ภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ไทยมีโอกาสเจรจา แต่จีนต้องเผชิญหน้าอย่างโดดเดี่ยว

ผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐ ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาผันผวนอย่างรุนแรง และเกิดวิกฤติการขายพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระดับสูงรีบออกมาเตือนทำเนียบขาว ควรชะลอเรื่องนี้ก่อนที่จะล้มทั้งระบบ จึงนำมาสู่การเลื่อนเวลาไป 90 วัน เพื่อให้มีการเจรจากับประเทศคู่ค้าต่างๆและจัดเก็บในอัตรา 10% ต่อทุกประเทศ ยกเว้นเม็กซิโกและแคนาดาที่ 25% และจีนที่ 145%
อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯในการประกาศสงครามภาษีศุลกากรทุกประเทศทั่วโลก
ทีมงานที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกแถลงหลายครั้งว่า อเมริกามีความจำเป็นจะต้องทำเรื่องนี้เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน เนื่องจากขาดดุลการค้ากับทั่วโลก และถูกเอาเปรียบจากทุกประเทศ หากไม่รีบแก้ไขและไม่ใช้นโยบายเด็ดขาดก็จะสายเกินไป เนื่องจากแต่ละปีขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปีที่แล้ว ค.ศ. 2024 ขาดดุลรวมถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญ หมายถึงอเมริกาซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าที่ขายออกไปตามจำนวนดังกล่าว
อีกเหตุผลหนึ่ง คือ อเมริกาต้องการพึ่งพาตนเอง หมายถึงดึงฐานการผลิตสินค้าต่างๆกลับเข้ามาในอเมริกา เพื่อต้องการสร้างงานที่ดี เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ชาวอเมริกันชั้นล่างและชั้นกลาง ลดการพึ่งพาประเทศอื่นๆ โดยขอร้องให้ประชาชนกินยาขมเพื่อหวังผลในอนาคต
ชาวอเมริกันที่สนับสนุนรัฐบาลทรัมป์.2.0 ยินดีที่เห็นการประกาศ เก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 11% ถึง 50% ยกเว้นจีนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งถูกเก็บในอัตราสูงที่สุดที่ 145% และจีนประกาศตอบโต้ว่าจะสู้กับอเมริกาในเรื่องนี้จนถึงจุดสุดท้าย
ผลกระทบจากนโยบายนี้ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาผันผวนอย่างรุนแรง และเกิดวิกฤติการขายพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระดับสูงรีบออกมาเตือนทำเนียบขาวว่า ควรชะลอเรื่องนี้ก่อนที่จะล้มทั้งระบบ จึงนำมาสู่การเลื่อนเวลาไป 90 วัน เพื่อให้มีการเจรจากับประเทศคู่ค้าต่างๆและจัดเก็บในอัตรา 10% ต่อทุกประเทศ ยกเว้นเม็กซิโกและแคนาดาที่ 25% และจีนที่ 145% ดังที่กล่าว
ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากนโยบายนี้ เริ่มต้นที่มูลค่าของตลาดหุ้นที่ลดลงอย่างเฉียบพลันซึ่งทำให้ 162 ล้านคนที่มีส่วนได้เสียในตลาดหุ้น โดยมีเงินสะสมกับนายจ้างหรือเงินสะสมในวัยเกษียณในตลาดหุ้น ผู้ที่ต้องใช้เงินเพื่อการศึกษา หรือการรักษาพยาบาลในวัยชรา และความจำเป็นเรื่องต่างๆ จำเป็นต้องขายหุ้นในราคาต่ำ หรือบางคนมีความวิตกกังวลจนต้องรีบขายหุ้นเป็นจำนวนมากออกไป
จากการสำรวจประชามติปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ความนิยมต่อประธานาธิบดีทรัมป์ลดลงเหลือ 41% เทียบกับเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ 51% การประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 5 เมษายนมีประชาชนจำนวนหลายล้านคนลงท้องถนนประณามนโยบายที่ริดรอนเสรีภาพและเซาะกร่อนความมั่นคงขององค์กรต่างๆ ของรัฐบาลกลาง
มหาเศรษฐีและนักลงทุนชาวอเมริกันระดับต้นๆ หลายคนออกมากดดันทำเนียบขาวในช่วงวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความกังวลว่าตลาดหุ้นผันผวนมาก ความเชื่อมั่นลดลงอย่างเฉียบพลัน และมีสัญญาณที่อ่อนแอในตลาดพันธบัตรของรัฐบาล จึงทำให้กลัวว่าจะเกิดการล้มทั้งระบบ หากไม่รีบเปลี่ยนนโยบายเรื่องภาษีศุลกากรให้ลดความรุนแรงลงบ้าง กลุ่มคนเหล่านี้ยังได้แสดงทีท่าว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนการสนับสนุนทางการเมืองไปทางด้านพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2026 โดยระดมเงินบริจาคและจัดตัวผู้เข้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนและสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งผู้ว่าราชการรัฐและตำแหน่งการเมืองในท้องถิ่นอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นสัญญาณอันตรายของพรรครีพับลิกันที่ทำให้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ความไม่พอใจต่อการบริหารของทำเนียบขาวมีประวัติมาแล้วจากสมัยทรัมป์1.0 โดยการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปีค.ศ. 2018 พรรคเดโมแครตสามารถจะแย่งชิงที่นั่งในสภาผู้แทนได้ 41 ที่จึงทำได้ให้ได้เสียงข้างมากไปครอง และส่งผลให้ประธานาธิบดีทรัมป์ทำงานในช่วงสองปีหลังด้วยความยากลำบากมาก จนถึงขั้นถูกสภาผู้แทนถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ผ่านการรับรองโดยวุฒิสภา
เรื่องที่น่าสังเกตมากคือ สหรัฐตั้งอัตราการเก็บภาษีศุลกากรจากจีนสูงมากกว่าทุกประเทศ จนกลายเป็นเด่นชัดว่ามีเจตนาที่จะทำเป็น “การจัดการเชิงยุทธศาสตร์” ที่ใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อเน้นย้ำ “ความโดดเดี่ยวจีน บนเวทีโลก”
อาจเป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศอื่น ๆ ว่า “จีนคือเป้าหมายหลักของสหรัฐ” ในสงครามการค้า และสงครามเย็นเชิงเทคโนโลยีและอุดมการณ์ ส่งผลให้จีนอาจมองว่า ถูกแยกออกจากระบบระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (Liberal World Order)
ทางสหรัฐฯประเมินว่าจีนมีแรงกดดันภายในประเทศเนื่องจากพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และกำลังการซื้อภายในประเทศจีนตกต่ำโดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ภาษีที่สหรัฐฯเก็บสูงมากนั้นจะทำให้ผู้ผลิตในจีนไม่สามารถแข่งขันในสหรัฐได้ต่อไป จึงทำให้ต้องหาตลาดในประเทศอื่น ซึ่งอาจต้องขายในราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นของประเทศเหล่านั้น และอาจนำมาสู่กระแสต่อต้านสินค้าจีนในหลายภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และละตินอเมริกา
ประเทศที่เป็นตลาดของสินค้าจีนก็อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งภายใน เนื่องจากกลุ่มคนจะแบ่งเป็นสองขั้ว คือ ผู้บริโภคกับผู้ผลิตในประเทศ หมายถึงผู้บริโภคอาจยินดีกับการเข้าถึงสินค้าจีนที่มีคุณภาพดีในราคาถูก ขณะเดียวกันผู้ผลิตในประเทศที่อาจจะแข่งขันไม่ได้ก็จะกดดันให้รัฐบาลของตนให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอาจกลายเป็นการตั้งกำแพงภาษีศุลกากรคล้ายกับที่สหรัฐอเมริกาทำกับทั่วโลกในปัจจุบันนี้
เรื่องนี้อาจทำให้การส่งออกสินค้าจีนเปรียบเสมือนการส่งออกความขัดแย้ง และอาจทำให้แบรนด์จีนเสื่อมลง ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายทางสังคมและการเมืองด้วย
กรณีที่ไทยถูกเก็บภาษีศุลกากร 36% และต่อมาได้รับการเลื่อนไปชั่วคราว 90 วันและคงไว้ที่ 10% นั้น
รัฐบาลไทยตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ได้มอบหมายให้ทีมเจรจาเป็นการรวมตัวโดยมืออาชีพ คือ ข้าราชการที่ไม่ใช่เป็นนักการเมือง
บุคคลที่คัดสรรมาเหล่านี้มีพื้นฐานและประสบการณ์ที่จะทำการเรื่องนี้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้เสถียรภาพของรัฐบาลผสมก็แสดงสัญญาณของความขัดแย้งที่อาจนำมาสู่การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ หรือ ความเป็นไปได้สูงในการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่ไทยกำลังจะเจรจากับสหรัฐ จนถึงประมาณวันที่ 9 กรกฎาคม ก็จะทำต่อเนื่องได้ แม้มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล
ตัวเลขการได้เปรียบดุลการค้าของไทยนั้นควรพิจารณาเรื่องการส่งออกของสหรัฐที่เป็นอุตสาหกรรมการบริการด้วย เช่นการเงินการธนาคาร การท่องเที่ยว การขนส่ง สิทธิบัตรทางปัญญา และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งหากนำมาคำนวณโดยละเอียดแล้วอาจลดช่องว่างของดุลการค้าระหว่างสองประเทศและนำมาสู่การพิจารณาลดอัตราภาษีศุลกากรต่อไทยได้ในที่สุด