“พท.” สยบดีล ตั้งรัฐบาลล่วงหน้า ก่อน “ยี้” ถล่มแลนด์สไลด์

“พท.” สยบดีล ตั้งรัฐบาลล่วงหน้า ก่อน “ยี้” ถล่มแลนด์สไลด์

ดูเหมือน “จุดอ่อน” ของ “พรรคการเมืองไทย” ในเวลานี้ ก็คือ ความ “โดดเด่น” ในเรื่อง “อุดมการณ์” ไม่ว่า ซ้าย หรือ ขวา ซ้ายสุดโต่ง ขวาสุดโต่ง กลางเอียงซ้าย กลางเอียงขวา การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และผลงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว พวกพ้อง วงศ์ตระกูล

ดังนั้น พรรคการเมือง จึงอยู่ใน “วังวน” เพื่อผลประโยชน์ของการเมือง แสวงหาอำนาจรัฐ และมุ่งสร้างคะแนนนิยมเพื่อการเลือกตั้งเป็นสำคัญ

ทำให้ข้ออ้าง “เพื่อประชาชน” ของทุกพรรค เอาเข้าจริง แทบไม่อยู่ในลำดับที่ “เห็นหัว” ประชาชนเลยก็ว่าได้ แน่นอนสิ่งที่ประชาชนได้รับ เป็นเพียงผลพลอยได้จาก การมุ่งสร้างคะแนนนิยมเพื่อการเลือกตั้ง มิใช่เป้าหมายแรก อย่างที่ล่าวอ้างกับประชาชน และอยู่ในเจตนารมณ์ของการตั้งพรรคการเมือง

เมื่อเป็นเช่นนี้ “วังวน” การเมือง จึงเป็นเรื่องของการแย่งชิง “อำนาจรัฐ” เพื่อจัดสรรเงินงบประมาณ ซึ่งมาจากภาษีประชาชน เพื่อผลประโยชน์เลือกตั้ง สานต่ออำนาจ ระยะยาว

ส่วน “ประชาชน” ถูกหลงลืมในช่วงของการมีอำนาจรัฐ มีบทบาทในการบริหารประเทศ และคิดถึงอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งที่เป็นผลประโยชน์พรรคการเมือง

นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ประชาชน” กับ “พรรคการเมือง” ไม่มีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นเท่าที่ควร ไม่มีความเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง และประชาชนส่วนใหญ่ยังฝากความหวังเอาไว้กับ “ตัวบุคคล” หรือนักการเมือง ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง  

สุดท้าย พรรคการเมือง ก็ต้องหวังที่นั่งส.ส.จากตัวบุคคล มากกว่า “นโยบายพรรค” และ “กระแสพรรค” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากความนิยม เว้นแต่บางพรรค อย่าง “ไทยรักไทย” ยุค ทักษิณ ชินวัตร และ “เพื่อไทย” ยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้นโยบาย “ประชานิยม” ซื้อใจประชาชน แต่ก็ยังถูกโจมตี และดำเนินคดีข้อหาทุจริตเชิงนโยบาย “มีผลประโยชน์ทับซ้อน” เอื้อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง จน “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ถูกประชาชนจำนวนมาก ประท้วง ขับไล่ และถูกรัฐประหาร ทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง จนเป็นที่พึ่งประชาชนได้

สรุปก็คือ พัฒนาการของพรรคการเมืองไทย ยังอยู่ใน “วังวน” หวังพึ่งตัวบุคคลที่เป็น “อดีตส.ส.” ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่า เกรดเอ บี ซี เพื่อให้ได้ “ที่นั่ง” มากที่สุดในสภาฯ อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองไหน จะมี “จุดดึงดูด” ส.ส. มากกว่ากัน หรือที่เรียกว่า “พลังดูด” นั่นเอง  

จึงไม่แปลก ที่ทำให้ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มี “พลังดูด” สูงอยู่ในเวลานี้ กลายเป็น “พรรคใหญ่” ขึ้นมา “ชั่วข้ามคืน” หลังจากมีอดีตส.ส.ไหลเข้าพรรคเกือบ 40 คน เมื่อไม่นานมานี้ ไม่นับที่ “ดูด” เอา “ส.ส.งูเห่า” จากหลายพรรคเอาไว้จำนวนหนึ่งแล้ว นับเป็น “ปรากฏการณ์” ที่เห็นได้ชัดที่สุดว่า ตัวบุคคลยังมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “กระแสพรรค” หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้ากระแสไม่แรงพอ  

ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นประเด็นว่า “ทำไม?”พรรคการเมือง ไม่กล้าประกาศจับขั้วทางการเมือง จัดตั้งรัฐบาลล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งอย่างเชื่อมั่น ดีกว่าให้มาร้อง “ยี้” ในภายหลัง หลังจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล

ถ้าสังเกตให้ดี มีผู้เสนออย่างน้อย “สองขั้ว” ให้พรรคการเมืองรับไปพิจารณา หลังก่อนหน้า ทั้ง “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ จากภูมิใจไทย และ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาส่งสัญญาณไม่แบ่งสี ไม่เลือกขั้วเลือกข้าง จับมือได้หมดกับทุกพรรค

อย่าง กรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงพรรคก้าวไกลจะร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคเพื่อไทย ได้หรือไม่? ว่า

ขึ้นอยู่ที่พรรคอันดับ 1 หรือพรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจ พอคุณเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องพิจารณาว่า ใครมาร่วมกับคุณ แต่ส่วนตัวผม ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย จะเอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพราะถ้าให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ขบวนใหญ่ที่ซัดกับระบอบรัฐประหารจะเสียหายเยอะ เพราะถ้าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็ต้องค้าน ไม่งั้นเป็นมวยล้มต้มคนดู งวดหน้าคะแนนน้อยกว่าเดิมอีก สภาพการณ์จะเกิดอะไรขึ้น ขนาดวันนี้ผู้สนับสนุน 2 พรรค ยังทะเลาะกันหนักมาก ถ้าอยู่คนละซีกจะยิ่งกว่านี้ และสภาพการณ์สู้กับระบอบรัฐประหาร คสช. จะเสียหายเยอะ

อีกข้อถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทยจะนำพรรคก้าวไกลไปร่วม คือ ถ้าคุณต้องการควบคุมการเจริญเติบโตของพรรคก้าวไกล คุณต้องเอามาไว้ใกล้ตัว นี่ผมคิดแทนเขา ถ้าคุณปล่อยให้เขาไปวิ่งข้างนอก เขามีเวลาของเขา เดี๋ยวเขาก็รอการเลือกตั้งครั้งถัดไปเรื่อยๆ เขาจะโตกว่านี้อีก...

ส่วนประเด็น กองเชียร์พรรคเพื่อไทย กับกองเชียร์พรรคก้าวไกลทะเลาะกัน จะส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น

“ปิยบุตร” เห็นว่า ความขัดแย้ง เรื่องปกติของผู้สนับสนุน ผมเข้าใจว่า ผู้สนับสนุนและคนที่เชียร์พรรคก้าวไกล หวังว่า วันหนึ่งพรรคก้าวไกลจะก้าวขึ้นมาเป็นพรรคขนาดใหญ่และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก็คิดอยู่เสมอว่าจะต้องเป็นพรรคอันดับหนึ่งและเป็นแชมเปียน ดังนั้น จึงต้องเป็นแกนนำรัฐบาลอีกต่อไปเช่นกัน เมื่อผู้สนับสนุนพรรคคิดแบบนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะขัดแย้งกัน ทั้งนี้จะนำสิ่งที่อยู่ในโซเชียลกับในทวิตเตอร์มาประเมินว่า นี่เป็นทั้งหมดไม่ได้

ยกตัวอย่าง เมื่อไปเดินถนนหาเสียง อาจจะไม่ขัดแย้งอะไรกันเลยก็ได้ แต่เมื่อเป็นโซเชียลมีเดีย จะถูกตีฟูขึ้นเรื่อยๆ อีกข้อหนึ่งในส่วนของแกนนำพรรค ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะพูดคุยกันได้ ไม่ได้ทะเลาะอะไรกันถึงขนาดที่จะทำงานร่วมกันไม่ได้

กระนั้น ข้อเสนอ “ปิยบุตร” ก็ถูกตั้งคำถาม โดย นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ม.ธรรมศาสตร์ และผู้ต้องหา ม.112 ลี้ภัยในฝรั่งเศส 

“แปลก ปิยบุตร ให้สัมภาษณ์ว่า อยากเห็นเพื่อไทย ร่วมมือกับก้าวไกล ในการจัดตั้งรัฐบาล

ก็ถ้าก้าวไกลยังคงรักษานโยบายที่ให้แก้มาตรา 112 จะร่วมมือกับเพื่อไทยอย่างไร?” จากเพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul (2 ม.ค.66)

ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายปิยบุตร ระบุ หากพรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลโดยรวมกับพรรคการเมืองอื่น แล้วทิ้งพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านจะไม่เป็นผลดี ว่า

ตอนนี้พรรคเพื่อไทย กำลังทำหน้าที่แต่ละเขตอย่างเต็มที่เต็มความสามารถเพื่อที่จะแลนด์สไลด์ หลังการเลือกตั้งค่อยว่ากันอีกครั้ง เราอยู่ฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันมันคุยกันง่าย วันนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเสียก่อน เชื่อว่า ฝั่งประชาธิปไตยต้องสู้ไปด้วยกัน

“ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครทิ้งใคร มันอยู่ที่ตัวเลขเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะพูดถึง หากพรรคเพื่อไทยได้แลนด์สไลด์จริงๆ ก็อาจไม่ร่วมกับพรรคการเมืองไหนก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องของอนาคต ฉะนั้น การเลือกตั้งยังไม่เกิดคงไปตัดสินใจอะไรไม่ได้ ฝนยังไม่ตกอย่าเพิ่งกางร่มเลย เดี๋ยวมันจะยุ่ง”

อีกสูตร นอกจาก “ปิยบุตร” จะชงในฝ่าย “ประชาธิปไตย” แล้ว สูตรผสม “ข้ามสายพันธุ์” ก็มีออกมาเช่นกัน กรณี นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุตอนหนึ่งว่า

“...การประกาศจุดยืนของประมุขบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ที่พร้อมจับมือกับพรรคเพื่อไทย เป็นท่าทีที่ชัดเจนว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่ของตายของใครอีกแล้ว!!!!

รูปการก่อเค้า รัฐบาลผสม 3 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ”

ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังเผชิญกับด่านหิน ส.ส. 25 คน(ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสนอแคนดิเดตนายกฯได้) หนักหน่วงมากขึ้นอีก!!!...”

สูตรนี้ สอดคล้องกับ “ดีลพิเศษ” ที่เคยเป็นกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า คนแดนไกล “ดีล” กับผู้มากบารมีแห่งบ้านป่ารอยต่อ แล้วก็ตามมาด้วยเหตุ “สภาล่ม” จนทำให้การพิจารณากฎหมายเลือกตั้งสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 500 หาร ไม่เสร็จตามกำหนด จึงต้องกลับไปใช้สูตร 100 หาร ซึ่งถือว่า เข้าทางพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ที่จะได้ทั้งส.ส.เขต และส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นการเปิดทางให้หรือไม่

แต่แล้ว พรรคเพื่อไทย ก็ออกแถลงการณ์ทันควัน (4 ม.ค.66) โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสื่อต่างๆ รวมทั้งมีการวิเคราะห์การเมืองว่า พรรคเพื่อไทยได้จับมือกับพรรคการเมืองบางพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งแล้วนั้น

พรรคเพื่อไทยเคารพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ขอปฏิเสธกระแสข่าวเรื่องการจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองต่างๆ ดังกล่าว ว่าไม่เป็นความจริง

การวิเคราะห์ของบางสื่ออาจทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่พรรคเห็นว่า มีการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอของบางฝ่าย เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของพรรค สร้างความสับสนและเบี่ยงเบนกระแสเดินหน้าสู่ชัยชนะแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงดังนี้

1.พรรคเพื่อไทยตระหนักว่า ภารกิจอันสำคัญยิ่งของรัฐบาลหน้าคือ การแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเดินหน้ารณรงค์การเลือกตั้งสู่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น

รวมทั้งการชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ได้ ส.ส. ตั้งแต่ 251 คนขึ้นไปจะเพิ่มโอกาสเอาชนะการโหวตของ ส.ว.ในการเห็นชอบตัวนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รัฐบาลตามเจตจำนงของประชาชนที่แท้จริง และเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

2.พรรคเพื่อไทยตระหนักดีว่า หลักการประชาธิปไตยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเคารพเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง พรรคเห็นว่า การจับมือกันของพรรคการเมืองเพื่อตั้งรัฐบาลก่อนที่จะทราบผลเลือกตั้งนั้น ไม่เหมาะสม และเป็นการไม่เคารพหลักการข้างต้น ซึ่งพรรคจะไม่ทำเช่นนั้น นอกจากนั้นหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการตั้งรัฐบาลคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ต้องยึดมั่นเป็นหลักในการตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

3.พรรคเพื่อไทย ขอยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งว่า พรรคไม่ได้จับมือกับพรรคการเมืองใดในการตั้งรัฐบาลตามที่เป็นข่าว และไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรก็ตาม พรรคขอกราบเรียนพี่น้องประชาชนว่า นี่คือท่าทีและจุดยืนอันมั่นคงของพรรคมิเคยเปลี่ยนแปลง...

คำถามก็คือ พรรคเพื่อไทย กลัวอะไรหากประกาศจัดตั้งรัฐบาลล่วงหน้ากับบางพรรค หรือ กับขั้วตรงข้าม ถ้าหากมั่นใจว่า กระแสพรรคมาแรง ประชาชนนิยม อุดมการณ์พรรคแน่วแน่ และนโยบายพรรคเข้าตาประชาชน

คำตอบก็คือ การเมืองที่เป็นอยู่ อาจ “ตีกิน” ได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือ มีคนจำนวนหนึ่ง “เบื่อประยุทธ์” แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน ว่ามีมากน้อยแค่ไหน นอกจากผลสำรวจความคิดเห็นของโพลล์บางสำนักเท่านั้น ที่ยกให้เพื่อไทยมาเป็นอันดับ 1 หรือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอยู่ในช่วง “ขาลง”

ดังนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยหวังได้แน่นอน ก็คือ มีคนจำนวนหนึ่ง หันมาเลือกพรรคเพื่อไทย เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กระแสจะ “สวิง” อย่างหน้ามือ เป็นหลังมือ

เพราะพลันที่ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน และถือเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ประกาศนโยบายหลักของพรรค ที่จะผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ) พรรคเพื่อไทย ก็ไปไม่เป็นทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เชื่อมั่นสูงว่า การจับขั้วรัฐบาล “เพื่อไทย-ก้าวไกล” คือ “ดีล” ในฝันของการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย

เพราะพรรคเพื่อไทย ก็รู้อย่างที่ “คนไทยส่วนใหญ่” รู้ว่า นโยบายพรรคก้าวไกล สวนกระแสความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะประชาชนฐานรากในต่างจังหวัด ที่เป็น “ฐานเสียง” พรรคเพื่อไทย ดังนั้นการประกาศจับขั้วรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ล่วงหน้า ถือว่า “เสี่ยง” ต่อการเสียคะแนนนิยมอย่างมาก  

เช่นเดียวกัน การยอมรับจับขั้วกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน อย่าง พรรคภูมิใจไทย และพลังประรัฐ แม้ว่า ถ้าเป็นจริง จะเป็นรัฐบาลที่มีความมั่นคงอย่างมาก เนื่องจากเชื่อกันว่า พรรคเพื่อไทย อาจได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ พรรคภูมิใจไทย นั่นเอง

รวมถึง ถ้าได้ “พรรคพลังประชารัฐ” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าร่วม ก็เท่ากับ ได้ส.ว.จำนวนมากช่วยโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ด้วย ซึ่ง มีการวิเคราะห์กันว่า ส.ว.สายตรง “บิ๊กป้อม” มีมากถึง 100 คนทีเดียว

ทุกอย่างดูเหมือนราบรื่นไปหมด ติดอยู่ก็แต่ “ใคร” จะเป็น “นายกฯ” เท่านั้น “บิ๊กป้อม” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ซึ่งถ้ายอมกันได้ ผลประโยชน์ลงตัว อะไรก็เกิดขึ้นได้?

แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องแลกก็คือ การ “เสียแนวร่วม” ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าพรรคการเมือง หรือ ประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง “ขั้ว” รัฐบาล รวมทั้งพรรคเพื่อไทย จะถูกโจมตีว่า เห็นแก่ “ผลประโยชน์ทางการเมือง” การได้มาซึ่งอำนาจมากกว่าอุดมการณ์และจุดยืน “ประชาธิปไตย” ?

ยิ่งถ้าประกาศ “จับขั้วล่วงหน้า” หรือ แค่มีกระแส “จับขั้วรัฐบาล” เอาไว้แล้วก่อนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะจับขั้วกับพรรคก้าวไกล หรือ จับขั้วกับ ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ ความคาดหวังที่จะชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” ก็จะยิ่งยากขึ้น

อย่าลืม ถ้ามองจากตอนนี้ไปจนถึงเลือกตั้ง หากกระแสพรรคเพื่อไทยไม่พุ่งสูงเหมือนช่วงรัฐบาล “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” โอกาสชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ได้เกิน 251 ที่นั่ง แทบเป็นไปไม่ได้?

เพราะต้องยอมรับว่า “อดีตส.ส.” ในเวลานี้ กระจัดกระจายไปอยู่กับหลายพรรคการเมือง ทั้งภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ ไทยสร้างไทย สร้างอนาคตไทย รวมถึง “บ้านใหญ่” ก็ไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียวแล้ว นั่นเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทย ถูกแย่งที่นั่งที่คาดหวังได้ไปมากพอสมควร

การชิง “สยบ” กระแสจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลล่วงหน้า ของพรรคเพื่อไทย ก็เพราะกลัวประชาชน “ยี้” ตั้งแต่ยังไม่ได้เลือกตั้ง และกระแสที่กำลังมาแรง ก็จะ “จมดิ่ง” ลงทันที

และไม่ว่าเสนอใครเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ก็คงไม่แปลก และน่าตื่นเต้นแต่อย่างใดแล้ว?