Mad American สงครามการคลังขาดดุล

ความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ย้ำว่านักลงทุนไม่สามารถมองนโยบายการคลังแบบเดิมได้อีกต่อไป กลยุทธ์ที่เหมาะสมอาจไม่ใช่แค่ Buy Every Dip แต่ควรสร้างพอร์ตที่ทนต่อการอ่อนค่าของดอลลาร์ หรือยีลด์ที่สูงขึ้นได้เป็นอย่างน้อย ยิ่งรัฐบาลไร้วินัย นักลงทุนยิ่งต้องมีวินัยมากขึ้น
โลกการเงินช่วงนี้แทบไม่ได้เคลื่อนไหวจากภาคธุรกิจหรือธนาคารกลาง เพราะแค่ฝั่งการเมืองก็ป่วน เอาแน่นอนไม่ได้ สร้างความผันผวนไม่เว้นวัน
ล่าสุด นโยบายการคลังใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ “One Big Beautiful Bill” กำลังส่งสัญญาณความไร้วินัยอย่างชัดเจน เสี่ยงจะทำให้สหรัฐสูญเสียความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว
สำหรับโลกการเงิน การกระตุ้นทางการคลังมักเป็นพลังบวกให้กับทั้งตลาดหุ้น บอนด์สหรัฐ และดอลลาร์ แต่เมื่อระดับหนี้พอกพูน ดอกเบี้ยสูง ผลตอบรับอาจแตกต่างไปจากเดิม
นักลงทุนไทยจึงควรรู้ให้ทัน ว่านโยบายการคลังสหรัฐรอบนี้จะเป็นตัวหนุนหรือตัวถ่วงสำหรับพอร์ตลงทุนของเรากันแน่
เริ่มต้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมการขยายนโยบายการคลัง มักเป็นบวกกันตลาดการเงิน คำตอบคือ ความเชื่อมั่น
หากมองย้อนกลับไปอดีต สหรัฐมีประวัติศาสตร์ยาวนานในการใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือแก้ไขวิกฤติได้สำเร็จเสมอ
เช่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1941-1945) รัฐบาลสหรัฐระดมใช้จ่าย ขาดดุลกว่า 45% GDP ต่อปี ส่งผลให้หนี้สาธารณะแตะระดับ 110% GDP อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์คือเศรษฐกิจปรับตัวได้และเติบโตจนเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองของตลาดหุ้นสหรัฐ
ตัวอย่างต่อมาคือช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (2008-2010) รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณหนีวิกฤติ หนี้สาธารณะพุ่งจากราว 65% เป็นกว่า 90%GDP แม้ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่ตลาดหุ้นและบอนด์ก็ฟื้นตัวตลอดทศวรรษ 2010
ล่าสุดช่วงวิกฤติโควิด-19 (2020-2021) แม้การกระตุ้นจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล จนทำให้หนี้สาธารณะพุ่งแตะ 125% GDP แต่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นเร็วกว่าทั่วโลก หุ้นและดอลลาร์ทำผลตอบแทนเด่นไม่แพ้สินทรัพย์ไหน
กล่าวคือ ตราบใดที่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาแข็งแกร่ง นโยบายการคลังมักเป็นต้นทุนที่คุ้มค่า
แต่สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างที่หนี้สูงดอกเบี้ยแพง และเสี่ยงเสียความแข็งแกร่งทางการคลังระยะยาว
สหรัฐมีหนี้สาธารณะเริ่มต้นที่สูงกว่า 120%GDP และภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปีราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ เกือบจะเทียบเท่ากับงบกลาโหมทั้งปี ขณะที่ สัดส่วนรายจ่ายภาคบังคับเช่นสวัสดิการของรัฐก็เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างประชากร
ด้านรายรับ ด้วยการลดภาษีถาวร รายได้ภาครัฐจึงจะเพิ่มขึ้นเพียงใกล้เคียงการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้จะมีแนวคิดเก็บภาษีนำเข้า (tariff) 10% กับทั่วโลก และเก็บเพิ่มอีก 30% กับสินค้าจีน แต่คาดว่าจะเพิ่มรายรับได้ราว 4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น
เมื่อสมการเอียงไปทางขาดดุลต่อเนื่องยาวนาน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจึงต่ำ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่วินัยทางการคลังกลายเป็นชนวนของความปั่นป่วนของโลกการเงิน
วิเคราะห์จากสถานการณ์การเมืองและการคลังในปัจจุบัน ผมมองว่าสหรัฐมีโอกาสเดินหน้าสามแนวทาง โดยที่ผลกระทบกับสินทรัพย์ทางการเงินจะแตกต่างกันไป
กรณีดีที่สุดคือขาดดุลไม่มาก และเลื่อนการเก็บภาษีการค้าออกไปก่อน
ยังไม่สายที่สหรัฐจะใช้นโยบายการคลังอย่างมีวินัย ขาดดุลต่ำ 5% GDP ต่อปี
ทางออกนี้อาจกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่จะทำให้ตลาดคลายความกังวล และเมื่อการคลังไม่กดดัน ภาษีการค้าก็สามารถเป็นแค่เครื่องมือต่อรองไม่ต้องเร่งรีบเก็บภาษีจริง
บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ10ปี จะลดลงต่ำกว่า 4.5% หุ้นลุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ และดัชนีดอลลาร์แข็งค่ากลับขึ้นราว 5%
อย่างไรก็ดี กรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดตอนนี้คือขาดดุล 6-7%ต่อปี และใช้ภาษีนำเข้าเพื่อหารายได้เสริม
มีความเป็นไปได้มากที่รัฐสภาสหรัฐจะต่อรองนโยบายการคลังลงเพียงเล็กน้อย ทำให้การขาดดุลสูง 6-7% GDP และเลือกที่จะเก็บภาษีการค้ากับทั่วโลก
ในกรณีนี้ แม้ตลาดหุ้นและดอลลาร์อาจไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากไปกว่าปัจจุบัน แต่ปริมาณการออกบอนด์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต่างชาติลดการถือครองจะดันให้ยีลด์ระยะยาว (10-30ปี) ปรับตัวสูงขึ้นเหนือ 5%
กรณีที่เสี่ยงที่สุด คือไม่มีใครหยุดนโยบายขาดดุลการคลังและสงครามการค้าเลย
โครงการลดกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด คาดว่าจะสร้างภาระรขาดดุลสูงถึง 8-10% GDP ต่อปี มีโอกาสสูงขึ้นที่สหรัฐจะเลือกเก็บภาษีการค้าสูงกว่า 10% เพื่อชดเชยทางการคลัง
เมื่อต่างชาติเกินดุลการค้าลดลง แรงซื้อสินทรัพย์สหรัฐจากต่างชาติก็จะลดตามไปด้วย เมื่อเกิดพร้อมความกังวลเสถียรภาพการคลัง แรงขายทำกำไรในหุ้นสหรัฐจะกลับมา กดดันให้ S&P 500 ถอยลงไปทดสอบระดับ 5,000 จุด ขณะที่ดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงอีก 5-10%
ความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ย้ำว่านักลงทุนไม่สามารถมองนโยบายการคลังแบบเดิมได้อีกต่อไป
กลยุทธ์ที่เหมาะสมอาจไม่ใช่แค่ Buy Every Dip แต่ควรสร้างพอร์ตที่ทนต่อการอ่อนค่าของดอลลาร์ หรือยีลด์ที่สูงขึ้นได้เป็นอย่างน้อย
ยิ่งรัฐบาลไร้วินัย นักลงทุนยิ่งต้องมีวินัยมากขึ้นครับ