หุ้นจีนพุ่งทะยาน หรือว่ามังกรจะคืนชีพ

หุ้นจีน H-Shares จะแข็งแกร่งและปัจจัยพื้นฐานดูดีขึ้นในปีนี้ แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่จะกระทบเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนในอนาคต ในตอนนี้จึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนกระจุกตัวในกองทุนหุ้นจีนเพียงประเทศเดียว
ท่ามกลางตลาดหุ้นทั่วโลกที่เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงรุนแรงจากหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งเรื่องการประกาศนโยบายสงครามการค้าแล้วเปลี่ยนไปมาจนเป็นหัวข้อข่าวรายวัน ตลาดจับทิศทางไม่ได้ ลดทอนความเชื่อมั่นจนเกิดเป็นความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะถดถอย ตลอดจนความไม่แน่นอนว่า FED จะลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปเมื่อไหร่ กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงแรง นำโดยดัชนี NASDAQ ที่น้ำหนักส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่เคยเป็นผู้ชนะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวลงมาแล้วราว -12% จากจุดสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนกุมภาพันธ์
ข้ามมาในอีกซีกโลกนึง ตลาดหุ้นจีนก็สามารถพุ่งทะยานขึ้นแรง โดยเฉพาะหุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง (ดัชนี HSCEI) ปรับขึ้นมาแล้วเกือบ +20% ตั้งแต่ต้นปี และขึ้นมาราวๆ 50% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม) แต่หากนับจากจุดต่ำสุดในปี 2024 กลับมาถึงจุดสูงสุดในปี 2021 หุ้นจีนขึ้นมาเกินครึ่งทางในเวลาอันรวดเร็ว และการปรับตัวขึ้นมารอบนี้จะเป็นรองก็แค่การรีบาวด์ในปี 2009 หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และปี 2020 ช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยมีปัจจัยหนุนหลายด้าน ดังนี้
ประเด็นแรก คงหนีไม่พ้นผลการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ที่เป็นไปตามตลาดคาดคือประกาศเป้าหมาย GDP ปี 2025 ที่ 5% เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน พร้อมลดเป้าหมายเงินเฟ้อลงจากปีก่อนที่ 3% มาอยู่ที่ 2% ด้านนโยบายการคลัง ทางการจีนตั้งเป้าหมายงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 4% ของ GDP ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ ประกอบกับการเพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะพุ่งเป้าไปที่การบริโภค การพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมถึงการรักษาเสถียรภาพภาคอสังหาฯ สะท้อนว่าทางการจีนมีความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น เพื่อชดเชยภาคการส่งออกที่อาจชะลอตัวจากสงครามการค้า
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ A.I. น้องใหม่มาแรงอย่าง DeepSeek ที่บริษัท Start up จีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ในต้นทุนที่ถูกกว่า A.I. ฝั่งสหรัฐฯ หลายเท่าตัว ทำให้แอพพลิเคชั่น DeepSeek ขึ้นแท่นยอดดาวน์โหลดสูงสุดในเวลาอันรวดเร็ว กระแส DeekSeek นี้ทำให้นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทในกลุ่มเทคฯ ขึ้น โดยหากอ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg พบว่านักวิเคราะห์ให้คำแนะนำซื้อหุ้นเทคฯ จีนเกือบทุกบริษัทในดัชนี Hang Seng Tech Index พร้อมทั้งประเมินว่าจะมีผลตอบแทนในอีก 12 เดือนข้างหน้าราว 14% สะท้อนว่าหุ้นเทคฯ จีนปรับเพิ่มขึ้นรอบนี้มาจากปัจจัยพื้นฐานด้วย ไม่ใช่เพียงเรื่อง Sentiment อย่างเดียว ทำให้ภาพรวมของหุ้นเทคฯ จีนที่ซบเซามานานกลับมาผงาดขึ้นอีกครั้ง
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่อง Valuation ที่หุ้นจีนเทรดที่ระดับ 12-month Forward P/E ถูกกว่าสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ เพราะถูกกดดันต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2021 จากการที่รัฐบาลคุมเข้มกลุ่มเทคฯ และอสังหาฯ โดยปัจจุบันดัชนี HSCEI ซื้อขายอยู่ที่ 12-month Forward P/E 10.4 เท่า แพงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 8.8 เท่า แต่ยังต่ำกว่าระดับ 12.1 เท่า ที่เป็นระดับสูงสุดในปี 2021 และยังถูกกว่าหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P500) ที่ซื้อขายอยู่ที่ราว 20 เท่า
ในระยะสั้น หุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกงจะสามารถให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นต่อได้ จาก (1) นักวิเคราะห์ปรับประมาณการณ์กำไรเพิ่มขึ้น (2) เม็ดเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่องจากจีนแผ่นดินใหญ่ผ่าน Southbound Stock Connect หรือช่องทางที่ให้นักลงทุนจีนซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นฮ่องกง และ (3) มีสัดส่วนของหุ้นอินเตอร์เน็ตที่สูงราว 1 ใน 3 ของดัชนี โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่ เช่น Tencent, Alibaba และ Meituan, Dianping แต่ตลาดหุ้นจีนจะให้ผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืนในระยะกลาง-ยาวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ การบังคับใช้มาตการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล และที่สำคัญคือการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน
แม้ว่าโมเมนตัมของหุ้นจีน H-Shares จะแข็งแกร่งและปัจจัยพื้นฐานดูดีขึ้นในปีนี้ แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่จะกระทบเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนในอนาคต ในตอนนี้จึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนกระจุกตัวในกองทุนหุ้นจีนเพียงประเทศเดียว แต่แนะนำให้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนผ่านกองทุนหุ้นเอเชียเพื่อลดความเสี่ยงและไม่พลาดผลตอบแทนจากหุ้นจีน