เยนอ่อนค่า กับความสำคัญของการเลือกนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

เยนอ่อนค่า กับความสำคัญของการเลือกนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินกลับมากังวลเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกครั้ง จากถ้อยแถลงเปิดการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง ทำให้หุ้นสหรัฐฯ ปิดลบต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3

นอกจากนั้นยังส่งผลต่อค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อีกด้วย โดยล่าสุดค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับ 140.20 เยนต่อดอลลาร์ เป็นการอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998หรือเกือบ 25 ปีมาแล้ว แม้ว่าแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จะเกิดขึ้นกับสกุลเงินส่วนใหญ่ทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยูโร (อ่อนค่า 12.45% นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 4 ก.ย. 22) ปอนด์เสตอร์ลิง (-14.95%) และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย เช่น หยวน (-7.88%) วอน (-12.75%) หรือแม้แต่ บาท (-8.99%) แต่เงินเยน ดูเหมือนจะอ่อนค่ามากกว่าจากทั้งปัจจัยแวดล้อมและเฉพาะตัว โดยนับตั้งแต่ต้นปีเงินเยนที่เคยซื้อขายในระดับ 115 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงมากเทียบกับปัจจุบันที่ 140 เยนต่อดอลลาร์ หรือคิดเป็นกว่า 17.92%

เช่นเดียวกับกับสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ค่าเงินก็มีปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของค่าเงินอาจมีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากตราสารทางการเงินอื่นๆ ทั่วไป เช่น พันธบัตร หรือ หุ้น โดยปัจจัยกำหนดค่าเงินส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของปัจจัยด้านมหภาค โดยเฉพาะเรื่องของ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย การคาดการณ์เงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจและสภาพคล่อง การค้าขายระหว่างประเทศทั้งในเรื่องของสินค้าและบริการ และเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นหลัก 

โดยตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตลาดที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีผู้ที่เกี่ยวข้องมากมายหลายส่วนทั้งคนทำธุรกิจและนักลงทุน รวมถึงตัวกลางทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารและสถาบันการเงิน

ในช่วง1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา ค่าเงินเยนโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสกุลเงินปลอดภัย (Safe Haven Currency) ที่มักจะแข็งค่าขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาและความไม่แน่นอน ควบคู่ไปกับสกุลเงินอื่นๆ เช่น ฟรังก์สวิส (CHF) เช่น เรามักจะเห็นเงินเยนแข็งค่าขึ้นเวลาหุ้นตกแรงๆ 

 การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าคาดมากๆ หรือเกิดความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น กลุ่มสกุลเงินปลอดภัยเหล่านี้เหมาะแก่การรักษามูลค่าของเงินในภาวะที่นักลงทุนไม่มั่นใจหรือกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อ โดยจุดแข็งของเงินเยน คือการที่ประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ระหว่าง 2-4% ของ GDP ต่อปี โดยประมาณในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา) และภาวะเงินฝืดที่ญี่ปุ่นเผชิญ  ทำให้ช่วยรักษามูลค่าของเงินไว้ได้ แต่ดูเหมือนว่าปัจจัยต่างได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบผ่านเรื่องของนโยบายการเงิน การคลังและวัฏจักรเศรษฐกิจมากจนถึงปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญที่กดดันเงินเยน คือ เรื่องของนโยบายและวัฏจักรของเศรษฐกิจที่ดูจะแตกต่างกันอย่างมากกับสหรัฐฯ และอาจรวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย โดยในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงพยายามที่จะรักษาต้นทุนดอกเบี้ยและดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองสกุลเงินนั้นแตกต่างกันอย่างมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยเงินเยนอาจจะเป็นเงินสกุลเดียวในปัจจุบันที่ไม่ให้ผลตอบแทนเลยเพราะดอกเบี้ยเป็นศูนย์นั่นเอง 

นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบ ในขณะที่สหรัฐฯ เริ่มลดสภาพคล่องในระบบลง สภาพคล่องที่สวนทางกันก็มีส่วนต่อความตึงตัวของเงินและส่งผลกระทบต่อค่าเงิน นอกจากนี้ในขณะที่ค่าเงินที่อ่อนอาจจะมีส่วนช่วยการส่งออกของญี่ปุ่น แต่ก็ทำให้ต้นทุนของผู้นำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งมีแนวโน้มแย่ลง เสริมด้วยปัญหาการชะลอตัวและมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการควบคุม COVID-19 ในจีนซึ่งก็มีส่วนแต่แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเยน เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นราวๆ 20% ของการส่งออกทั้งหมด

แม้การอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาทจะทำให้การไปเที่ยวญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวไทยน่าสนใจกว่าเดิม แต่ในส่วนของผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในญี่ปุ่นเป็นหลัก ก็จะได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยน โดยแม้เงินบาทเองก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในปีนี้ เช่นกัน แต่ยังน้อยกว่าเงินเยน โดยหากคิดในรูปของเงินบาท ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงราวๆ 9.00% (จากต้นปี 28.80 บาทเป็น 26.15 บาทต่อร้อยเยน) 

ทำให้กองทุนที่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวลงราว 12.00% จากต้นปี แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อตัวดัชนี เช่น ดัชนี Nikkei225 ซึ่งปรับตัวลดลงเพียง 3.00% เท่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน และเป็นอีกครั้งที่เน้นให้เราเห็นถึงความสำคัญของการเลือกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการลงทุนของเรา จากความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผลตอบแทนสามารถส่งผลกระทบต่อผลลัพท์ของการลงทุนของเราอย่างมี นัยสำคัญได้นั่นเองครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด