การกระจายการลงทุนอาจให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนเดิม

การวิจัยพบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน กลุ่มหลักทรัพย์ต่างๆกลับมีความสัมพันธ์กับหุ้นทุนสหรัฐมากขึ้น จึงทำให้การกระจายความเสี่ยงมีประสิทธิภาพลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อปีที่แล้วหุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทน 24.09% ค่าความผันผวน 11.16% และมี Sharpe Ratio 1.54 ในขณะที่พอร์ตกระจายการลงทุน ให้ผลตอบแทน 10.05% ค่าความผันผวน 6.71% และมี Sharpe Ratio 0.70
ปลายเดือนเมษายนผ่านมา Morningstar ได้ตีพิมพ์งานวิจัยฉบับหนึ่งชื่อ 2025 Diversification Landscape ซึ่งบอกว่า อนาคตต่อไปข้างหน้า การกระจายประเภทของสินทรัพย์ที่ลงทุน อาจจะได้ผลไม่เหมือนเดิมที่เคยได้ผลดีอีกต่อไป ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจจึงอยากจะนำมาสรุปย่อๆให้ท่านอ่าน ทั้งนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้เรียนรู้การลงทุนและผู้จัดการกองทุน
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา โลกของการลงทุนได้ใช้ทฤษฎีการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนหลายแบบ แต่แบบหนึ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อตราสารหรือสัญญาใดๆ คือการลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อกระจายความเสี่ยง ที่เรียกกันในศัพท์ลงทุนว่า Diversification โดยมีความเชื่อซึ่งได้รับการยืนยันจากข้อมูลในอดีตว่า ราคาสินทรัพย์ทั้งหลายนั้น มีการขึ้นลงไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอ และการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท จะช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งคือความผันผวนของราคา ทำให้ได้พอร์ตการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร แม้จะไม่ดีที่สุด แต่ก็จะไม่ผันผวนเหมือนขึ้นเขาแล้วตกเหว หวาดเสียวแบบการนั่งเครื่องเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ในสวนสนุก
การกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์หลายประเภท ให้ผลดีเพราะ ความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ซึ่งนิยมวัดด้วยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation หรือ SD) ไม่ใช่ผลรวมของความเสี่ยงของหลักทรัพย์ทุกตัว แต่จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของสินทรัพย์กลุ่มนั้นๆเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในพอร์ตด้วย ซึ่งเราเรียกว่า Correlation ถ้าหลักทรัพย์สองกลุ่ม มีราคาขึ้นลงเท่ากันพอดี 100% ค่าความสัมพันธ์จะเท่ากับ 1 แปลว่าติดกันเป็นตังเม เธอขึ้น ฉันขึ้นด้วย เธอลง ฉันลงด้วย และขึ้นลงด้วยอัตราเดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปสินทรัพย์ที่จะมีความสัมพันธ์แบบนั้น คือหลักทรัพย์เดียวกัน หรือกลุ่มหลักทรัพย์เดียวกันเท่านั้น
แต่หากเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกัน เธอขึ้น 1% ฉันลง 1% เธอลง 2% ฉันขึ้น 2% แปลว่าสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามแบบสมบูรณ์ คือไม่สัมพันธ์กันเลย ค่าความสัมพันธ์จะเท่ากับ -1 แต่หากตรงข้ามกันขนาดนี้ เราก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง เพราะหากลงทุนในสัดส่วนที่เท่ากัน กำไรที่ได้มาจากกลุ่มหลักทรัพย์หนึ่ง ก็จะหายไปหมดจากการขาดทุนของหลักทรัพย์อีกหลักทรัพย์หนึ่ง
กลุ่มสินทรัพย์ที่เราอยากเติมเข้ามาในพอร์ต เวลาเราลงทุน จึงเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่อาจมีค่าความสัมพันธ์ตรงกันข้ามบ้าง (แต่ไม่ถึงกับตรงกันข้าม 100%) เพื่อจะทำให้พอร์ตของเราไม่ผันผวนและไม่ขาดทุนมากนัก ในเวลาที่ตลาดเกิดวิกฤติ
การเลือกกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กันมากน้อยจึงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ เช่นถ้าเศรษฐกิจดี เราก็จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่จะมีราคาสูงขึ้น แต่ขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี เราก็จะเลือกสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามบ้าง เพื่อคอยถ่วงไม่ให้มูลค่าพอร์ตของเราลดลงไปเร็ว อย่างนี้เป็นต้น
ที่ผ่านมา ผู้ลงทุนที่ทำการลงทุนแบบจัดพอร์ตในสินทรัพย์หลากชนิด เพื่อกระจายการลงทุน (ลดความเสี่ยง) ก็ได้ผลดีในช่วงระยะแรกๆ คือในช่วง ค.ศ. 1985 ถึง 1997 พอร์ตที่มีการกระจายการลงทุน ในหุ้นมูลค่าตลาดสูง (มาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่)ของสหรัฐ 20% หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว หุ้นตลาดเกิดใหม่ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้หลักของสหรัฐ ตราสารหนี้โลก ตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bonds) อย่างละ 10% หุ้นสหรัฐมาร์เก็ตแคปเล็ก (US Small Cap) โภคภัณฑ์ ทองคำ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) อย่างละ 5% ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6.69% ค่าความผันผวน 9.78% และมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยง วัดด้วย Sharpe Ratio เท่ากับ 0.54 ขณะที่พอร์ตหุ้นสหรัฐล้วน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.38%ต่อปี มีค่าความเสี่ยง 15.41% และมี Sharpe Ratio 0.61
แต่มาในช่วง 20 ปีหลังนี้ สินทรัพย์หลายประเภทที่ทางมอร์นิ่งสตาร์ทำการศึกษาวิจัย ซึ่งรวมถึง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น (Municipal Bonds) พันธบัตรของประเทศต่างในโลก (Global Bonds) พันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยสูง (เพราะอันดับเครดิตไม่ดี หรือไม่มีการจัดอันดับเครดิต) ที่เรียกว่าพันธบัตรไฮยีลด์ (High Yield Bonds) กองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทรีท (REITs) พันธบัตรป้องกันเงินเฟ้อ ต่างก็เคลื่อนไหวไปในทิศทางคล้ายกับหุ้นทุนมากขึ้น และให้ผลตอบแทนเป็นลบในบางช่วง โดยค่าความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นทุนกับตราสารหนี้ไปในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ปี 2021 ทำให้ประโยชน์ของการกระจายการลงทุนลดลง พอร์ตการลงทุนแบบผสมผสาน กระจายความเสี่ยงไปลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภท ให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก และยิ่งคำนวณผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยง ยิ่งแพ้พอร์ตที่ไม่กระจายการลงทุน
การวิจัยพบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน กลุ่มหลักทรัพย์ต่างๆกลับมีความสัมพันธ์กับหุ้นทุนสหรัฐมากขึ้น จึงทำให้การกระจายความเสี่ยงมีประสิทธิภาพลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อปีที่แล้ว (2024) หุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทน 24.09% ค่าความผันผวน 11.16% และมี Sharpe Ratio 1.54 ในขณะที่พอร์ตกระจายการลงทุน ให้ผลตอบแทน 10.05% ค่าความผันผวน 6.71% และมี Sharpe Ratio 0.70 สรุปคือ การกระจายการลงทุนสามารถลดความผันผวนลง แต่ไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนที่ปรับค่าความเสี่ยงดีขึ้น
ดิฉันสรุปเพิ่มเติมจากการสังเกต ซึ่งเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีแล้วว่า การปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ทำให้ช่องว่างระหว่างความได้เปรียบของประเทศที่มีเทคโนโลยี กับประเทศที่ไม่มี หรือไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี มีมากขึ้น ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีประเทศอื่นที่โดดเด่นทางเทคโนโลยีใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นของสหรัฐ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก็จะยังโดดเด่นให้ผลตอบแทนดีกว่ากลุ่มหลักทรัพย์อื่นอีกระยะหนึ่งค่ะ
เสน่ห์ของตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดไทยจางหายไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็เพราะไม่มีกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีที่จะดึงดูดผู้ลงทุน ไม่มีอัตราการเติบโตของกำไรที่สูง 20-30% ดังนั้น ค่าพีอี (ราคาเทียบกับกำไรต่อหุ้น) จึงอยู่ในระดับสิบกว่าเท่า ถ้าจะมีค่าขึ้นไปอยู่ระดับสูงๆ ก็อาจเกิดจากการที่กำไรลดเร็วกว่าราคา
ผู้ลงทุน จึงควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆเหล่านี้ประกอบด้วย ในการพิจารณาจัดพอร์ตการลงทุนค่ะ