เมื่อจีนไม่มาตามนัด…เกิดอะไรขึ้นกับการท่องเที่ยวของไทย

การจะส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น อาจไม่ใช่เพียงการใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่จะต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ให้สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่าย การสร้างหรือผสมผสานแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้น ให้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวแปลกใหม่
“การท่องเที่ยว” นับเป็นหนึ่งในความหวังสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเคยทำสถิติสร้างรายได้รวมสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมากกว่า 60% เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งแม้ว่าในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะน้อยกว่าผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่ออกเที่ยวในประเทศถึง 5 เท่า แต่ปริมาณการใช้จ่ายเฉลี่ยตลอดทั้งทริปกลับสูงกว่าผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (Thai Visitor) ถึง 10 เท่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะไกล (Long-haul) ที่อาจสูงถึง 20-30 เท่า
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “นักท่องเที่ยวจีน” ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ (Short-haul) หรือการเดินทางที่ใช้ระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 5 ชั่วโมง ที่น่าจับตามองอย่างมาก หลังตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และทำสถิติสูงสุดถึง 11 ล้านคนในปี 2562 โดยกินส่วนแบ่งราว 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือคิดเป็นเกือบ 50% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม Short-haul ทั้งหมด ส่วนในมิติการใช้จ่ายของชาวจีนก็ค่อนข้างสูงเฉลี่ย 5-6 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป จึงไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวจีนจะเป็นอีกหนึ่งความหวังของภาคการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน
ทั้งนี้ แม้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักขึ้นหลังจากสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย แต่ในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยดูจะต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ 35.5 ล้านคน ฟื้นตัว 89% เทียบกับปี 2562 ซึ่งหากพิจารณาลึกลงไป จะเห็นว่าโครงสร้างจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัย สัดส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน (Non-chinese Tourist) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และฟื้นตัวได้มากกว่าปี 2562 สวนทางกับสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจาก 28% เป็น 19% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยตลอดปี 2567 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน สวนทางกับจำนวนชาวจีนที่ออกเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศในปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นและน่าจะสูงถึง 130 ล้านคน นอกจากนี้ ในแง่ของปริมาณการใช้จ่ายของชาวจีนเฉลี่ยก็ลดลงเหลือ 4-5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริปเท่านั้น จึงทำให้คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยในปี 2568 อาจจะไม่ถึง 8 ล้านคน และความหวังที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะกลับมาเทียบเท่าปี 2562 ดูจะริบหรี่ลงไป จึงเกิดเป็นคำถามว่า นักท่องเที่ยวจีนหายไปไหน เกิดอะไรขึ้นกับการท่องเที่ยวของไทยในระยะหลัง โดยได้วิเคราะห์ออกมาเป็น 4 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่
ประเด็นแรก : การขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย โดยปีที่ผ่านมา สื่อและภาพยนตร์จีนบางเรื่องเผยแพร่เนื้อหาสมมติที่สะท้อนถึงการลักพาตัวและกลโกงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนสร้างความเสียหายด้านภาพลักษณ์ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในสายตาชาวจีนอย่างมาก โดยเฉพาะกระแสข่าวการหายตัวไปของนักแสดงชาวจีนเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2568 และกลายเป็นข่าวโด่งดังในประเทศจีน ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินทางมาประเทศไทย สะท้อนจากยอดการยกเลิกแพ็กเกจท่องเที่ยวไทยของบริษัททัวร์ของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 30% ภายในสัปดาห์เดียว สอดคล้องกับรายงานของ Bloomberg Intelligence ที่ชี้ว่าอัตราการยกเลิกเที่ยวบินของนักท่องเที่ยวจีนมายังประเทศไทยในเดือน ม.ค. 2568 พุ่งสูงขึ้น 94% ทำให้ยอดการเดินทางมาประเทศไทยในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. 2568 ยังคงต่ำกว่าระดับเดิมของปีก่อนหน้า
ประเด็นที่สอง : มาตรการด้านวีซ่าของไทยเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง นับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ไทยเคยออกมาตรการขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VOA) มาแล้ว 4 ครั้ง เช่น ไทยออกมาตรการ VOA ในช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตในเดือน ก.ค. 2561 ส่งผลให้ชาวจีนประสบภัยนับร้อยคน หรือในช่วงปลายปี 2562 จนถึงต้นปี 2563 ที่นักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว เป็นต้น และล่าสุดเดือน มี.ค. 2567 ทางการไทยประกาศให้วีซ่าฟรี (Visa-free) เป็นการถาวรโดยไม่ต้องขอวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนสำหรับการพำนักในไทยแต่ละครั้งได้สูงสุด 60 วัน ซึ่งเหล่านี้อาจทำให้ชาวจีนไม่ต้องเร่งรีบเดินทางท่องเที่ยวมายังไทยเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการเดินทางเข้าออกอีกต่อไป
ประเด็นที่สาม : ประเทศรอบข้างในเอเชียมองจีนเป็นตลาดศักยภาพเช่นกัน ยกตัวอย่าง ฮ่องกงที่ใช้แคมเปญ “Hello Hong Kong” โดยเฟสแรกของปี 2568 เป็นการแจกตั๋วเครื่องบินให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในแถบเอเชียจำนวน 5 แสนใบ พร้อมกับการออกแคมเปญอื่น ๆ ร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งกว่านั้น ยังให้ส่วนลดค่าตั๋วหนังครึ่งราคาแก่นักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ รวมไปถึงการร่วมลุ้นรางวัลรวมกว่า 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เมื่อนักท่องเที่ยวจีนใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Alibaba และ Amap ระหว่างท่องเที่ยวในฮ่องกงอีกด้วย สำหรับประเทศญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นได้ออกมาผ่อนคลายเงื่อนไขการเข้าประเทศให้แก่นักท่องเที่ยวจีน โดยขยายระยะเวลาการพำนักให้แก่นักท่องเที่ยวจีนประเภทกรุ๊ปทัวร์จาก 15 วัน เป็น 30 วัน อีกทั้งยังขยายระยะเวลาสำหรับผู้ถือวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้ง (Multiple-entry Visa) จาก 5 ปี เป็น 10 ปี ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเข้าไต้หวันและญี่ปุ่นพลิกฟื้นกลับมายืนได้เท่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เรียบร้อยแล้ว
ประเด็นที่สี่ : ทางการจีนก็มีความพยายามดึงดูดให้ประชากรท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ นับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงในระยะหลัง ทางการจีนจึงพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านการท่องเที่ยวมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการผ่อนคลายมาตรการด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปและเอเชียอีกหลาย ๆ ประเทศ ขณะเดียวกันยังกระตุ้นชาวจีนให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายวันหยุดราชการเพื่อช่วยให้ประชาชนมีเวลามากขึ้นในการท่องเที่ยวภายในประเทศ ล่าสุด รัฐบาลจีนได้เพิ่มวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาจาก 3 วันเป็น 4 วัน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาเครือข่ายรถไฟที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ หรือ “Silver Train” ซึ่งจะให้บริการทางการแพทย์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุในระหว่างการเดินทางอีกด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว การจะส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น อาจไม่ใช่เพียงการใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่จะต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ให้สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่าย การสร้างหรือผสมผสานแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้น (Man-made Destination) ให้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวแปลกใหม่ การดึงจุดเด่นการท่องเที่ยวของไทยที่แตกต่างจากประเทศอื่น หรือแม้แต่การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและสามารถดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำได้อย่างไม่จำเจ (Re-visit) ควบคู่กันไปด้วย