สัญญาณบวกจากยุโรป

นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปจึงควรเป็นผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง และควรติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยอาจจะทยอยลงทุนเพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ท่ามกลางความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนไม่สามารถคาดเดาได้ว่าตื่นมาวันใหม่จะมีข่าวดีหรือข่าวร้ายอะไรมากระทบตลาดบ้าง แต่สิ่งที่นักลงทุนน่าจะคาดหวังคล้ายๆกันก็คือ ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากมาตรการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
อย่างไรก็ดี ทางฝั่งยุโรปกลับมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยถึงแม้ธนาคารกลางยุโรปได้ทำการปรับลดคาดการณ์จีดีพีของยูโรโซนสำหรับปี 2568 และ 2569 ลงสู่โต 0.9% และ 1.2% เพื่อสะท้อนความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการลงทุนและการส่งออก พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางอาจลดความเร็วในการลดดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ใกล้จุดต่ำสุดแล้ว ในขณะเดียวกัน ทางด้านนักวิเคราะห์จาก JP Morgan, Goldman Sachs และ Morgan Stanley ต่างปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของยูโรโซน และนักวิเคราะห์ต่างเริ่มปรับมุมมองต่อการลงทุนในยุโรปเป็นบวกมากขึ้น
สำหรับ ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อตลาดหุ้นยุโรป ได้แก่ การที่พรรคร่วมของเยอรมนีที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นฝ่ายรัฐบาล เตรียมเสนอให้มีการผ่อนคลายเกณฑ์การคลัง เพื่อที่จะสามารถจัดตั้งกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ รวมถึงสามารถเพิ่มงบทางการทหาร หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกนาโต้จ่ายเงินสนับสนุนมากขึ้น
ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน และเพิ่งผ่านการเลือกตั้งไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมปกติจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 - 3 เดือน ดังนั้น การที่เศรษฐกิจเยอรมนีมีทิศทางดีขึ้น จะส่งผลอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน หลังจากที่ช่วงก่อนหน้านี้เศรษฐกิจเยอรมนีเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมนีจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในยุโรปด้วย
นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือนกุมภาพันธ์บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนียังคงเติบโตได้เล็กน้อย แต่ภาคการผลิตมีมุมมองในเชิงบวกมากขึ้น เศรษฐกิจสเปนและไอร์แลนด์เติบโตแข็งแกร่ง ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของยูโรโซน ยังคงหดตัว ดังนั้น ในภาพรวม เศรษฐกิจยูโรโซนมีทิศทางดีขึ้น
ในบทความเดือนที่แล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนอาจไม่ได้ดูดี แต่ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นยุโรปต่างยังคงแข็งแกร่ง และผู้บริโภคยังคงมีความสามารถในการใช้จ่ายในเกณฑ์ดี ดังนั้นการที่เศรษฐกิจยูโรโซนมีทิศทางดีขึ้น ย่อมเป็นแรงส่งให้การลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปมีความน่าสนใจมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการที่ได้ติดตามข่าวและอ่านบทวิเคราะห์ พบว่ามีบทความและบทวิเคราะห์ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นยุโรปมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐมีความเสี่ยงมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้คาดเดาอนาคตได้ยาก และอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ในขณะที่ทางด้านยุโรป หลายประเทศมีการเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ เช่น เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ หาตลาดใหม่และลดความสำคัญของตลาดสหรัฐ เป็นต้น อีกทั้งธนาคารกลางยุโรปได้ทำการลดดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ และมีการกระจายตัวของหุ้นขนาดใหญ่ไปในหลากหลายอุตสาหกรรมมากกว่าดังที่ผมได้เขียนบทความเปรียบเทียบทั้งสองตลาดไปในเดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ ณ ขณะที่เขียนบทความนี้ สหรัฐยังไม่ได้มีการประกาศมาตรการภาษีใดๆที่มุ่งเป้าไปที่ยุโรปโดยตรง แต่มาตรการจัดเก็บภาษีรถยนต์ มาตรการเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียม และมาตรการภาษีตอบโต้ ต่างส่งผลกระทบเชิงลบต่อยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงยังมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้
ในขณะที่การที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องสภาวะโลกร้อน การเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกนาโต้จ่ายเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้น การประกาศจะครอบครองกรีนแลนด์ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก การยุติการให้ความช่วยเหลือยูเครน ต่างส่งผลให้รัฐบาลของประเทศต่างๆในยุโรปจำเป็นต้องเพิ่มงบการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการทหารและการลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆเติบโตได้ดีมากขึ้น
ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปจึงควรเป็นผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง และควรติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยอาจจะทยอยลงทุนเพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว หรืออาจรอดูให้แน่ใจว่ามาตรการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด รวมถึงนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมากอาจอาศัยจังหวะเข้าลงทุนในช่วงที่ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศมาตรการที่ส่งผลเชิงลบต่อยุโรป ซึ่งตลาดอาจตอบรับข่าวรุนแรงเกินไป ส่งผลให้ความเสี่ยงขาลงอาจมีน้อย ในขณะที่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงมีมากขึ้น