ตลาดหุ้นกับรัฐบาล

ตลาดหุ้นกับรัฐบาล

การเมืองล่าสุดที่พรรค "ฝ่ายซ้าย" กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาล นี่ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยยังไม่เคยเจอ ในมุมมองคิดว่าตลาดหุ้นนั้น ชอบความเป็น "ทุนนิยมเสรี" มากกว่าการเป็น "สังคมนิยม"

ในช่วงที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และดัชนีตลาดหุ้นก็ตกลงมาพร้อม ๆ กันจนดูเหมือนว่าการจัดตั้งและการมีรัฐบาลที่มีนโยบายหรือมีแนวความคิดทางการปกครองและการบริหารงาน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ อาจจะมีผลต่อตลาดหุ้น นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “รัฐบาล” ว่าที่จริง ในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างในสหรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุก 4 ปี ก็มีการศึกษาว่าระหว่างรัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครทซึ่งเป็นพรรคที่อยู่ทาง “ซ้าย” ที่เป็นเสรีนิยม กับพรรครีพับลิกัน ที่อยู่ทาง “ขวา” ที่อนุรักษ์นิยมกว่านั้น ตลาดหรือดัชนีหุ้นฝั่งไหนจะดีกว่า ซึ่งผลก็ดูเหมือนว่าจะไม่แตกต่างกันนัก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ รัฐบาลจากทั้ง 2 พรรคไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นนัก เลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นแม้ว่าผู้ชนะจะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่เรามาดูตลาดหุ้นไทยบ้าง โดยผมจะเลือกเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่อยู่เกิน 2 ปีขึ้นไป

รัฐบาลแรกก็คือ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการกองทัพบกภายหลังจากการรัฐประหารและความวุ่นวายทางการเมือง (กรณี 6 ตุลาคม 2519) ในปี 2523 หรือหลังจากตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งมา 5 ปีในปี 2518 และการเกิดวิกฤติตลาดหุ้นกรณีราชาเงินทุนในปี 2522

วันแรกที่พลเอกเปรมเป็นนายกนั้น ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 138 จุด ซึ่งก็เป็นระดับที่ต่ำจากที่เคยสูงถึง 258 จุด หรือตกลงมาถึง 47% หลังวิกฤติในปี 2522 ภายใต้การบริหารงานของพลเอกเปรมนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวอนุรักษ์นิยมและส่วนใหญ่ก็อิงกับระบบราชการ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยที่พรรคการเมืองที่หนุนหลังนั้นก็กระจัดกระจายและไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรในการชี้นำประเทศ

ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้น “นิ่ง” ไปนานถึง 6 ปีจนถึงปี 2529 ที่ดัชนีก็ยังอยู่ที่ประมาณ 130 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและอนุรักษ์นิยมนั้น ไม่ดีต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของระยะเวลา 8 ปี ครึ่งของพลเอกเปรม ดัชนีตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปแรงถึง 437 จุด แต่นั่นก็น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั้งต่างประเทศและของไทยที่กำลังเริ่มบูมมากกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล

รัฐบาลที่ 2 ก็คือ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคการเมืองคือพรรคชาติไทย หลังจากที่พลเอกเปรมปฏิเสธที่จะเป็นต่อหลังการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2531 นโยบาย “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” และการ “สนับสนุนธุรกิจเอกชน” ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 2 ปี ครึ่ง ปรับตัวขึ้นช่วงหนึ่งจาก 320 จุด เป็น 1,100 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึง 250% ตามภาวะการณ์เติบโตอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศ และนี่ก็คือสิ่งที่ “ตลาดหุ้นชอบ” นั่นก็คือ “ทุนนิยมเสรี” 

รัฐบาลที่ 3 ก็คือ รัฐบาล ชวน หลีกภัย 1 ระหว่างปี 2535 ถึง 2538 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี นี่คือช่วงเวลาหลังรัฐประหารรัฐบาลชาติชายและต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 ซึ่งประเทศไทยดูเหมือนจะ เข้าสู่ “ยุคใหม่” ของการปกครองที่พลเรือนที่เป็นนักการเมืองเป็นผู้นำแทนทหารและข้าราชการระดับสูง ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มจากประมาณ 800 จุด ขึ้นไปถึง 1,754 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่ไม่ถูกทำลายต่อมาอีกกว่า 20 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นกว่า 100% ในเวลาเพียงปี 1 ปี 4 เดือน

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย 2 เริ่มในช่วงปลายปี 2540 หลังเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในช่วงกลางปี และอยู่ถึงต้นปี 2544 เป็นเวลา 3 ปี 2 เดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ตกลงมา 55% ในปี 2540 เหลือเพียง 370 จุด ตอนสิ้นปี พยายามประคองตัวและปรับขึ้นบ้างแต่เมื่อประสบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายและการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและประเทศ แบบ “อนุรักษ์นิยม” และตามการชี้นำของ IMF ที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของรัฐบาล ดัชนีตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงเหลือเพียงประมาณ 300 จุด กลายเป็น 3 ปีที่หายไป ส่วนหนึ่งจากวิกฤติไฮเทคของอเมริกาที่กำลังมาด้วย ซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาถึง 44% ในปี 2544

รัฐบาลที่ 4 คือ รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ที่ชนะเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ด้วย “ความคิดใหม่” และเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคใหม่ของการสื่อสารฉายา “อัศวินคลื่นลูกที่สาม”  ภายในช่วง 3 ปีแรกจาก 5 ปี 7 เดือนในตำแหน่ง ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปจาก 300 จุดเป็น 772 จุดหรือเพิ่มขึ้น 157% ประเทศไทยจากสถานะเกือบล้มละลายได้รับการปรับอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือและสามารถใช้หนี้ IMF ได้หมดก่อนครบกำหนดเวลา

รัฐบาลที่ 5 คือ รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551 – 2554 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนหลังจากการรัฐประหารและความวุ่นวายทางการเมืองที่มีการประท้วงและต่อสู้ระหว่างคน 2 กลุ่มหรือคนเสื้อเหลือง-แดง อย่างไรก็ตาม ดัชนีตอนที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานนั้นอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดหลังวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 ที่ 450 จุด ซึ่งเป็นการตกลงมาถึงประมาณ 48% ในเวลา 1 ปี และกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็น “ยุคทอง” ของการลงทุน ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 1,070 จุด หรือ 138% ในเวลา 2 ปี 8 เดือน ทั้ง ๆ ที่การเมืองกำลังวุ่นวาย แต่ก็ไม่มีสัญญาณว่าทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

รัฐบาลที่ 6 คือรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งจากปี 2554 -2557 เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน จากการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเด็ดขาด ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมั่นคงจากประมาณ 1,070 จุด เป็น 1,416 จุด หรือเพิ่มขึ้น 32% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 10.7% ต่อปี ทั้ง ๆ ที่ปัญหาการเมืองก็ยังคงรุนแรงและในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลสุดท้ายก็คือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี 9 เดือน เป็นรองเฉพาะจอมพล ป. พิบูลสงครามและจอมพลถนอม กิตติขจร เท่านั้น ช่วงตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจจนถึงวันนี้ที่ 27 พฤษภาคม 2566 ดัชนีตลาดลดลงจาก 1,562 จุดเป็น 1,531 จุด หรือลดลงประมาณ 2% หรือพูดง่าย ๆ นี่เป็นช่วง “ทศวรรษที่หายไป” ตลาดหุ้นแทบจะไม่ให้ผลตอบแทนเลยเป็นเวลาถึง 10 ปี และนี่ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ที่หุ้นไม่ไปไหนยาวนาน และในระหว่างนั้นก็ไม่ขึ้นแรงหรือตกแรง

ข้อสรุปของผมจากข้อมูลที่เห็นก็คือ ข้อแรก ตลาดหุ้นจะไม่ชอบการรัฐประหารและการใช้ระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาก ยิ่งรัฐบาลอยู่นานตลาดก็ยิ่งแย่หรือไม่โตเลย ข้อสอง แม้ว่าการเมืองจะมีความวุ่นวายและมีการประท้วงรุนแรง แต่ถ้าภาพใหญ่ยังปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นก็มักจะยังพอไปได้ ถ้าหุ้นตกลงมาต่ำมากจนเป็นวิกฤติ โอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัวกลับตามภาวะตลาดโลกอย่างในกรณีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังเป็นไปได้ หรือแม้แต่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลาดหุ้นก็ยังพอไปได้แม้ว่าการเมืองจะวุ่นวายมาก

ตลาดหุ้นมักจะดีเมื่อมีรัฐบาลที่เกื้อหนุนธุรกิจ เน้นทุนนิยมเสรี เน้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เช่น การมีสัญญาการค้าและการเมืองกับนานาชาติ  เช่นสมัยชาติชาย ชุณหะวัน หรือมีการลดภาษีต่าง ๆ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจมาก ๆ อย่างกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีนโยบายรถคันแรกหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

การนำประเทศเข้าสู่ “ยุคใหม่” หรือผู้นำที่จะนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองใหม่หลัง “วิกฤติ” ต่าง ๆ อย่างในกรณีทักษิณ ชินวัตรก็มักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรง เช่นเดียวกับกรณีของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน และอาจจะรวมถึง ชวน หลีกภัย สมัยแรก ที่เปลี่ยนผู้นำจากทหารและข้าราชการเป็นรัฐบาลพลเรือน

สุดท้ายก็คือ เรื่องของการเมืองล่าสุดที่พรรค “ฝ่ายซ้าย” กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาล นี่ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยยังไม่เคยเจอ ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นนั้น ชอบความเป็นทุนนิยมเสรีมากกว่าการเป็น “สังคมนิยม” ที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านระบบการเก็บภาษีมากขึ้น เรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจนกว่ารัฐบาลจะเข้ามาบริหารและผลกระทบส่งถึงตลาดหุ้นเมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนนี้ได้สะท้อนเข้าในตลาดหุ้นบ้างแล้ว เพราะหลังการเลือกตั้งไม่กี่วันหุ้นก็ตกลงมาอย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีเหตุผลอื่น