วิกฤติความเชื่อมั่นครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

ดัชนีหุ้นจะฟื้นคืนหรือไม่ เงินจะอยู่ในประเทศหรือหลั่งไหลออกไปหาโอกาสที่ดีกว่า เสถียรภาพของรัฐบาลและนโยบายฟื้นฟูต่างๆจะสัมฤทธิ์ผลเพียงใด ขึ้นอยู่กับทุกคนที่ช่วยกัน ติเพื่อก่อ ชมเชยในสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว วิเคราะห์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ และอย่าลืมการอดทนอดกลั้น ให้อภัยกันเสมอ
การเงินไม่สะพัด ราคาหุ้นไม่ดี การเมืองไม่นิ่ง สภาล่ม พรรคร่วมรัฐบาลแตกร้าว ปัญหาต่างประเทศเข้าเขตอันตราย ฯลฯ เป็นสัญญาณเตือนภัยให้ต้องช่วยกันแก้วิกฤตด่วน
“วิกฤติความเชื่อมั่น” เป็นเรื่องที่พูดกันบ่อยครั้งจนเริ่มชินชา แต่ครั้งนี้อาจเป็นไฟที่ลุกแล้วดับไม่ได้ และในที่สุดก็จะบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบโดยตั้งตัวกันไม่ทัน
ความเครียดของเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆอาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นอกเหนือจากการปรับคณะรัฐมนตรี อาจกลายเป็นการยุบสภา เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเริ่มต้นกันใหม่ก็อาจเป็นไปได้
อะไรที่เป็นสัญญาณว่าวิกฤติความเชื่อมั่นครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา?
หากยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งมาพิจารณา ดัชนีตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งปีพ.ศ. 2567 ลดลง 1.1% ซึ่งนับว่าแย่ แต่หากเปรียบเทียบกับปีพ.ศ. 2568 แล้วน่าตกใจ
ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา เวลาผ่านไปเพียงประมาณห้าสัปดาห์ มูลค่าของบริษัทในตลาดหุ้นไทยทั้งหมดรวมกันหดหายไป 9% หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท เงินจำนวนนี้เป็นเงินมหาศาลเทียบเคียงกับประมาณ 46 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งประเทศที่ 3.48 ล้านล้านบาทต่อปี
และไม่มีใครสามารถจะประเมินได้ว่าในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้านี้ทิศทางจะเป็นอย่างไร หากเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดลงไปเรื่อยๆและไม่มีสิ่งมหัศจรรย์มาเปลี่ยนทิศทาง จะเกิดอะไรขึ้นกับเสถียรภาพของประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนส่วนใหญ่ระบุว่า เงินลงทุนที่วูบหายไปจากตลาดหุ้นไทย มาจากการที่นักลงทุนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากลงทุนต่อไปท่ามกลางบรรยากาศปัจจุบันจะไม่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า หรืออาจจะขาดทุนเช่นที่เคยผ่านมา จึงจำเป็นต้องแสวงหาที่ลงทุนนอกตลาดหุ้น ซึ่งเงินนั้นอาจจะยังอยู่ในประเทศหรือออกไปลงทุนต่างประเทศแล้วก็เป็นไปได้
คนในระดับสูงของรัฐบาลยอมรับว่า วิกฤตครั้งนี้หนักมากและกำลังรีบเร่งทำในสิ่งด่วนที่สุดและสำคัญที่สุด นั่นคือ “การสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยจะไปในทิศทางที่ถูกต้องและทันเวลา ขอให้ทุกฝ่ายมีความศรัทธาเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าปัญหาต่างๆที่มีอยู่นั้นไม่เกินความสามารถของรัฐบาลนี้”
ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างเปิดเผยและไม่ปิดบังอีกต่อไประหว่างพรรครวมรัฐบาลสีแดงและสีน้ำเงิน ก็ยังมีสัญญาณบวกที่ประชาชนเห็นเป็นผลงานที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน นั่นคือ “การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่รุมเร้าต่อสังคมมานาน โดยเฉพาะการร่วมมือระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกด้าน ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ จัดการกับกลุ่มที่บั่นทอนสังคมฉ้อโกง
ประชาชน ที่มีฐานปฏิบัติการรอบเขตชายแดนไทย ในประเทศเพื่อนบ้านที่อ่อนแอ”
การตัดสินใจยกระดับความสำคัญในเรื่องนี้ของรัฐบาลจีน โดยการประสานงานในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีนกับอาเซียนในเดือนมกราคมที่ผ่านมาอาจเป็นจุดเปลี่ยนแห่งประวัติศาสตร์ก็ว่าได้
อาชญากรรมระหว่างประเทศเปรียบเสมือนไข้ที่ถูกเลี้ยงไว้นาน และไม่มีใครแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง โดยปล่อยละเลยแบ่งงานกันทำ จึงกลายเป็นโอกาสให้กลุ่มอาชญากรเหล่านี้หลบหลีกเงื้อมมือกฎหมาย ย้ายจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ใช้คอรัปชั่นเป็นตั๋วละเมิดกฎหมาย ทำลายชีวิตและอนาคตของหลายครอบครัวถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว และทำให้หลายหมื่นคนหลงผิดไปร่วมทำอาชีพทุจริต
เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนถูกสอบสวนดำเนินคดีอยู่และบางส่วนได้ถูกลงโทษไปแล้ว ในกรณีของจีนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายร้อยคนได้ถูกลงโทษและผู้กระทำความผิดกว่า 67,000คนในปี 2567 ถูกดำเนินคดีสถานหนัก
แม้เรื่องนี้กำลังมีโมเมนตัมของการถอนรากถอนโคนมาเฟียในภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาชญากรรมออนไลน์จะหมดไป ทุกรัฐรวมทั้งไทยจะต้องให้ความสำคัญติดตามเรื่องนี้ด้วยความใกล้ชิด โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถนะพัฒนาทักษะในการใช้เทคโนโลยีให้ทันต่อการปรับตัวของกลุ่มอาชญากร
การที่รัฐบาลไทยรับสัญญาณเรื่องนี้จากรัฐบาลจีนลงมือทำผลงานให้เห็นเด่นชัด เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ ที่พร้อมบังคับใช้กฎหมายและไม่ตกเป็นเหยื่อของคอรัปชั่น
ผลงานในการปราบอาชญากรออนไลน์ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าชมเชย และอาจเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ทุกคนรอคอยมานาน ว่าเมื่อไหร่จะถึงจุดเปลี่ยนในทางบวกในไทย ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ
ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะทิศทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจของผู้บริหารสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนโยบายเด่นชัดว่า ระเบียบโลกปัจจุบันต้องถูกรื้อถอนผ่าตัดครั้งใหญ่ ข้อตกลงและความเข้าใจระหว่างประเทศที่ทำกันมานาน ทั้งผ่านองค์การและองค์กรระหว่างประเทศ หรือองค์กรกุศลต่างๆนั้นกำลังถูกเปลี่ยนถึงขั้นช็อครายวัน
ความเป็นผู้นำโลกที่สหรัฐอเมริกาได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาไว้วางใจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมากำลังถูกผู้บริหารของสหรัฐอเมริกาเองตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ซึ่งนโยบายการเห็นแก่ประโยชน์ของอเมริกาก่อนผู้อื่น และการใช้กำแพงภาษี หรือการปิดกั้นการเงินการธนาคารต่อประเทศคู่แข่งหรือศัตรู หรือการให้ท้ายต่อประเทศที่ใช้ความรุนแรงและเอาเปรียบประเทศที่อ่อนแอกว่า ต่างๆเหล่านั้น
สะท้อนให้เห็นถึง “วิกฤตของความเชื่อมั่นในระดับโลก”
ใครจะเป็นผู้นำโลกที่เชื่อถือได้ ระเบียบโลกใหม่คืออะไร? นั่นคือคำถาม
ไทยเป็นประเทศเล็ก แต่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและคุณภาพของประชาชนที่เป็นแก่นและองค์ประกอบของความยั่งยืน
เรื่องท้าทายทางเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงในปัจจุบันมีผลกระทบต่อชาวไทยแตกต่างกัน
ความเหลื่อมล้ำทำให้กลุ่มที่มีฐานะทางการเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่ามีหนทางที่ทนต่อไปได้ แต่สำหรับกลุ่มคนระดับรากหญ้าและชนชั้นกลางนั้นอาจจะรอไม่ไหว
ความเชื่อมั่นในไทยที่ต้องให้ความสนใจและปรับปรุงอย่างเฉียบพลัน ไม่เพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายทั้งบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระและประชาชนทั่วไปซึ่งบริหารประเทศโดยการใช้โซเชียลมีเดียต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังปรับปรุงทุกอย่างที่ทำได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดูเล็กน้อยปานใด
ดัชนีหุ้นจะฟื้นคืนหรือไม่ เงินจะอยู่ในประเทศหรือหลั่งไหลออกไปหาโอกาสที่ดีกว่า เสถียรภาพของรัฐบาลและนโยบายฟื้นฟูต่างๆจะสัมฤทธิ์ผลเพียงใด ขึ้นอยู่กับทุกคนที่ช่วยกัน ติเพื่อก่อ ชมเชยในสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว วิเคราะห์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ และอย่าลืมการอดทนอดกลั้น ให้อภัยกันเสมอ