จับตา “ตาอยู่” ธนาธิปไตย กลับสู่วังวน “วงจรอุบาทว์”

จับตา “ตาอยู่” ธนาธิปไตย กลับสู่วังวน “วงจรอุบาทว์”

ดูเหมือนภาพใหญ่การเมืองไทย เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับ ฝ่ายอำนาจ-อนุรักษ์นิยม โดยฝ่ายหลัง ยังพยายามที่จะยึดครองอำนาจรัฐสืบเนื่องจาก 8 ปีที่ผ่านมา และฝ่ายประชาธิปไตย ก็เริ่มปักธงสู้อย่างท้าทาย

แต่พอปอกเปลือก จนเห็นเนื้อแท้ กลับกลายเป็นว่า พลังขับเคลื่อนทั้งหมด ยังอยู่ในมือ“ส.ส.แบบเก่า” ที่มาจากบ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง กลุ่มการเมือง มุ้งการเมือง เป็นส่วนใหญ่ 

ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายอำนาจ-อนุรักษ์นิยม”

ดังนั้น สิ่งที่น่าจับตามองนับแต่วันนี้ ถึงการเลือกตั้งทั่วไปส.ส.สมัยหน้า ช่วงต้นปี 2566 ก็คือ “ส่วนผสม” ของรัฐบาลที่ได้เข้ามากุมอำนาจรัฐ จะหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ประชาชนตั้งใจเลือกเข้ามาหรือไม่

ความจริง ถ้าจะว่าไปแล้ว “ฝ่ายประชาธิปไตย” เอง ก็มีปัญหาขัดแย้งกับ “บริบท” ของ“สังคมไทย” อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะแนวคิด “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ ยังคงมีความจงรักภักดี โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า ที่ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี อย่างเหนียวแน่น ขณะที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต้องการ “ทลาย” หลายอย่าง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง

ทำให้การต่อสู้ไม่ง่าย และแนวร่วมส่วนใหญ่ ยังไม่กล้าที่จะแสดงตนเป็น “ปฏิปักษ์” อย่างชัดเจน ทั้งยังมีคำถามต่อการต่อสู้ของ “คนบางกลุ่ม” ที่ดูเหมือน “เสรีนิยมสุดโต่ง” จนเกินไป?

ที่สำคัญ การจุดประกายของฝ่ายประชาธิปไตย เริ่มมาจากข้อเสนอ 2 ประเด็นคือ 1. การเกิดขึ้นของนิติราษฎร์ 2. การช่วงชิงความหมายว่าด้วยประชาธิปไตย

 

 

 

1.นิติราษฎร์ เกิดขึ้นเพื่อคัดค้านการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐของคณะรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งที่มุ่งกำจัดฝ่ายประชาธิปไตยออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง

2. การช่วงชิงนิยามความหมายว่าด้วยประชาธิปไตย โดยยืนยันว่า รัฐธรรมนูญต้องมาจากอำนาจของประชาชนและมีสาระสำคัญเพื่อการปฏิรูปสถาบันหลักทางการเมือง คือสถาบันกษัตริย์ สถาบันตุลาการ และกองทัพ โดยให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ, ให้สถาบันตุลาการยึดโยงกับอำนาจของประชาชน, และเพื่อป้องกันการรัฐประหาร ตามลำดับ

ข้อเสนอดังกล่าวเปรียบ “ปีศาจ” ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชนชั้นนำอนุรักษนิยม และ“หลอกหลอน” พวกเขายิ่งขึ้น เมื่อพรรคอนาคตใหม่ผลักดันความคิดนี้ผ่านการเสนอร่างกฎหมาย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าความคิดนี้จะถูกสกัดกั้นด้วยการประทุษร้ายแกนนำนิติราษฎร์ หรือใช้มาตรการทางกฎหมายในหลายรูปแบบกระทั่งนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่พวกเขา ยังคงยืนยันบทบาททางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นต่อไป ภายใต้ชื่อพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า

ดังนั้น การขับเคลื่อนความคิดของนิติราษฎร์ โดยพรรคอนาคตใหม่ จึงเป็นการก่อรูปอย่างมีพลังอีกครั้งหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตย นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 เป็นต้นมา (บางส่วนจาก บทคัดย่อ “การเมืองแห่งความหวัง ความคิด“ปีศาจ” เนติบริกร นิติราษฎร์ ปัญญาชน” โดย กมลวรรณ ชื่นชูใจ /ธ.ค. 21, 2020)

ขณะที่ “ฝ่ายอำนาจ-อนุรักษ์นิยม” จุด “โฟกัส” อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกรทรวงกลาโหม ซึ่งถูกมองว่า เป็น “ตัวแทน” ชนชันนำ

 

สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 23 และเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จากนั้นได้รับราชการในสังกัดกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ตามลำดับ นอกจากนั้นยังอยู่ในกลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนตุลาคม2553 ถึงตุลาคม 2557 หลังการแต่งตั้ง เขามีลักษณะนิยมเจ้าอย่างเข้มข้น และเป็น“ปรปักษ์” ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

ว่ากันว่า เขาคือ “สายแข็ง” (hardliner) ในกองทัพ เป็นผู้สนับสนุนแนวหน้าของการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2552 และช่วงเมษายน–พฤษภาคม2553 ต่อมาเขามุ่งวางตนเป็นกลาง โดยพูดคุยกับญาติผู้ประท้วงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ และร่วมมือกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554

ระหว่างวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2556 พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่ากองทัพเป็นกลาง และจะไม่รัฐประหาร ทว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เขาก็ทำรัฐประหาร ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ “กปปส.”เคยหลุดคำพูดว่า ตนกับประยุทธ์วางแผนโค่น “ทักษิณ” ด้วยกันตั้งแต่ปี 2553(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

ที่สำคัญ สถานการณ์ก่อนการรัฐประหาร ถือว่า เข้าทางพล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. เนื่องจากการชุมนุนประท้วง ของ “กปปส.” ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำ มาจุดที่เป็น“ทางตัน” เพราะ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ไม่ยอมลงจากอำนาจ ขณะเดียวกัน ม็อบเสื้อแดง ก็พร้อมจัดม็อบชนม็อบ รวมทั้งการนำทุกฝ่ายมาตกลงกัน ก็ไม่สามารถตกลงกันได้เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับ “เงื่อนไข” ของกันและกัน สุดท้าย พล.อ.ปรยุทธ์ จึงตัดสินใจรัฐประหาร

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การทำ “รัฐประหาร” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เสียงเชียร์ มากกว่าการต่อต้าน โดยเฉพาะจากชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุน “กปปส.”นั่นเอง

จนกล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. คือ “ความหวัง”ที่จะแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง “ปฏิรูปประเทศ” และ “คืนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” มาให้กับคนไทย ตามที่ให้สัญญาไว้

แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงทางการเมือง ที่ไม่ง่ายเหมือนการรัฐประหาร รวมทั้ง 8 ปีที่อยู่ในอำนาจ มีปัญหาแทรกซ้อนมากมาย ทั้งการชุมนุมประท้วงของ “ม็อบ 3 นิ้ว” ปัญหาปากท้องประชาชน “ค่าครองชีพ” รายได้ไม่พอรายจ่ายเกิดโรคระบาด โควิด-19คนตกงาน เนื่องจาก “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของกระแส “เบื่อประยุทธ์” และ “ขับไล่ประยุทธ์” ตามการประท้วงเรียกร้องของม็อบ 3 นิ้ว ที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ การขับเคลื่อนทางการเมืองของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ภายใต้การชี้นำทางความคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” อันประกอบด้วยนักวิชาการด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ มาถึง “อดีตพรรคอนาคตใหม่” ของ นายธนาธร จึงรุงเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค พรรคก้าวไกล ซึ่งมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค และคณะก้าวหน้า ที่มี “ธนาธร” และ “ปิยบุตร” เป็น ประธาน และ เลขาธิการ

นอกจากนี้ หลังจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สานต่อจาก“แฟลชม็อบ” ที่ นายธนาธร เป็นผู้ริเริ่ม ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีเครือข่ายไปตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จนเวลานี้มีหลากหลายกลุ่มและหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของการเคลื่อนไหว ภายใต้สัญลักษณ์ “3 นิ้ว”

ถือว่า มีการปรับ “กลยุทธ์” มากขึ้น และลดเพดานลงมาอยู่ในจุดที่หาแนวร่วมได้ง่ายขึ้นทั้งประชาชนทั่วไปและในรัฐสภา กล่าวคือ กรณีเรียกร้อง ยกเลิก ป.อาญา ม. 112 (ว่าด้วยเรื่องหมิ่นประมาทสถาบันฯ) ก็เหลือเพียง เสนอแก้ไขเท่านั้น

เห็นได้ชัด จากกรณีที่พรรคก้าวไกล ประกาศนโยบายชุด การเมืองก้าวหน้า ที่หนึ่งในนั้น คือ การแก้ไข “ม.112” ซึ่งสาระสำคัญ อยู่ที่ การลดโทษ และระบุใครคือ ผู้แจ้งความดำเนินคดี

นั่นหมายถึง เป็นการประกาศ “ต่อสู้” ทางการเมืองกับฝ่ายอำนาจ-อนุรักษ์นิยม อย่างชัดแจ้ง และท้าทายอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของคนไทย

แต่ที่น่าคิดไปกว่านั้น กรณี รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ บทวิเคราะห์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก(25 พ.ย.65) เรื่อง“หายนะของการคบเด็กสร้างบ้าน กับ นักการเมืองในระบบธนาธิปไตย(Money Politics) ที่เป็น “ตาอยู่” ตัวจริง” ที่ว่า

...อนาคตของประเทศไทยและเส้นทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยก็เกือบตกอยู่ในกำมือของธนาธรและปิยบุตรไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน ถ้าพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบพรรค(เพราะพลาดเองในเรื่องข้อกฎหมาย) หลังจากที่เพิ่งได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นเอง

พวกแกนนำเยาวชนปลดแอก(สามนิ้ว) อยู่ในกำมือทางความคิดของธนาธรและปิยบุตรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

การลุกฮือของขบวนการม็อบเยาวชนปลดแอกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ที่ชูการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะว่าไปแล้วก็น่าจะอยู่ในแผนการของธนาธรตั้งแต่แรกเช่นกันคือแผนการลงไปสู้บนท้องถนน เพราะธนาธรเป็นคนหลุดคำพูดนี้ออกมาเองในช่วงต้นปี 2563

ผ่านไปแค่ปีเศษ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ว่า “ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ” ของแกนนำม็อบเยาวชนปลดแอก(สามนิ้ว) ที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 นั้น เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ต้องถือว่า เป็นจุดจบอย่างเป็นทางการของขบวนการสามนิ้ว(ขบวนการล้มล้างสถาบันฯ)ในประเทศไทย

แต่ปัจจัยที่ชี้ขาดจริงๆคือความจริงที่ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่เอาด้วยกับพวกสามนิ้วที่ชูเรื่องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์นั่นเอง...

แต่อนิจจา อนาคตประเทศไทยและเส้นทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยต่อจากนี้กลับตกอยู่ในกำมือของพวก “ตาอยู่” ตัวจริง หรือพวกนักการเมืองในระบบธนาธิปไตย(Money Politics) อย่างค่อนข้างแน่นอนแล้ว

การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องวิธีการเลือกตั้งที่เปลี่ยนจากบัตรใบเดียวกลับไปสู่บัตรสองใบคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข นั่นคือการเลือกตั้งจากบัตร 1 ใบ ไปเป็นบัตร 2 ใบ ตามมาด้วยการลดจำนวนคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จาก 500 เหลือ 100

สิ่งที่จะเกิดตามมาในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ปี 2566 ก่อนกลางปีหน้าคือ

1. ต่อไปจะเหลือพรรคการเมืองใหญ่แค่ไม่กี่พรรค การใช้เงินซื้อเสียงจะหนักมาก การเป็นส.ส.จะมีค่าตัวสูง และจะมีการทุ่มใช้เงินจำนวนมากล่อใจ ส.ส.ให้มาอยู่ด้วย (ล่าสุดได้ยินมาว่าค่าตัวสูงขึ้นถึงรายละ 80 ล้านบาทแล้ว)

นี่คือต้นแบบของการเมืองแบบธนาธิปไตย ที่เงินเป็นใหญ่สุดในการเข้าสู่อำนาจรัฐ

2. โอกาสสูงมากที่ได้ส.ส.หน้าเก่าที่มาจากระบบสืบทอดตามวงศ์ตระกูล โดยที่พวกส.ส.หน้าเก่าประจำจังหวัดจะกลับมา

ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าส.ส.หน้าเก่าพวกนี้จะเข้ามาไม่น้อยกว่า 70% เพราะโครงข่ายหัวคะแนนที่เลือกตัวส.ส.จะทำงานได้ผล และเป็นปัจจัยชี้ขาดในการชนะเลือกตั้งส.ส.เขต

3. ระบบมุ้งการเมืองที่แต่ละมุ้งดูแลส.ส.ในสังกัดจะกลับมา มีอำนาจต่อรองสูง สามารถต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้หลังจากห่างซาไปนาน จะได้เห็นปรากฏการณ์มุ้งต่างๆย้ายพรรคได้ถ้าไม่พอใจเรื่องตำแหน่ง

4. ระบบการทุจริตจะหนักขึ้น เพราะต้องให้รัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้ามุ้งหาเงิน เพื่อไปดูแลส.ส.ในสังกัด ชนิดแบ่งกันกิน แบ่งกันโกง อำนาจต่อรองของนายกรัฐมนตรีจะลดลงมาก แต่ถ้านายกรัฐมนตรียอมให้แบ่งกันโกงได้ นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจมากขึ้น

5. เมื่อการเมืองแบบธนาธิปไตยกลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง อำนาจต่อรองของประชาชนจะลดลงไปมาก เพราะระบบการลงคะแนนได้เปลี่ยนจากทุกคะแนนเสียงมีความหมายเปลี่ยนมาสู่คะแนนของผู้ชนะเท่านั้น โดยที่คะแนนผู้แพ้ถูกตีตกทิ้งน้ำ

6. ภายใต้การเมืองแบบธนาธิปไตยเช่นนี้นายทุนสามานย์ นายทุนผูกขาด และนายทุนสัมปทานย่อมพร้อมที่จะลงทุนทางการเมืองอย่างเต็มที่ เพราะได้เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แน่นอน การทุจริตเชิงนโยบายจะเบ่งบานขึ้น

7. สุดท้ายการเมืองไทยจะวนเวียนกลับไปสู่อดีตเป็นวงจรอุบาทว์...

สุดท้ายแล้ว กลุ่ม 3 ป.ที่เคยฉวยโอกาสทำการรัฐประหารในปี 2557 ขึ้นมาเป็นใหญ่ปกครองประเทศไทยยาวนานถึงแปดปี ก็ต้องยอมสยบให้พวกนักการเมืองในระบบธนาธิปไตย (Money Politics) อยู่ดี

ถึงแม้ลุงตู่จะได้กลับมาเป็นนายกฯอีกสองปีในการเลือกตั้งใหญ่ข้างหน้า แต่ “ตาอยู่” ตัวจริง คือพวกนักการเมืองในระบอบธนาธิปไตยต่างหาก...

ประเด็น ของ รศ.ดร.สุวินัย ก็คือ การ “มองข้าม” พรรคก้าวไกล ที่เป็น “ตัวแทน” ของ“ฝ่ายประชาธิปไตย” และ “ปฏิรูปสถาบันฯ” ที่มีรากเหง้ามาจาก อดีตพรรคอนาคตใหม่และคณะก้าวหน้า เรียบร้อย เพราะเชื่อว่าคนไทยไม่เอาด้วย

จึงเหลือเพียง การแปลงร่างเป็นนักการเมืองอาชีพของ ฝ่ายอำนาจ-อนุรักษ์นิยม หรือ“3 ป.” จะลงตัวอย่างไร แยกกันเดิน หรือ ร่วมหัวจมท้ายจนถึงที่สุด?

ทั้งยังต้องจับตามองว่า ส.ว. 250 เสียงที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย (ปีสุดท้าย) จะอยู่ในอาณัติของ “3 ป.” หรือไม่ เป็นตัวตัดสินชี้ขาดว่า ใครจะได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

รวมทั้ง “พรรคเพื่อไทย” ที่นับวัน “พรรคก้าวไกล” และขบวนการ “3 นิ้ว” จะไม่ยอมให้อ้าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ด้วย หลังมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนในการแก้ไข ม.112 ร่วมกับพรรคก้าวไกล

นั่นหมายถึงด้านหนึ่ง โดดเดี่ยว “พรรคก้าวไกล” แต่อีกด้าน “พรรคเพื่อไทย” ก็โดดเดี่ยวตัวเองด้วย ถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ยังคงจับมือกันอย่างเหนียวแน่น และไม่มี “ดีลพิเศษ” เกิดขึ้น ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับ “ทักษิณ”

นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้สูง ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยอมวางมือทางการเมือง หลังจากพรรคก้าวไกล ประกาศนโยบายแก้ ม.112 รวมทั้ง “ทักษิณ” ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างหนัก เพื่อ “ทวงคืนอำนาจ” และทุ่มเททุกอย่าง อย่างเต็มที่และเต็มสรรพกำลัง

“ไฟต์บังคับ” จึงอยู่ที่ “3 ป.” ต้องเป็นรัฐบาลอีกสมัยให้ได้ เพื่อสกัด การเข้าสู่อำนาจของ“ทักษิณ” และแก้ไข ม.112 เพราะไม่แน่ หากพรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” จริง โอกาสจับมือร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ก็มีสูง และไม่แน่ “ส.ว.” ส่วนใหญ่ อาจถูกมติประชาชนกดดัน จนต้องเลือกโหวตฝ่ายประชาธิปไตยก็เป็นได้  

นั่นเท่ากับ ภารกิจของ “3 ป.” ในทาง “ยุทธศาสตร์” ตั้งแต่ต้นจนจบ “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง จะยอมหรือไม่?

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร “ตาอยู่ตัวจริง” ในมุมมองของ “รศ.ดร.สุวินัย” ก็ยังมีบทบาทสูง ในการตัดสินชี้ขาดการเมืองไทย

ใครที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อาจต้อง “ทำใจ” เอาไว้ล่วงหน้าได้เลย กันผิดหวัง?