‘Rupert Mann’ มองสตรีทอาร์ตไทย ด้วยสายตาคนนอก

‘Rupert Mann’ มองสตรีทอาร์ตไทย ด้วยสายตาคนนอก

ภาพสีสเปรย์ที่ถูกมือดีมาพ่นไว้บนกำแพง ถ้อยคำที่ใครก็ไม่รู้มารำพึงรำพันเรื่องการเมืองบนผนังตึก บางคนอาจมองเป็นความสกปรก แต่สำหรับ รูเพิร์ต มานน์ (Rupert Mann) ผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกสิ่งปลูกสร้างทางวัฒนธรรมชาวออสเตรเลีย นี่คืองานศิลปะทรงคุณค่าบอกเล่าพัฒนาการของเมือง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีบนเสาโฮปเวลล์ เขาตามค้นหาและพูดคุยกับศิลปินเจ้าของผลงานถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือชื่อ “สตรีทอาร์ตกับกราฟฟิตีในกรุงเทพฯ และ ณ โฮปเวลล์ ความหวังที่หายไป” กรุงเทพธุรกิจสนทนาถึงแรงบันดาลใจในการทำ Photo Essay เล่มนี้

Q: สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะใดๆ เลย ควรอ่านหนังสือเล่มนี้หรือไม่ 

A: ความน่าสนใจของสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีคือ ใครๆ ก็เห็นได้ในทุกที่ ไม่จำเป็นต้องไปอาร์ตแกลเลอรี คุณไม่จำเป็นต้องอ่านหรือซื้อหนังสือเล่มนี้หรอก แค่เดินไปตามถนนคุณก็จะเห็นมันในทุกที่ สตรีทอาร์ตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดบนกำแพง การพ่นชื่อตัวเอง  (tagging) หรือแอบเขียนอะไรบางอย่าง ป้ายการเมือง ของแบบนี้มีอยู่ทั่วไปทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะรู้เรื่องศิลปะหรือไม่ คุณทำอย่างเดียวคือ “ดู” สตรีทอาร์ตเข้าถึงง่าย เสพง่าย พบได้ทุกที่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้วิเศษวิโส ดูได้เฉพาะชนชั้นนำ 

ศิลปินสตรีทอาร์ตหลายคนบอกว่า ที่พวกเขาทำงานประเภทนี้ก็เพราะไม่อยากเป็นพวกหัวสูง เป็นอีลิต เป็นงานศิลปะในแกลเลอรี แม้ว่าหลายคนเมื่อมีชื่อเสียงแล้วก็มีผลงานแสดงในแกลเลอรี แต่พวกเขายังออกไปเพนท์ อย่างอเล็กซ์ เฟส เขามีการ์ตูนที่ดังมาก จริงๆ เขามีงานอีกชิ้นหนึ่งไม่เป็นที่รู้จัก และเขาก็ไปพ่นแบบลับๆ ตามใต้สะพานตามตึกเก่าเอาสนุก  

Q: บางคนมองว่าสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีสกปรก ไร้อารยะ 

A: ใช่ครับ มันคือส่วนหนึี่งของสภาพแวดล้อม ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เพราะรากฐานสำคัญของสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีคือการแหกกฎ คุณไปที่ตึกของคนอื่นแล้วไปพ่นสีกำแพงเขา พ่นสีหน้าต่าง พ่นอะไรก็ได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงมองเหมือนเป็นอาชญากร เป็นสิ่งที่ต้องแอบ ต้องทำความสะอาด  แต่สำหรับผม ผมรักสัญลักษณ์สกปรกเหล่านี้ เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่สะอาดมาก ขึ้นอยู่กับว่าคุณไปที่ไหน อย่างที่นี่ (ริเวอร์ซิตี้) หรือคุณไปแถวสุขุมวิท ไปห้าง ไปรอบพระบรมมหาราชวัง ทุกอย่างสะอาดและถูกควบคุม สำหรับผมมันอึดอัดมากๆ 

ผมอยากเห็นการแหกคอก ผมอยากเห็นอำนาจถูกท้าทาย อะไรที่ผิดกฎหมาย แหกกฎ ผมรู้สึกสบายใจ เวลาเข้าเมืองแล้วเจอที่สะอาดมากๆ ผมรู้สึกเหมือนถูกควบคุม อึดอัด แต่เมื่อเห็นสตรีทอาร์ตรู้สึกเลยว่าที่นี่มีผู้คนจริงๆ อยู่ คนที่กล้าแหกกฎ พูดในสิ่งที่อยากพูด เป็นการเตือนใจคนว่า รัฐบาลควบคุมทุกอย่างไม่ได้หรอก ธุรกิจซื้อทุกอย่างไม่ได้ 

Q: เมื่อคุณพูดถึงรัฐบาลและการท้าทายรัฐบาล ในสิงคโปร์รัฐบาลสนับสนุนให้ศิลปินวาดภาพบนกำแพง ชุมชนนั้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว คุณมองเรื่องนี้อย่างไร 

A: ดีนะครับ เป็นเรื่องดีที่ส่งเสริมให้ศิลปินสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีทำงานในที่สาธารณะ สร้างสีสันสดใสให้กับเมือง แต่สำหรับผมสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีที่ผิดกฎหมายน่าสนใจกว่า สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีจะสวยถ้ามีคนบอกว่าอยากให้มาทำที่ร้านของเขา ก็ดีนะครับ ศิลปินก็เลี้ยงตัวเองได้และได้ทำในสิ่งที่ตนรัก แต่สำหรับผมศิลปะจะน่าสนใจก็ต่อเมื่อแหกกฎ อย่างในที่สาธารณะรัฐบาลหรือคนรวยมากๆ คอยควบคุมว่าประชาชนจะเห็นอะไรได้บ้าง แต่ศิลปินสตรีทอาร์ตก็ท้าทายสิ่งนั้น  

ก็ดีทั้งสองอย่างนะครับ แต่ในหนังสือผมสนใจสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีที่ลักลอบทำมากกว่า ไม่ต้องมีนัยทางการเมืองก็ได้ แค่เขียนชื่อคุณลงไปบนกำแพงบ้านเขา  ผมคิดว่าการท้าทายความคิดเรื่องการเป็นเจ้าของนั้นสำคัญ การได้เห็นอะไรที่อยู่บนพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่แค่คนมีเงินควบคุมพื้นที่นั้น คนธรรมดาก็ควรมีพื้นที่ด้วย แค่ปีนขึ้นไปเขียนชื่อตัวเองก็ได้แล้ว 

Q: ต้นกำเนิดของสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีในประเทศไทยมาจากไหน  

A: ต้นกำเนิดมาจากสหรัฐ ในเมืองฟิลาเดลเฟีย นิวยอร์ก บอสตัน ชิคาโกและอื่นๆ  วัยรุ่นเริ่มพ่นตั้งแต่ยุค 60 สีสเปรย์ประดิษฐ์ขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้พ่นอาวุธยุทโธปกรณ์ จากนั้นวัยรุ่นก็นำมาพ่นชื่อตัวเองไปทั่วโดยเฉพาะในนิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็พัฒนาเทคนิคและสไตล์ใหม่ๆ อาร์ตแกเลอรีเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในยุค 70 -80 แล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิพฮอพ แรป ดีเจ เบรกแดนซ์ จากนั้นไปอยู่บนปกอัลบั้ม เสื้อยืด นิตยสารแล้วนิตยสารเหล่านั้นเข้ามาเมืองไทยก่อนจะมีอินเทอร์เน็ต ศิลปินหลายคนในหนังสือเล่าให้ฟังว่าเริ่มเห็นภาพพวกนี้จากนิตยสารราวยุค 90 เช่น นิตยสารสเก็ตบอร์ด เห็นภาพกราฟฟิตีเบลอๆ อยู่ข้างหลังนักสเก็ตบอร์ดก็เลยลอกแบบมาทำที่กรุงเทพฯ 

จริงๆ แล้ววัฒนธรรมกราฟฟิตีของสหรัฐเป็นวัฒนธรรมเด็กแก๊งยกพวกตีกัน ด้วยการไปพ่นทับงานคนอื่น แต่วัฒนธรรมแบบนี้ก็มีในเมืองไทยอยู่แล้วโดยเด็กช่างกล ผมคิดว่าเด็กช่างกลทำงานกราฟฟิตีกลุ่มแรกๆ ของไทย แต่ใช่ว่าเด็กช่างจะโตมาเป็นศิลปินกราฟฟิตี พวกเขาไม่ได้สนใจสไตล์ของกราฟฟิตี ศิลปินเองก็ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเด็กช่างกล ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าในไทยเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมค้นไม่เจอ เด็กช่างกลอาจจะทำมาตั้งแต่ยุค 60 แล้วก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ผมเห็นอย่างน้อยก็ในยุค 90 ที่เหมือนกันคือสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีเริ่มจากวัยรุ่นตีกัน อย่างในกรุงเทพฯ ก็จะฆ่ากันเพื่อโรงเรียน 

Q: อะไรคือความท้าทายใหญ่สุดในการทำหนังสือเล่มนี้ 

A: ผมไม่ใช่คนไทย ไม่เข้าใจการเมือง  ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทยลึกซึ้ง แต่ก็โอเคที่ผมเป็นคนนอก บางครั้งการมองจากมุมมองคนนอกทำให้ผมเห็นสิ่งที่คนไทยมองไม่เห็น  แต่ผมไม่อยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ผมเห็นอย่างเดียว ผมคุยกับศิลปิน หนังสือมาจากงานเขียนของผมครึ่งหนึ่งและการสัมภาษณ์ศิลปินอีกครึ่งหนึ่ง ผมเขียน 1-2 ย่อหน้า จากนั้นเป็นคำพูดของศิลปิน ผมไม่เขียนเกินกว่าที่ศิลปินพูด 

หนึ่งในความท้าทายของผมคือเขียนยังไงให้ซื่อตรงกับมุมมองที่ผมมี แต่ขณะเดียวกันต้องไม่เขียนเกินไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

Q: ในเมื่อคุณเป็นคนนอก คุณกล้ายังไงถึงเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทย

A: ใช่ ผมกล้า ผมไม่ได้พูดภาษาไทย ไม่ได้อยู่เมืองไทยนานๆ วิธีเดียวที่ผมทำคือถ่อมตนให้มาก ปล่อยให้คนที่รู้พูด ถ้าผมเขียนของผมคนเดียวโดยที่ศิลปินไม่มาเกี่ยวข้องด้วย มันคงงี่เง่า หลายคนทำแบบนั้น ไปประเทศอื่นเข้าไปในวัฒนธรรมอื่น ไปดูๆ  คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างแล้วก็เขียนหนังสือ แต่สำหรับผมมันผิดพลาดมาก การเขียนหนังสือเล่มนี้ผมต้องกล้าที่จะทำเพราะผมมองเห็นและพูดในสิ่งที่คนไทยมองไม่เห็นเพราะอยู่ใกล้เกินไป นี่คือความสมดุล 

งานที่ผมเขียนอยากรู้มุมมองของคนอื่นต่อการใช้ชีวิต อย่างงานเล่มแรกผมเขียนเรื่องคนที่อยู่ในคุกผมก็ไม่เคยติดคุก ผมสงสัยว่าพวกเขาอยู่กันยังไงในสถานที่น่าสยดสยองแบบนั้น เล่มนี้ผมก็อยากรู้เรื่องประเทศไทย มันเป็นเรื่องสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีก็จริง แต่เป็นเรื่องของผมที่พยายามเข้าใจประเทศไทย กรุงเทพฯ และการเมืองไทยมากกว่า 

Q: หลังจากเขียนหนังสือจบแล้วคุณค้นพบอะไรบ้างเกี่ยวกับประเทศไทยและกรุงเทพฯ 

A: หลายสิ่งหลายอย่าง เกินจะบรรยาย ซับซ้อนมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน หนังสือพูดถึงหลายประเด็นแตกต่างกัน น่าสนใจมากที่คนต่างกลุ่มไม่ว่าจะเป็นศิลปินสตรีทอาร์ต กราฟฟิตี เด็กช่าง มีมุมมอง มีสไตล์ต่างกัน แต่ก็มีทัศนคติบางอย่างร่วมกัน เช่น ทัศนคติต่อการเมือง ความสำเร็จ ทุกคนพูดเหมือนกันว่า ต้องทำงานหนัก ฝึกให้เยอะ จริงใจกับตัวเองและสิ่งที่จะสื่อสาร 

Q: ในฐานะนักเขียนอะไรคือสไตล์ที่แตกต่างระหว่างศิลปินไทยและผลงานของพวกเขากับศิลปินในประเทศอื่น 

A: ถ้าพูดถึงสไตล์ก็คล้ายคลึงกันมาก กราฟฟิตีและสตรีทอาร์ตเป็นสไตล์ของโลก ที่ออสเตรเลีย ไทย สหรัฐ จีน ยุโรป สไตล์คล้ายกัน แต่ที่น่าสนใจสำหรับไทยคือผลที่ตามมาร้ายแรงและอันตรายกว่าถ้าคุณละเมิดกฎหมาย ละเมิดการเซ็นเซอร์ ในเมืองไทยถ้าคุณพูดบางเรื่อง ถ้าคุณวิจารณ์ผู้นำด้วยสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีคุณโดนแน่ ถ้าคุณทำแบบนั้นกับโจ ไบเดน หรือบอริส จอห์นสัน อาจแค่ถูกปรับเพราะไปพ่นสีใส่กำแพงบ้านคนอื่น สตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีในประเทศเหล่านั้นไม่ได้มีความกล้าและความเสี่ยงทางการเมืองเท่ากับในประเทศไทย 

Q: คุณคาดหวังอะไรจากคนอ่านเมื่อพวกเขาอ่านหนังสือจบ 

A: ไม่คาดหวังอะไรเลย ผมพยายามเลี่ยงการเขียนที่บอกว่า มันต้องเป็นอย่างนั้นนะ มันต้องเป็นอย่างนี้นะ ผมถามคำถามชุดเดียวกันกับศิลปินทุกคน คุณคิดยังไงกับโฮปเวลล์ สตรีทอาร์ตเป็นยังไง การถามคำถามเดียวกันกับคน 20 คนได้คำตอบแตกต่างกัน ผมไม่ได้บอกว่านี่คือคำตอบที่ถูกต้องที่สุด หนังสือก็เลยเต็มไปด้วยคำพูดที่ขัดแย้งกันเองเยอะมาก ผมปล่อยให้ความต่างนี้ดำเนินไป ก็ขึ้นอยู่กับคนอ่านว่าจะเห็นด้วยมั้ย ผมแค่หวังว่าคนอ่านจะสนใจสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีในกรุงเทพฯ มากขึ้น

Q: ในยุคโซเชียลมีเดียทำไมคุณถึงเลือกการเขียนหนังสือเป็นช่องทางสื่อสารกับคนอื่น

A: เป็นคำถามที่ดีครับ ผมเกลียดโซเชียลมีเดีย มันไร้สาระ ทำร้ายสังคม มันเร็ว ไม่ต้องใช้เวลา ขณะที่หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเจ็ดปี การโพสต์บนโซเชียลมีเดียใช้เวลาไม่กี่วินาที คนดูก็ดูแค่ไม่กี่วินาทีแล้วก็ไปดูอย่างอื่น  การเขียนหนังสือเล่มนี้ในฐานะคนนอกผมต้องใช้เวลา อ่านแล้วอ่านอีก คิดเป็นปีๆ คุยกับคนมากมาย เกิดไอเดียนู่นนี่ พอเวลาผ่านไปไอเดียเก่าก็ใช้ไม่ได้แล้ว 

ผมรักหนังสือ หนังสือเป็นวัตถุจับต้องได้ เราพยายามทำหนังสือสวยๆ ที่คนอยากถือ อยากดู ทุกองค์ประกอบของหนังสือ หมึก กระดาษ ดีไซน์ ภาพถ่ายต้องใช้ความพยายามมาก เมื่ออ่านหนังสือคุณต้องใช้เวลากับมัน ไม่ใช่แค่ดูแป๊บๆ เหมือนอินสตาแกรม ต้องค่อยๆ อ่านทีละหน้า ส่วนตัวผมชอบการเล่าเรื่องด้วยภาพยุค 60-70 อย่างไทม์ไลฟ์, เนชันแนลจีโอกราฟฟิก หนังสือหลายเล่มของลาร์รี คลาร์ก แม้แต่ภาพข่าวยุคแรกๆ ของสแตนลีย์ คิวบริก ผมชอบการผสมผสานระหว่างภาพ การสัมภาษณ์ และวารสารศาสตร์ เป็นรูปแบบที่ทรงพลัง แตกต่างจากวีดิโอ ภาพยนตร์ ผมชอบการผสมกันระหว่างภาพกับถ้อยคำ จริงๆ สำนักพิมพ์ก็มีอินสตาแกรมหนังสือเล่มนี้นะ แต่ผมเล่นได้ไม่เกินเดือนก็เลิก ผมปวดหัวมากเลยเหมือนจิตวิญญาณถูกทำลาย 

วัฒนธรรมไม่ได้มีแค่วัดกับวัง

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ประธานกรรมการ บริษัทสำนักพิมพ์ริเวอร์สบุ๊คส์ จำกัด เล่าถึง “สตรีทอาร์ตกับกราฟฟิตีในกรุงเทพฯ และ ณ โฮปเวลล์ ความหวังที่หายไป” ว่า ตอนอยู่ที่ยุโรปเธอก็ชอบดูสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีอยู่แล้ว พอรูเพิร์ตมาแนะนำโครงการจึงเห็นว่าดีมาก  กรุงเทพมีสตรีทอาร์ตมีนักเขียนกราฟฟิตี  

"คนไทยส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมจะเน้นแต่วัดกับวัง จริงๆ แล้วมีอะไรอีกเยอะแยะ ริเวอร์สบุ๊คส์นำเสนอของธรรมดาในแนว 'วัฒนธรรมนิยม' จึงชอบเรื่องนี้ และเราเป็นนักสิ่งแวดล้อม ชอบการที่สตรีทอาร์ตนำเสนอประเด็นร้อนอย่างเรื่องเสือดำ  พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่มากมายโดยบังเอิญ สตรีทอาร์ตมีหลายแง่มุม และเด็กที่ไม่มีทางแสดงออกถึงความรู้สึกกดดันก็สามารถมาวาดได้ ดีมากที่ศิลปินไปวาดบนเสาโฮปเวลล์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินดังหรือไม่ดังก็เป็นความเสมอภาค แม้เราจะอยู่ในบ้านสวยงามแต่ก็ชอบความเสมอภาค เห็นว่าทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน และนี่คือโอกาสแสดงออก"

ริเวอร์สบุ๊คส์จัดพิมพ์หนังสือของรูเพิร์ต มานน์ ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพราะอยากให้คนไทย วัยรุ่นไทยได้รู้ถึงวิวัฒนาการของสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตีและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

“สิ่งที่ชอบมากคือรูเพิร์ตให้ศิลปินสตรีทอาร์ตได้พูดจากปากตัวเอง ไม่ใช่เป็นฝรั่งเข้ามาบอกว่าอย่างนี้ๆ แต่นักเขียนไปคุยกับศิลปิน หนังสือที่ออกมาจึงเป็นความพยายามร่วมกันของหลายๆ คน”