“สร้างอะไรดี ที่ตึก สตง.”

ตึก สตง. ถล่ม ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้ใช้แรงงานนับร้อยคน และทำให้เสียหายหลายพันล้านบาทเท่านั้น แต่ยังสะท้อนรากลึกของปัญหา ที่ฝังแน่นในสังคมไทยอีกด้วย
จนถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังรวบรวมพยานหลักฐาน และยังไม่มีข้อสรุปว่ามีการทุจริตหรือไม่ โดยใคร และผู้บริหาร สตง. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่
แต่สังคมก็ได้เห็นริ้วรอยบางอย่าง เช่นวิศวกรหลายคนประกาศว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและถูกปลอมลายเซ็น รวมทั้งข้อมูลจากสื่อต่างๆ ก็โน้มน้าวไปในทิศทางนั้น ทำให้คนจำนวนไม่น้อย มีความเชื่อว่าน่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นที่นี่…
ส่วนจะมีการทุจริตจริงหรือไม่นั้น เราต้องรอกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคงใช้เวลาอีกนานแต่ในแง่ของสังคม เรารอไม่ได้เพราะกรณีนี้ได้ปลุกคำถามในเรื่องการทุจริตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว
พื้นที่แห่งนี้ คงจะไม่มีใครกล้ามาสร้างตึก หรืออาคารสูงอีกแล้ว มีผู้เสนอให้สร้างอนุสาวรีย์ แต่ผมคิดว่าถ้าทำให้มากกว่าอนุสาวรีย์คือสร้างเป็นสถานที่ของการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ก็น่าจะเกิดประโยชน์สาธารณะ
ผมเสนอให้สร้างเป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งการทุจริต” ครับ
ฟังชื่อแล้วอาจจะตกใจ แต่ที่เสนอให้สร้างตรงนี้และใช้ชื่อนี้เพราะจะเป็นสัญญลักษณ์ที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่าง “ความล้มเหลวของโครงสร้างอาคาร” กับ “ความล้มเหลวของโครงสร้างธรรมาภิบาล” ในประเทศไทย
บางคนอาจรู้สึกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งการทุจริต เหมือนเอาประเทศไปประจานและทำให้เสียภาพลักษณ์ แต่การที่อันดับความโปร่งใสของไทย ได้ลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงอันดับ 107 แล้ว ก็เป็นที่รับรู้กันทั้งโลกอยู่แล้วมิใช่หรือ?
ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้โซนแรกควรเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม เช่นเริ่มด้วยภาพถ่าย และวิดีโอ ช่วงแผ่นดินไหว ตามด้วยตึก สตง. ถล่ม การช่วยชีวิต คำให้การและบันทึกเหตุการณ์จากทีมกู้ภัย
วัสดุและสิ่งของหลายอย่าง ที่ควรนำมาแสดงในโซนสำคัญนี้เช่น แบบพิมพ์เขียวของอาคาร แบบจำลองอาคาร ภาพถ่ายการวางศิลาฤกษ์ ภาพการก่อสร้างชั้นต่างๆ สเปควัสดุและอุปกรณ์ เป็นต้น
รวมถึงเศษเหล็ก และโครงลิฟท์ ที่ถล่มลงมา ภาพของผู้หนีตายจากเหตุการณ์วันนั้น ของใช้ส่วนตัวของผู้เสียชีวิต และภาพภารกิจของทีมกู้ภัย แม้กระทั่งสุนัข K-9 ที่เข้าร่วมปฏิบัติการ ก็อาจนำภาพหรือรูปปั้นสุนัขเสมือนจริง มาแสดงด้วย
นอกจากโซนแรก ที่นำเสนอเรื่องราวของตึก สตง. แล้ว ควรมีโซนอื่นๆ ที่จัดแสดงการทุจริตกรณีต่างๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ ที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองอย่างมากมาแล้ว
อาทิ โครงการทุจริตที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกบุคคลระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี เป็นต้น
ห้องจัดแสดงเรื่องราวการทุจริตเหล่านี้ ควรนำเสนอด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย มีหลักฐานเชิงประจักษ์ พร้อมบทลงโทษที่ผู้กระทำผิดได้รับ ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่ยอมรับการทุจริต
แต่จะต้องทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย ใช้เทคนิคด้านการออกแบบนิทรรศการสื่อผสม ที่น่าสนใจ ดึงดูดและกระตุ้นให้ผู้ชมมีส่วนร่วม
มีโซนสำหรับเยาวชน ได้มีโอกาสเรียนรู้จากเกมการตัดสินใจทางจริยธรรม หรือมีการนำเสนอเสียงสารภาพผิด ของผู้กระทำความผิด เป็นต้น และอาจมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียน ที่นำเสนอกรณีทุจริตจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการเรียนรู้ใหม่ๆของผู้เข้าชมด้วย
ถ้าทำได้ดีจริงๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะสนใจ และยินดีจ่ายค่าเข้าชมอีกด้วย เพราะเขาได้เห็นตึก สตง. ถล่ม เป็นข่าวทั่วโลกมาแล้ว ก็คล้ายๆกับที่คนทั่วโลกได้เห็นตึก World Trade ถล่ม แล้วเข้าคิวแวะไปชมพิพิธภัณฑ์ 9/11 ที่นิวยอร์ค หนาแน่นทุกวันนั่นแหละ
การสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งการทุจริต มีบางประเทศเริ่มทำอยู่บ้าง เช่นที่อินโดนีเซีย ทำในเชิงเสียดสีและสะท้อนปัญหาคอรัปชั่น นำเสนอโดยศิลปินในรูปแบบศิลปะร่วมสมัย แต่ก็เป็นแบบออนไลน์
อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือMuseum of Political Corruption ที่ Albany รัฐ New Yorkซึ่งนำเสนอในลักษณะเสียดสี ผสมกับข้อมูลวิชาการในแบบออนไลน์เช่นกัน
“องค์กรโปร่งใสนานาชาติ” หรือ Transparency International ที่จัดอันดับความโปร่งใสทั่วโลก และเป็นที่รู้จักกันดี ก็มีพิพิธภัณฑ์ออนไลน์แบบนี้
แต่ที่ผมเสนอ จะเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีตัวตนจริง” ซึ่งจะต้องมีทุนทรัพย์ก่อสร้าง และได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายเช่นป.ป.ช. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (เจ้าของพื้นที่) และ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เห็นพ้องในเจตนารมณ์และประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้น
ความท้าทายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ทำอย่างไรเมื่อผู้ชมเข้ามาชมเสร็จแล้วต้องไม่ใช่เพียงเดินออกไป แล้วทุกอย่างก็จบลงเพียงนั้น แต่จะต้องทำให้เกิดการกระตุ้นความคิด การตั้งคำถาม การแสวงหาคำตอบ และเกิดความตระหนักทางศีลธรรม ติดตัวกลับไปด้วย
ขอย้ำว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะไม่เป็นเพียงที่เก็บอดีตเท่านั้น แต่ต้องเป็นสถานที่ที่จะหล่อหลอมอนาคตด้วย
เราต้อง เปลี่ยนตึกที่พัง ให้เป็นแสงสว่างของสังคม เพื่อนำประเทศไทยห่างไกลจากการทุจริต…เสียที!
ถ้าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สามารถกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถาม และเรียนรู้บทเรียนจากอดีต ปลูกฝังความกลัวต่อการกระทำผิด และสร้างจิตสำนึกของคนรุ่นต่อไปได้…..
นั่นจะเป็นการรำลึกถึงผู้สูญเสีย… ที่ทรงคุณค่าที่สุดแล้วครับ