พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต

การเงิน AI กำลังค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลและเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ มีงานวิจัยชี้ว่า AI สามารถสนับสนุนให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้มากขึ้นถึงร้อยละ 60 พร้อมลดระยะเวลาการทำงานลงได้ถึงร้อยละ 30
สวัสดีครับ
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจ ความไม่ลงรอยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกาที่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ยังไม่นับเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังเป็นภัยคุกคาม เรื่องเหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดคำหนึ่ง คือเราจะสามารถ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ได้อย่างไร อันที่จริงเคยมีตัวอย่างมาแล้วในยุคโควิดระบาดรุนแรงที่ทุกคนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประเทศไทยมีแอปเป๋าตังและระบบชำระเงินพร้อมเพย์เพื่อตอบโจทย์ด้าน Social Distancing จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์การชำระเงินของประเทศไปได้ถึงขนาดที่ว่าคนส่วนใหญ่รู้จักว่า QR Code คืออะไร
เราจะทำอย่างนั้นในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันได้หรือไม่ ถึงเวลาที่จะต้องแสวงหา “เครื่องจักรใหม่” ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน การพึ่งพาเพียงสองกลไกหลักอย่างภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ก่อนหน้านี้รับบท “พระเอก” มาโดยตลอด อาจไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะโลกเรามีปัจจัยเกินควบคุมอยู่ตลอดเวลาครับ
นอกจากนี้ สถานการณ์ในประเทศท้าทายไม่แพ้กัน ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยยังคงส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตในระยะยาว หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงเปราะบาง เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลง อีกทั้งอุตสาหกรรมไทยหลายภาคส่วนยังเผชิญกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งในแง่ของเทคโนโลยี แรงงาน และการปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มเศรษฐกิจสีเขียวหรือดิจิทัล
ล่าสุด Moody’s สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกได้ปรับมุมมองแนวโน้ม (Outlook) อันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยลงไปที่ระดับ “เชิงลบ” (Negative) จากเดิมคือระดับ “มีเสถียรภาพ” (Stable) การปรับลดอันดับในครั้งนี้ถือเป็นการ “เตือน” ให้ประเทศไทยกลับมาทำการบ้านต่อว่าจะทำอย่างไรให้อันดับกลับมาดีขึ้น แต่ในข่าวร้ายยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เพราะประเทศไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศที่ดี และเสถียรภาพการมีเงินทุนสำรองในระดับสูง ตลอดจนการรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมอันสะท้อนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินที่แข็งแกร่ง ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยบวกดังกล่าว ยังมองได้ว่าประเทศไทยพอที่จะเหลือต้นทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปครับ
การจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาวอีกครั้งต้องใช้ “เครื่องมือ” และเครื่องมือที่ว่านั้นคือ “เทคโนโลยี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจโลกในยุคใหม่ ไม่นานมานี้ ผมได้เข้าร่วมงานเสวนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเปลี่ยนอนาคต โดยขอหยิบยกเทคโนโลยีสุดล้ำ 3 อย่างที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง อันได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์เชิงรุก (Agentic AI) ที่วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจด้วยตัวเอง การประมวลผลที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficient Computing) ที่ช่วยลดต้นทุนพลังงานให้กับองค์กรสอดรับกับแนวคิดด้าน ESG และเทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถของสมองมนุษย์ (Neurological Enhancement) ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้และการทำงานของมนุษย์ ไม่แน่ว่าเครื่องมือเหล่านี้อาจสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ในอนาคต
โดยเราอาจนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็น “ตัวเร่ง” (Catalyst) เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนแรงได้ อาทิ การนำ Agentic AI เข้ามาใช้ในกระบวนการตัดสินใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่งผลให้แรงงานไทยพัฒนาทักษะขั้นสูงและเพิ่มมูลค่าของตนในตลาดแรงงาน ส่วนการประมวลผลที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนในอุตสาหกรรมและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวสอดคล้องกับเป้าหมายประเทศในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ขณะที่เทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถของสมองมนุษย์สามารถใช้เพื่อยกระดับการศึกษาโดยเฉพาะสายงานด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) ไปจนถึงสนับสนุนมิติด้านการวิจัยและพัฒนาซึ่งสามารถใช้ปูทางสำหรับการสร้างนวัตกรรมในอนาคต
ในภาคการเงิน AI กำลังค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลและเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ มีงานวิจัยชี้ว่า AI สามารถสนับสนุนให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้มากขึ้นถึงร้อยละ 60 พร้อมลดระยะเวลาการทำงานลงได้ถึงร้อยละ 30 ส่งผลให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยภาคการเงินสามารถเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงผนวกมิติด้านนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธนาคาร อาทิ ใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่ม
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของเทคโนโลยีล้ำยุค 3 อย่างที่มีศักยภาพสูงในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ต้องไม่ลืมว่าการปรับใช้เทคโนโลยีต้องมาพร้อมกับการเตรียมคนและเตรียมระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystems) ให้เหมาะสมด้วย ท้ายสุดแล้ว ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การขับเคลื่อนการเติบโตถือเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ทุกประเทศต้องก้าวผ่านให้ได้ หากเราไม่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พร้อมยกระดับการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยตั้งแต่วันนี้ คงเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทยที่จะหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” เพราะฉะนั้น การปรับตัวเพื่ออนาคตจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่งครับ