ ส.ว.งดออกเสียง ก็ทำให้เสียงสนับสนุนไม่ถึงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว โดยพรรคเพื่อไทย อาจต้องส่งรายชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯคนที่สองแทน หรือไม่ก็เป็นชื่อแคนดิเดตนายกฯของอีกพรรค ไปเลย อยู่ที่อำนาจต่อรอง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เกมการเมืองหลังเลือกตั้ง ก็ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จอยู่ดี อยู่ที่การ “ต่อรอง” จะลงตัวได้อย่างไรเท่านั้นเอง