มุมมองตลาดหุ้นหลังเลือกตั้ง นโยบายทลายผูกขาดและความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล

มุมมองตลาดหุ้นหลังเลือกตั้ง นโยบายทลายผูกขาดและความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้งปี 2566 ได้ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ความคาดหวัง Election Rally ไม่ได้เป็นไปตามที่หลายๆท่านคาดไว้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 40 จุด ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังการเลือกตั้ง ที่ผลออกมาว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง

นักลงทุนตอบสนองต่อผลการเลือกตั้งค่อนข้างไปในเชิงลบ จากทั้งนโยบายของพรรคก้าวไกลที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ และความกังวลว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ดังนั้น แนวโน้มตลาดหุ้นอาจจะยังผันผวน แต่สำหรับมุมมองเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมองว่าเศรษฐกิจน่าจะสามารถเติบโตไปในทิศทางที่ดีจากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ เพียงแต่ในช่วงนี้อาจจะต้องรอให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หลังผลการเลือกตั้งในวันแรก หุ้นกลุ่มที่ได้รับสัมปทานต่าง ๆ เช่น กลุ่มสื่อสาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มขนส่ง มีแรงขายค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นความกังวลต่อนโยบายทลายการผูกขาด จากแนวคิดการทำนโยบายของพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งการทำนโยบายในลักษณะนี้ หากจะทำให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง และอาจไม่ได้ทำสำเร็จได้ง่ายๆ 

แน่นอนว่าในทางทฤษฎี การลดการผูกขาดทางการค้า ย่อมต้องส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะจะช่วยให้มีการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่จะเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

ยกตัวอย่างในกรณีของการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ที่พรรคก้าวไกลพยายามคัดค้านการควบรวมกิจการดังกล่าว เพราะมองว่าการควบรวมครั้งนี้จะเป็นการผูกขาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และอาจถูกเอาเปรียบจากการตั้งราคาที่ผู้บริโภคอยู่ในจุดที่ไม่มีทางเลือก ซึ่งจะดีกว่าหรือไม่หากมีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาเพื่อลดการผูกขาดด้านราคา และส่งเสริมให้กิจการมีการแข่งขันกัน เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สุดท้ายผลประโยชน์ก็กลับมาสู่ผู้บริโภคโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ก็เกิดคำถามขึ้นว่า หากรัฐบาลสนับสนุนให้ลดการผูกขาดในธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว การเข้ามาของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะสามารถแข่งขันกับเจ้าตลาดที่มีอยู่ก่อนแล้วได้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วธุรกิจที่มีการผูกขาดนั้นมี Barriers to Entry ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน หรือเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถเข้ามาทำได้ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงด้วยว่าด้วยขนาดของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงนั้น ควรจะต้องมีผู้ประกอบการกี่รายจึงจะมีความเหมาะสม

อีกประการหนึ่ง การที่ภาครัฐพยายามลดขนาดธุรกิจขนาดใหญ่ก็ถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงด้านความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้เช่นกัน เพราะหากรัฐบาลไม่สนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ อาจจะทำให้ธุรกิจของไทยสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ยากลำบากขึ้น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในต่างประเทศ เช่น ธุรกิจแชโบล (Chaebol) ของประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจนเป็นธุรกิจผูกขาด และสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้จนทำให้ประเทศเกาหลีใต้เจริญอย่างในปัจจุบัน ดังนั้น หากรัฐบาลมีความต้องการที่จะควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ จะมองว่าเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติของไทยในอนาคตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลสามารถหาความสมดุลระหว่างความยั่งยืนภายใน และความสามารถในการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ได้อย่างไร

อีกประเด็นสำคัญที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะสั้น คือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีความเสี่ยงที่พรรคก้าวไกลอาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ต่างชาติมองว่าการเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอน จึงมี Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้น่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายในเดือนส.ค.ดังนั้น ช่วงระหว่างนี้ ตลาดหุ้นไทยอาจจะยังคงผันผวนจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะสำเร็จ และเมื่อถึงตอนนั้น ตลาดหุ้นน่าจะฟื้นตัวขึ้นต่อได้ เพราะนอกจากจะมีความมั่นใจจากต่างชาติที่ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าประเทศแล้ว ปัจจัยบวกด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวก็น่าจะสนับสนุนภาคธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังต่อไปได้