หุ้น Corner-Extreme 

ปรากฎการณ์  “น่าทึ่ง” ของตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนก็คือ  หุ้น DELTA ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับอิเลกทรอนิกส์และระบบสำรองไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น

 รวมถึงในการผลิตรถที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต มีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงมาก โดยวันที่ 29 มี.ค. 2566 ปรับตัวขึ้น 2.86% วันที่ 30  มี.ค. ราคาวิ่งขึ้นไปถึง 9.35% ซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับบริษัท ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีอะไร 

และถึงวันที่ 31 มี.ค. ราคาก็ยังปรับตัวขึ้นต่ออีก 3.82%  รวมแล้วภายในเวลา 3 วันทำการ  ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นไปจาก 978 บาทต่อหุ้นเป็น 1,142 บาท คิดเป็น 16.8%  ทำให้บริษัทมีมูลค่าหุ้นหรือ Market Cap. ถึง 1,424,509  ล้านบาท และกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่หรือมีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  โดยหุ้นที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 มีมูลค่าน้อยกว่าประมาณ 30% 

ที่จริงหุ้น DELTA เมื่อ 3-4 ปี ก่อนนั้น  ยังเป็นหุ้น “ขนาดกลาง” ที่แทบไม่มีใครสนใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือเข้าไปเล่น  Market Cap. ของบริษัทเท่ากับ 66,734 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2562  เป็นบริษัทลูกของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออกแทนบริษัทแม่ อาจจะเนื่องจากการผลิตที่ประเทศไทยอาจจะได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า บริษัทมียอดขายในปี 2562 ที่ 51,800 ล้านบาท กำไร 2,960 ล้านบาท  กำไรต่อยอดขาย 5.7% 

ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับหุ้นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ก็ไม่มีใครอยากลงทุน  เพราะนี่คือ “หุ้นโรงงาน” ที่ขายสินค้าให้อีกโรงงานหนึ่ง  ที่มักจะไม่ค่อยมีอำนาจทางการตลาดหรือความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอื่นที่ผลิตชิ้นส่วนและมักจะขายไปทั่วโลกเหมือนกัน มองในแง่ของการลงทุนระยะยาวแล้ว  บางคนก็ยังกลัวว่า วันหนึ่งถ้าคนไทยรวยขึ้น การเป็นฐานการผลิตสินค้าก็อาจจะโตหรืออยู่ได้ยาก  เพราะอาจจะมีประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอย่างเช่นเวียดนามมาแข่งได้ 

แต่แล้ว  “ปาฏิหาริย์” ก็เกิดขึ้นเมื่อโลก ต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ที่เริ่มรุนแรงในปี 2020 หรือปี 2563 ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลมากขึ้น เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่บังเอิญเติบโตขึ้นมากในเวลาเดียวกัน 

นอกจากนั้น โควิดยังก่อให้เกิดการขยายตัวของเม็ดเงินสภาพคล่องในตลาดอย่างมหาศาลอานิสงส์จากการที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อต่อต้านการตกต่ำของเศรษฐกิจที่อาจจะตามมาจากการระบาดของโควิด-19  ซึ่งนั่นก็ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์

โดยเฉพาะต่อราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว  เพราะเงินสภาพคล่องเหล่านั้นต่างก็เข้ามาซื้อขายหุ้นเพื่อเก็งกำไรกันอย่าง  “บ้าคลั่ง”  ตั้งแต่กลางปี 2020 และต่อมาจนถึงสิ้นปี 2021  ซึ่งทำให้หุ้นดิจิทัลรวมถึงหุ้นเทสลาปรับตัวขึ้นไปมหาศาล 

หุ้น DELTA ดูเหมือนว่าจะอยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน  เพราะส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนป้อนให้กับผู้ซื้อรายใหญ่ระดับโลกที่กำลังต้องการสินค้าที่ “ขาดตลาด” เนื่องจากหลายประเทศเช่น จีน  ต้องปิดโรงงานเพื่อหนีโควิด  ยอดขายของ DELTA ในปี 2020 หรือปี 2563 เพิ่มขึ้น 23% แต่กำไรโตก้าวกระโดด จาก ประมาณ 3,000 ล้านบาท เป็น 7,000 ล้านบาท เพราะมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายปรับตัวขึ้นจาก 5.7% ซึ่งน่าจะเป็นอัตราปกติ เป็น 11% เพราะสินค้าในตลาดขาดแคลนหนัก 

หุ้น DELTA ที่เคยเงียบเหงามาน่าจะเป็นสิบๆ ปี จึงถูก “กวาดซื้อ” จากนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นต่างชาติ และเนื่องจากเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลทหรือสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย  ทำให้ราคาหุ้น “วิ่งระเบิด” Market Cap. พุ่งขึ้นไปจากประมาณ  66,700 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2562 เป็น 606,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2563 หรือโตขึ้น 9 เท่าในเวลาเพียงปีเดียว  และกลายเป็นบริษัท “Top Ten” ของไทย  คล้าย ๆ  กับหุ้นเทสลาที่โตเร็วพอ ๆ  กันในตลาดหุ้นอเมริกา 

ปี 2564 ยังเป็นปีที่ตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงมีการเก็งกำไรกันอย่าง “บ้าคลั่ง” หรือมากกว่าเดิมเพราะโควิด-19 ยังรุนแรงเหมือนเดิม  เช่นเดียวกับสภาพคล่องทางการเงิน  รวมถึงการที่นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่เข้าสู่ตลาดหุ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลรุ่นใหม่ที่มีต้นทุนในการซื้อขายหุ้นต่ำมาก  หุ้นและทรัพย์สินดิจิทัลปรับตัวขึ้นสู่ “พีค” หรือจุดสุดยอดใหม่  “กูรู” และ “นักทำนายอนาคต” ต่างก็ประกาศว่า “โลกใหม่” มาถึงแล้ว และมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเฟซบุคเป็น  “เมตาเวิร์ส” หรือ  “โลกเสมือน” ที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล 

รายได้ปี 2564 ของ DELTA เพิ่มขึ้น 33% เป็น 84,814 ล้านบาท  แต่กำไรกลับลดลง 6% เหลือ 6,699 ล้านบาท  เนื่องจากอัตรากำไรต่อยอดขายลดลงจากที่เคยสูงถึง 11% ลดลงเหลือ 7.9% ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่คู่แข่งเริ่มเข้ามามากขึ้น  อาจจะเนื่องจากเพราะมีการเปิดโรงงานได้มากขึ้นแล้วจากมาตรการที่เคยเข้มงวดมากในจีน  และนั่นทำให้นักลงทุนขายหุ้น DELTA ออกมาบ้าง  Market Cap. ของหุ้นลดลงเหลือ 514,000 ล้านบาทหรือลดลงประมาณ 15% 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักลงทุนที่เข้ามาเล่นในลักษณะ  Corner หุ้นตัวนี้ก็ยังไม่ได้ถอย  เพราะราคาหุ้นระดับนี้ยังทำให้ค่า P/E สูงถึง 83 เท่า ค่า P/B สูงถึง 13 เท่าในขณะที่ “หุ้นโรงงาน” ทั่วๆ ไปนั้น ค่านี้มักไม่เกิน 2-3 เท่าเป็นอย่างมาก 

ปี 2565 หรือ 2022 เป็นปีที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น  “อวสานของการเก็งกำไร” หรืออวสานของเหรียญและหุ้นดิจิทัลหรือหุ้นไฮเทคเพราะทรัพย์สินเหล่านั้นมีราคาตกลงมาหลาย10%จากจุดสูงสุด  เหตุผลก็คงเป็นเรื่องที่โควิด-19 เริ่มสงบลง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มช่วงต้นปีเริ่มส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้รัฐทั้งหลายต้องต่อสู้กับ “ศัตรูตัวใหม่” โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นและสินทรัพย์โดยเฉพาะดิจิทัล  “วาย”  

แต่กิจการของ DELTA ไม่ได้ลดลง  ยอดขายกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเป็นประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% เช่นเดียวกับกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็น 15,344 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 129% จากปี 2564 เนื่องจากมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายของสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 12.8%  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการสินค้าของบริษัทนั้นยังมีสูงมาก 

และนั่นก็ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหุ้น DELTA กันอย่างหนักทั้ง ๆ  ที่ภาวการณ์เก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยเริ่มชะลอตัวลงมาเรื่อย ๆ  ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวันลดลงมาก  ไม่ต้องพูดถึงการเก็งกำไร โดยวิธี Corner หุ้นที่ลดลงมาก หุ้นหลายตัวดูเหมือนว่า  Corner จะเริ่มทยอย “แตก” เมื่อผลประกอบการเริ่มแสดงให้เห็นว่าลดลงหรือไม่โตอย่างที่คิดแล้ว 

ต่หุ้น DELTA นั้น กลับดีขึ้นอีก  ดังนั้น คนก็แห่กันเข้าเล่นหุ้นจำนวนน้อยที่เหลืออยู่ที่คนยังมีความมั่นใจสูง  Market Cap. เมื่อตอนสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1,035,000 ล้านบาท  เป็นหุ้นในระดับ “TOP 3” ของตลาด  แต่ถ้าวัดจากรายได้หรือแม้แต่กำไรในปีที่  “ปกติ” ก็ยังไม่ใช่หุ้นตัวใหญ่ 

ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ  ด้วย Market Cap. ระดับ 1,400,000 ล้านบาท ในวันนี้และเป็นหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์นั้น  เป็นราคาที่สมเหตุผลไหมมองในแง่ของพื้นฐานของกิจการ?  หุ้นตัวนี้แท้จริงแล้วเป็นหุ้นที่ถูก Corner หรือไม่?  และถ้าเป็น  จะ “แตก”  เมื่อไร? 

ในความเห็นของผม  ผมคิดว่าหุ้นตัวนี้น่าจะอยู่ใน  Corner มองจากราคาหุ้นที่สูงมากเกินกว่า  “คุณภาพ” ของกิจการนั่นคือ  มันมีค่า P/E ปกติสูงถึง 93 เท่า ค่า P/B 26 เท่า  สูงกว่าลักษณะหรือคุณสมบัติของธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลางที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีระดับต้น ๆ  ของโลกอย่างกรณีของหุ้น TSMC ของไต้หวัน  ดังนั้น  ค่า P/E ที่เหมาะสมไม่น่าจะสูงกว่า P/E เฉลี่ยของตลาดที่ไม่เกิน 20 เท่า 

และถ้าจะพูดในด้านของการเติบโตของกำไรแล้ว  ผมก็คิดว่า   กำไรในระยะยาวก็คงไม่โตเร็วเหมือนเดิมที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมดุลของ Demand-Supply ของโลก “ชั่วคราว”   ผมเชื่อว่าภายในเวลาไม่เกิน 2-3 ปี  ทุกอย่างจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งรวมถึงกำไรต่อ ยอดขายที่ประมาณไม่เกิน 7-8% ซึ่งจะกระทบถึงกำไรของกิจการที่จะโตช้าหรือถดถอยลง  ซึ่งนั่นก็เสี่ยงที่จะทำให้ Corner “แตก” และราคาหุ้นตกเป็น “หายนะ” ได้