“บิ๊กป้อม” ปลดห่วง “บิ๊กตู่” สู้ตามเกมการเมืองตัวเอง

“บิ๊กป้อม” ปลดห่วง “บิ๊กตู่” สู้ตามเกมการเมืองตัวเอง

ถ้าเป็น “ภาพยนตร์เลือกตั้ง” ก็คงต้องบอกว่า ครั้งหน้าที่จะมาถึง “ฟอร์มใหญ่” กว่าทุกครั้งในรอบหลายปี ทั้งรวบรวม “พระ-นาง” เอาไว้มากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้

ที่น่าดูชม คือ การประชันบทบาทกันอย่าง “ถึงพริกถึงขิง” ของนักการเมือง(ดารา)เจ้าบทบาท ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเก๋า รุ่นใหม่ “บู๊-บุ๋น” สนั่นจอ(สนามเลือกตั้ง) ไปเลยก็ว่าได้

หนังตัวอย่าง ที่เริ่มปล่อยออกมา แม้เพียงเล็กน้อย ก็ทำเอาผู้ชมแทบทนรอไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะการต่อสู้กันของตัวละครเอก ที่ความสัมพันธ์ฉัน “พี่-น้อง” ทิ้งเอาไว้ข้างหลัง และตลอดไป 

อย่าง “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ยึดหัวหาด พรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศชิง “เก้าอี้นายกฯ” อีกสมัย “ประเทศไทยต้องไปต่อ”

ทิ้งชายคาพักพิงหลังเก่า “พรรคพลังประชารัฐ” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ผู้เคยสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยความรู้สึกที่ “บิ๊กป้อม” ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร เพียง “ขอให้โชคดี” และ “ประสบความสำเร็จ”

นี่คือ “สองบิ๊กเนม” หรือ “2 ป.” จาก “ขั้วเดียวกัน” ที่ก่อนหน้านี้ คอการเมืองหลายคน ยังให้น้ำหนักว่า อย่างไรก็ตัดกันไม่ขาด เพราะความเป็น “พี่-น้อง” มีมาอย่างยาวนาน

แต่ท่าทีล่าสุด จาก“จดหมายเปิดใจ” ผ่านเฟซบุ๊กของ “บิ๊กป้อม” ใครอ่านก็คงสรุปได้คล้ายกันว่า “พี่-น้อง” ตัดกันไม่ขาดก็จริง แต่การเมือง เมื่ออยู่คนละพรรค ก็ต้องสู้กัน ที่ผ่านมา พี่ช่วยน้องให้เป็นใหญ่เป็นโตได้ แต่สิ่งที่น้องตอบแทน ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร อะไรประมาณนั้น

หันมาดูอีกฝ่าย ตัวละครเอก “ฉากหน้า” คือทายาทตระกูลดัง “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวคนเล็ก ทักษิณ ชินวัตร หรือ “โทนี่ วู้ดซัม” ที่แฟน “คลับเฮาส์” รู้จักกันดี อดีตนายกรัฐมนตรี

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ทักษิณ” ครองความเป็นใหญ่ในการเมืองไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 สองสมัยติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 –11 มีนาคม พ.ศ. 2548 หลังจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ และดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 - 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก่อนจบเกมเพราะถูกรัฐประหาร และก่อนหน้า “รัฐประหาร” มีการลุกฮือของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ประท้วงขับไล่ออกจากตำแหน่ง

ยิ่งกว่านั้น “ทักษิณ” ยัง มี “นอมินี(ตัวแทน)” ทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคพลังประชาชน และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย

แน่นอน, “อุ๊งอิ๊ง” อาจดูใหม่สำหรับการเมือง และ “ละอ่อน” กว่าใครในบรรดา “แคนดิเดตนายกฯ” แต่คนที่หนุนหลัง จากแดนไกลต่างหาก ที่พร้อมทำทุกวิถีทาง เพื่อช่วงชิง “เก้าอี้นายกรัฐมนตรี” ให้กับ “ลูกสาว” เพื่อสืบทอดอำนาจการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีดาวเด่น อย่าง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดีกรี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขในปัจจุบัน ที่มี “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมือง “รุ่นเก๋า” คอยช่วย “บัญชาเกม”

“เสี่ยหนู” ถูกจับตามองในฐานะ “ตัวสอดแทรก” ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หาก “พลังดูด” ที่เป็นอยู่ สามารถนำอดีตส.ส.กลับเข้าสภาฯได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ รวมถึงอีกฝ่าย(เพื่อไทย) ได้ที่นั่งส.ส.ไม่ทิ้งห่างมากนัก เพราะการจัดตั้งรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับ “พรรคตัวแปร” และส.ว.ที่มีสิทธิ์โหวตคะแนน “เลือกนายกรัฐมนตรี” ว่าจะ “เทเสียง” ให้ใคร เป็นกลุ่มก้อนหรือไม่ ด้วย

เอาเป็นว่า ชื่อชั้น “กุนซือใหญ่” ที่อยู่เบื้องหลัง “ไม่ธรรมดา” และอ่านเกมการเมืองช่วงวิกฤติ “ผู้นำ” ขาดมาตลอด รวมทั้งการเป็นนักปั้นนายกฯ ก็ไม่แพ้ใคร

รวมถึง พรรคที่อุดมการณ์จัดจ้าน อย่าง “ก้าวไกล” ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ควักหัวใจคนรุ่นใหม่ เครือข่าย “3 นิ้ว” มาไว้ในกำมือได้เรียบร้อย

ที่ท้าทายอย่างมากก็คือ การกล้าที่จะเสนอนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112(กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ) และ “ปฏิรูปสถาบันฯ” เพื่อพัฒนาการเมือง เป็น “จุดขาย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ไม่นับพรรคเกิดใหม่ แต่หัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคล้วนเคยมีบทบาททางการเมืองและการบริหารประเทศมาแล้ว อย่าง “พรรค ไทยสร้างไทย” ของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ “พรรคสร้างอนาคตไทย” ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญในรัฐบาลทักษิณ จนประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้ว

แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า จะต่อสู้กันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม “จุดโฟกัส” ชั่วโมงนี้ กำลังฉายส่องไปที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า “พรรครวมพลังประชารัฐ” หลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แยกทาง ไปสร้างบ้านใหม่ที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

โดยเฉพาะที่โพสต์ “จดหมายเปิดใจ” ลงเฟซบุ๊ก เหมือน “น้อยใจ” พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในที

“...เมื่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น เตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ก็แสดงความประสงค์จะทำงานการเมือง โดยอ้างว่า เพื่อสานต่อภารกิจที่ดำเนินการไว้ให้สำเร็จ ผมจึงตัดสินใจสนับสนุนให้มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง และเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมาเป็นนายกฯ ตามที่เจ้าตัวปรารถนา

ในช่วงเวลาของการเป็นแกนนำรัฐบาล มีทั้งเรื่องที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจใน ครม. แต่จำเป็นต้องสงวนท่าทีตามมารยาททางการเมือง ประกอบกับยังไม่มีอะไรชัดเจนว่ามติในเรื่องใดๆ จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบ้านเมือง

มาบัดนี้ ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงจุดยืนทางการเมืองเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 ว่าจะแยกทางจากพรรคพลังประชารัฐที่เคยสนับสนุนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ตรงกับที่สื่อมวลชนไปสืบข่าวมาก่อนหน้านี้ ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคสำรองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

ผมเคยกล่าวไว้ว่า “3 ป. Forever” มาวันนี้ ผมก็ยังมีความรู้สึกเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในเมื่อท่านตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ผมก็ไม่สามารถจะบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ คงจะบอกได้เพียงว่า ผมขอแสดงความยินดีกับท่านด้วย ขอให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองใหม่ที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกแล้ว

สำหรับผม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขอประกาศในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะขอรับผิดชอบและจะไม่มีวันทอดทิ้งสมาชิกพรรคทุกคน ที่เคยทำงานการเมืองมาด้วยกัน และพร้อมจะเดินนำทุกคนที่มีความเชื่อมั่นในความตั้งใจอันแน่วแน่ของผม เข้าสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป เพื่อกลับมาเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง”

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และไม่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “จุดขาย” ให้พรรคแล้ว รวมถึงส.ส.หลายคน ก็ย้ายตาม “บิ๊กตู่” ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ

แต่ปรากฏว่า มุ้ง “บ้านใหญ่” หลายมุ้ง ที่เคยสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ส่วนใหญ่ยังอยู่ครบ โดยสื่อบางสำนักได้รวบรวมเอาไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ

มุ้ง “บ้านรัตนเศรษฐ” ของ ‘เสี่ยปาน’ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แห่งโคราช เป็นตระกูลที่มี ส.ส.มากที่สุดในพรรค แต่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไป 3 คน จากคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา

ประกอบด้วย นายวิรัช, นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ภรรยานายวิรัช, นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเศรษฐกิจไทย น้องสาวนางทัศนียาที่จะกลับมาอยู่กับพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนคนที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้แก่ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ลูกชายคนโตนายวิรัช, นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ลูกชายคนรองนายวิรัช, นางวลัยพร รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ น้องสาวนายวิรัช

โดยการเลือกตั้งครั้งหน้า นายวิรัช วางทายาททางการเมืองไว้แล้ว พร้อมส่งลูกชายคนเล็กคือ นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ เลขานุการ รมช.คมนาคม และนางอรัชมน รัตนเศรษฐ ภรรยานายอธิรัฐ ลง ส.ส.แบบแบ่งเขต

มุ้ง “มะขามหวาน” เป็นมุ้งที่ถูกจับตามองอย่างมากในตอนแรกว่าจะตาม “บิ๊กตู่” ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังและเลขาธิการพรรค จะตัดสินใจอยู่ต่อ หลัง “บิ๊กป้อม” ถูกโน้มน้าวจะให้บทบาทในการบริหารพรรคเหมือนเดิม 

ทั้งนี้เมื่อปี62 นายสันติสามารถพาทีมกวาด ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ยกจังหวัด 5 ที่นั่ง ได้แก่ น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์, นายจักรัตน์ พั้วช่วย, นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์, นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ และนายเอี่ยม ทองใจสด ปัจจุบันมี ส.ส.ในกลุ่ม 6 คน รวมนายสันติ ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า มุ้งนี้ถือว่า ตัวส.ส.มีคะแนนนิยมของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งกระแสพรรค จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการไม่อยู่ของ “บิ๊กตู่” มากนัก

มุ้ง “บ้านใหญ่ปากน้ำ” โดย กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าของ “เอ๋” ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ มุ้งนี้เกือบจะย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากไม่ลงรอยกับ “เสี่ยเฮ้ง” นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานและอดีต ผอ.พรรคพลังประชารัฐ กระทั่ง “เสี่ยเฮ้ง” ย้ายตามไปอยู่กับ “บิ๊กตู่” จึงลดความอึดอัดลงไปแล้ว

และอีกสิ่งที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ “กลุ่มปากน้ำ” ยังไม่ทิ้ง “บิ๊กป้อม” คือ กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล ‘เอ๋-ชนม์สวัสดิ์’ ในคดีเงินอุดหนุนวัดตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนายก อบจ.

นอกจากนี้ “บิ๊กป้อม” ยังถือคำมั่น ที่จะมอบเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ให้กับนายสุนทร ปานแสงทอง “โควตากลุ่มปากน้ำ”

ปัจจุบันมี ส.ส. 6 คน ได้แก่ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม, นายยงยุทธ สุวรรณบุตร, น.ส.ภริม พูลเจริญ, นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ, นายกรุง ศรีวิไล สุทินเผือก และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คน คือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม

มุ้ง “ชากังราว” ของ กลุ่ม ส.ส.กำแพงเพชร ภายใต้การนำของ “วราเทพ รัตนากร” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ถูกจับตามองว่าจะขนของออกจากพรรคพลังประชารัฐ 

โดยการเลือกตั้งปี62 นายวราเทพ สามารถกวาด ส.ส.ยกจังหวัด 4 ที่นั่ง ได้แก่ นายไผ่ ลิกค์, นายปริญญา ฤกษ์หร่าย, นายอนันต์ ผลอำนวย, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ (ต่อมามีการเลือกตั้งซ่อม นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ชนะเลือกตั้ง) บวกกับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 ที่นั่ง คือ นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ รวมเป็น 5 ที่นั่ง

แต่นายวราเทพ มีปัญหากับนายไผ่ ซึ่งเป็น “บ้านใหญ่เก่า” เรื่องสนามเลือกตั้งนายก อบจ.กำแพงเพชร ทำให้เป็นเขตเดียวที่นายวราเทพไม่สามารถคอนโทรลได้

ท่าทีของ “มุ้งชากังราว” ชัดเจนขึ้น หลัง “บิ๊กป้อม” ประกาศต่อหน้า ส.ส.กำแพงเพชร ระหว่างลงพื้นที่ว่าจะให้ “วราเทพ” ดูแลทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันนายวราเทพ ยังเป็นคีย์แมนคนสำคัญ เรื่องเศรษฐกิจให้กับพรรค

มุ้ง “บ้านใหญ่สระแก้ว” การเลือกตั้งเมื่อปี 62 “กำนันกี” ขวัญเรือน เทียนทอง มารดาของ “ครูเหน่ง” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ สร้างปรากฏการณ์ให้กับ “เทียนทอง” อีกสาย ด้วยการกวาด ส.ส.ยกจังหวัด 3 ที่นั่ง ได้แก่ น.ส.ตรีนุช, นายฐานิสร์ เทียนทอง และนายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ ปราบ “เทียนทอง” สายเก่า ของ “เสนาะ เทียนทอง” อดีตแกนนำวังน้ำเย็น ได้อย่างน่าทึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ในการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) “บิ๊กป้อม” สามารถดัน “ครูเหน่ง” เป็น รมว.ศึกษาธิการได้สำเร็จ จนมัดใจ “บ้านกำนันกี” ให้อยู่กับ “ลุงป้อม”

“มุ้งเล็กเมืองสิงห์” จ.สิงห์บุรี มี ส.ส.เพียงคนเดียว แต่รอบตัว “เสี่ยโอ๋” นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างเป็นนักการเมืองที่ผ่านการเป็น ส.ส.มาแล้วหลายคน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้า นายชัยวุฒิ ดูเหมือนมีท่าทีจะไปกับ “บิ๊กตู่” แต่เมื่อไม่มีปฏิกิริยาตอบรับเป็นขุนพล จึงตัดสินใจอยู่กับ “ลุงป้อม” ต่อไป 

“มุ้งผู้กองธรรมนัส” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งมี “เงื่อนไข” กลับบ้านพลังประชารัฐ แต่ต้องไม่มี “บิ๊กตู่” ถือว่า สบโอกาสพอดี  

ส.ส.ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและอีสาน ได้แก่ ร.อ.ธรรมนัส, นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายจีระเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, นายไผ่ ส.ส.กำแพงเพชร, นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก, นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร, นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น, น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร, พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

สำหรับ มุ้ง “กลุ่มสามมิตร” ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมและรองหัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมและประธานยุทธศาสตร์พรรค และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นมุ้งเดียวที่ต้องจับตาต่อไปจนถึงโค้งสุดท้าย

มาถึงตรงนี้ ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร แม้ยังหวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็คงจะยาก เพราะดูจากสภาพการณ์ของพรรคที่ส.ส.บางส่วนย้ายตาม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ และบางคนย้ายไปอยู่พรรคอื่น ที่เหลือจึงข้นคลั่กคนที่รัก “ลุงป้อม” และคาดหวังได้ที่จะกลับสู่สภาฯ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เป็นไปได้สูงที่พรรคพลังประชารัฐ จะลดรูปมาเป็นพรรคระดับกลาง ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า และเอาจริงเอาจังกับสนามเลือกตั้งที่มั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้ง โดยมีฐานเสียงของส.ส.เป็นเครื่องการันตีอยู่แล้ว และไม่หวังพึ่งกระแสพรรคจาก “บิ๊กตู่” อีกต่อไป         

ขณะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ที่ในเวลาต่อมายอมรับว่า จดหมายเปิดใจถึง “บิ๊กตู่” เป็นเรื่องจริงทั้งหมด อ้างว่า พรรคพลังประชารัฐ ทำขึ้นเพื่อตอบคำถามประชาชน

เรื่องนี้ ถ้าวิเคราะห์จากเนื้อหาโดยสรุป ดูเหมือน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ได้ “ปลดห่วง” บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากความค้างคาใจ ที่ต้องแบก “ความเป็นพี่ เป็นน้อง” เอาไว้ ในการสนับสนุนเป็นนายกฯอีกสมัย

ต่อไป “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร อาจไม่ต้องห่วงอีกแล้ว ว่าต้องได้ส.ส.มากที่สุด เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดัน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ

คำอวยพร “บิ๊กตู่” ยินดีด้วย และขอให้ประสบความสำเร็จ จึงมีความหมายในทางล่ำลา มากกว่ายังยึดโยงอยู่ด้วยกัน?

นั่นหมายถึงต่อไปนี้ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ต่างคนต่าง “สร้างดาว” ของตัวเองในทางการเมือง และเป็นตัวของตัวเอง ที่จะเลือกเดินเกมเพื่ออยู่ในอำนาจ หลังเลือกตั้ง

อย่าลืมว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ มีที่ปรึกษาทางการเมือง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ก็มีที่ปรึกษาทางการเมืองเช่นกัน

และอย่าลืม “ทักษิณ” เคยกล่าวในคลับเฮ้าส์ถึงการตั้ง “บิ๊กป้อม” เป็น ผบ.ทบ. ว่า ไม่รู้จัก พล.อ.ประวิตร แต่รู้ว่าเป็นพี่ชายของ “รุ่นพี่” ของตน คือ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่จบเตรียมทหารรุ่น 9 นายร้อยตำรวจรุ่น 25 เมื่อรู้จักกันดี ก็โอเค จึงตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จากนั้นก็ขึ้น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ.

สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท ขึ้นเป็น ผบ.ตร. สมัย “สมัคร สุนทรเวช” เป็น นายกฯ พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เห็น “สายสัมพันธ์” ระหว่าง “ชินวัตร-วงษ์สุวรรณ” ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน

ต่อมา พล.อ.ประวิตร ได้รับการเทียบเชิญจาก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้มาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ทำให้ พล.อ.ประวิตร ได้เชื่อมสัมพันธ์มาทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จึงได้พบกับบรรดาแกนนำรัฐบาลในยุคนั้น

และเป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้ทหาร “สายบูรพาพยัคฆ์” มีผลพลอยได้ ผงาดใน ทบ. ตามมาด้วย หนึ่งในนั้นคือ “พี่รอง-น้องเล็ก” สาย 3ป.บูรพาพยัคฆ์ ทำให้ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ปูทางให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้น ผบ.ทบ. ตามมา

ดังนั้น “ดีล” ทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร มีส.ว.จำนวนหนึ่งอยู่ในมือ โดย นายไพศาล พืชมงคล คนใกล้ชิด เคยออกมาระบุว่า มีจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน มากกว่าของ “บิ๊กตู่” และกลุ่มอื่น จึงเท่ากับเป็นตัวเลขหนึ่งที่นับเอาไว้แล้วในมือ ไม่นับส.ส.ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีก

ไม่แปลก ที่หลายคนจะวิเคราะห์ล่วงหน้าได้ไม่ยากว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ จะเป็น “ตัวแปร” ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งหน้า

ทำให้ “ดีล” ที่หลายคนอาจมองว่า เป็นไปได้ยาก แต่นายไพศาล พืชมงคล ใช้คำว่า ส่อเค้าให้เห็น “3 พรรคใหญ่” จัดตั้งรัฐบาล คือ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ” ก็อาจไม่ไกลเกินจริง

เพราะอย่าลืม ถ้าพรรคเพื่อไทย ได้ส.ส.ไม่ถึง “251 ที่นั่ง” เกินครึ่งของสภาฯ ก็ต้องหาตัวช่วย ที่ “ดีล” แล้ว ชนะอีกฝ่าย และ “การันตี” เสียงส.ว.ได้ด้วย

ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทย มีเงื่อนไขว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง“บิ๊กป้อม” ก็ “ปลดห่วง” ให้แล้วเรียบร้อย

ขณะเดียวกัน เสี่ยหนู “อนุทิน” และครูใหญ่ “เนวิน” แห่ง “ภูมิใจไทย” ก็ได้ส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจน พร้อมจับขั้วการเมืองกับทุกขั้ว รวมทั้ง “เนวิน” ยังพูดชัด ถึงการจับขั้วกับพรรคเพื่อไทย ว่าไม่มีปัญหา    

หรือ ถ้าฝ่ายพรรคภูมิใจไทย ได้ที่นั่งส.ส.มาเป็นอันดับ 1 “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ก็พร้อมเป็น “ตัวแปร” จัดตั้งรัฐบาลพรรคภูมิใจไทยได้เช่นกัน ทั้งยังง่ายต่อการตัดสินใจด้วย เพราะเคยร่วมรัฐบาลกันมาก่อน

สำหรับพรรคอื่น ดูเหมือน “ยาก” ที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และยังคงต่อสู้เพื่อที่จะได้ 25 ที่นั่ง เพื่อมีสิทธิ์ได้รับการ “เสนอชื่อ”เป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญอยู่ด้วยซ้ำ ไม่เว้นแม้แต่พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ แม้แกนนำบางคนคาดว่าจะได้ถึง 100 ที่นั่งก็ตาม

นี่คือทั้งหมดที่น่าดูชม ว่า จุดสุดท้ายของการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าจะออกมาอย่างไร “ดีล” จัดตั้งรัฐบาล จะ “พลิกขั้ว” หรือ “ขั้วเดิม” หลัง “บิ๊กป้อม” ปลดห่วง “บิ๊กตู่” ออกจากการ “แบกภาระ” หนุนให้เป็นนายกฯเรียบร้อย และพร้อมแล้ว กับ “เกม” ของตัวเอง