มุมมองต่อเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ...นัยต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ

มุมมองต่อเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ...นัยต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้เปิดให้มีการลงคะแนนเสียงล่วงหน้าสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมแล้ว และในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ โดยจะมีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House) ใหม่ทั้งหมด จำนวน 435 ที่นั่ง

รวมทั้งเลือกสมาชิกวุฒิสภา (Senate) จำนวน 35 ที่นั่ง จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง (ปัจจุบัน 35 ที่นั่ง เป็นของพรรครีพับลิกัน 21 ที่นั่ง และของพรรคเดโมแครต 14 ที่นั่ง)ผลการสำรวจจากโพลส่วนใหญ่หลายแห่ง พบว่าพรรครีพับลิกันจะสามารถครองเสียงข้างมาก ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งกลางเทอม

จากปัจจุบันที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากอยู่ที่ 221 ที่นั่ง (ขั้นต่ำที่จะได้เสียงข้างมากต้องมี 218 ที่นั่ง) ส่วนการเลือกตั้งในวุฒิสภา ผลโพลยังเป็นไปอย่างสูสีกันระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ซึ่งก่อนการเลือกตั้งทั้งสองพรรคมีคะแนนเสียงเท่ากันอยู่ที่ 50-50

เรามีมุมมองว่า ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนชาวอเมริกัน รวมทั้งความกังวลต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้สร้างความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของปธน.ไบเดนค่อนข้างมาก เห็นได้จากคะแนนความนิยมในตัวปธน.ไบเดน จากผลการสำรวจของ FiveThirtyEight ที่ยังค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 42.5% 

จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ผลการเลือกตั้งฯ จะออกมาในรูปแบบ Divided government ที่พรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรครีพับลีกัน แต่ยังครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา หรือ พรรคเดโมแครตอาจสูญเสียเสียงข้างมากในทั้งสองสภาให้กับพรรครีพับลีกัน ซึ่งทั้งสองรูปแบบ ล้วนจะทำให้การผ่านกฎหมายต่างๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปธน.ไบเดน เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น

     นัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ราคาดว่ารูปแบบของ Divided Government จะทำให้พรรคเดโมแครตเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการผลักดันแผนต่างๆ ที่ยังขาดอยู่ ภายใต้ข้อเสนอ American Jobs and Families Plans เมื่อปี 2021 โดยนโยบายการคลังมีแนวโน้มเป็นกลางมากขึ้น และ อาจไม่ได้เห็นความร่วมมือกัน (bipartisan)

     ในการออกมาตรการทางการคลังที่สำคัญ เช่น การผ่าน CHIPS Act ในเดือน ส.ค. ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขาดดุลการคลังสหรัฐฯ อาจไม่ได้สูง เท่ากับที่สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรสเคยประมาณการไว้ โดยเราเห็นว่า การดำเนินนโยบายการคลังเป็นกลางควบคู่กับนโยบายการเงินตึงตัว ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูงในปัจจุบัน จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดฯ เกี่ยวกับการควบคุมเงินเฟ้อให้มีแนวโน้มลดลงต่อได้

     นัยต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากสถิติในอดีต เราพบว่า ภายหลังผลการเลือกตั้งกลางเทอม ความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างมีนัยยะ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีที่สุดในช่วง 1 ปีต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพรรคที่ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา โดยตามสถิติในอดีต พบว่าเมื่อผลการเลือกตั้งฯ ออกมา ประธานาธิบดียังคงเป็นพรรคเดโมแครต

     และเปลี่ยนเป็น Divided government ได้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระยะ 6 เดือน และ 1 ปี ต่อมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ในปี 2010 ที่พรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ดัชนี S&P500 ยังให้ผลตอบแทนในระยะ 6 เดือน และ 1 ปีต่อมา อยู่ที่ 14.1% และ 3.7% ตามลำดับ และ ในปี 1994 ที่พรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงข้างมากทั้ง 2 สภาฯ ดัชนี S&P500 ยังให้ผลตอบแทนในอีก 6 เดือน และ 1 ปีต่อมา อยู่ที่ 11.7% และ 27.1% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจาก ความคาดหวังในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใหม่ๆ หลังการเลือกตั้ง

       นัยต่อรายกลุ่มอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เราประเมินว่า ภายใต้ Divided government การผ่านกฎหมายครั้งใหญ่เพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่ม Healthcare มีแนวโน้มจะไม่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า แม้ว่า ภายใต้แผนปฏิรูปราคายา ตาม Inflation Reduction Act ของพรรคเดโมแครต กระบวนการเจรจาราคายาระหว่างรัฐและบริษัทยาจะเริ่มต้นขึ้นในปี 2023 แต่อย่างไรก็ดี ผลการบังคับใช้จริงจะเริ่มในปี 2026 และล่าสุดเราเริ่มเห็นสมาชิกพรรครีพับลิกันบางรายได้เสนอให้แก้ไขแผนปฏิรูปรูปราคายาข้างต้น

     หากพรรครีพับลิกันได้ชัยชนะในการเลือกตั้งฯ เช่น การยกเลิกแผนการควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของราคายาบางกลุ่มให้ไม่เกินการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เรายังคาดว่า กลุ่ม Industrial REITs น่าจะได้อานิสงส์จากที่ทั้งสองพรรคจะยังคงมี bipartisan support เรื่องการดึงภาคธุรกิจสหรัฐฯ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศให้กลับมาลงทุนในสหรัฐฯ (reshoring)

     โดยสรุป เรามีมุมมองว่า ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเป็น Divided government ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะ Gridlock ทางการคลัง การผ่านร่างกฎหมายด้านการคลังต่างๆ จะเป็นไปได้อย่างยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางด้านนโยบาย (Policy Uncertainty Risk) มีแนวโน้มลดลง และ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

     ภายหลังการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลการเลือกตั้งกลางเทอม จะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่เราคาดว่า ประเด็นที่ยังเป็นจุดสนใจ และมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ที่เหนือกว่าผลการเลือกตั้ง ยังคงเป็นแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ รวมทั้ง ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น มากกว่า